22 พ.ย. 2018 เวลา 03:49 • สุขภาพ
"รู้ทันภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว"
"หนุ่มใหญ่ใจเดือด ควงไม้กอล์ฟหวดกระจกรถคู่กรณีกลางสี่แยก"
"ไม่พอใจยามห้ามจอดรถ เหยียบมิดพุ่งทับร่าง รปภ ดับ"
"แค่หมาตัวเดียว เพื่อนบ้านบุกยิงแสกหน้าเหตุปล่อยหมาฉี่หน้าบ้าน"
พวกนี้เป็นพาดหัวข่าวที่หลายคนคุ้นตา จนเกิดการตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมในปัจจุบันนี้
จริงแล้วไม่ได้มีอะไรหรอกครับ เพียงแต่ยังมีคนเข้าใจเรื่องพวกนี้ไม่มากนักจึงทำให้ไม่ทันระวังตัวกัน บทความนี้ผมจึงอยากมาเล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์ที่เห็นเป็นข่าวนี้ มันเกิดได้เพราะอะไร
สิ่งที่เห็นเป็นข่าวนั้นเกิดจาก "ภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว" หรือ Intermittent Explosive Disorder (IED) เป็นภาวะแสดงอาการของคนที่มีความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์โกรธ ซึ่งมักเป็นการระบายอารมณ์ขุ่นเคืองที่มีภายในใจออกมาคราวเดียวในช่วงเวลาสั้น ๆ (มักไม่เกิน 30 นาที) และพฤติกรรมที่แสดงออกมามักรุนแรง อาจเป็นการใช้วาจาหยาบคาย การทำลายข้าวของ หรือแม้แต่ทำร้ายสัตว์อื่นหรือบุคคลอื่น ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมานี้มักไม่ได้แสดงออกมาตามปกติ ในระหว่างที่มีอาการมักควบคุมตัวเองไม่ได้และมักจำไม่ได้ว่าทำไมตัวเองจึงทำอย่างนั้น และเมื่ออาการหายไป มักรู้สึกผิดหรือกลัวในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เช่น ขับรถชนคนแล้วแกล้งชักอยู่ในรถ เอาน้ำกรดสาดแฟนตัวเองแล้วหนีออกจากบ้าน หรือเอาไม้ทุบหัวแม่ตัวเองจนเลือดท่วมแล้วนั่งร้องไห้ข้างศพแม่ตัวเอง เป็นต้น
IED พบว่ามีความสัมพันธ์กับความผิดปกติหลายๆอย่าง ที่พบได้บ่อยมากๆ คือ ADHD หรือสมาธิสั้น Personality disorder ชนิดต่อต้านสังคมและชนิด Borderline หรือแม้แต่ผู้ป่วยซึมเศร้าหรือ Panic disorder กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเหล่านี้ มีโอกาสที่จะเกิด IED ได้ง่าย
IED เป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับทุกคน หลายๆครั้งก็เกิดแบบไม่ทันตั้งตัวแต่เราสามารถสังเกตุตัวเองได้ว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็น IED หรือเปล่า
นักจิตวิทยาเห็นตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำให้ใครสักคนเกิด IED ได้ก็คือการเลี้ยงดูในวัยเด็ก หากเด็กเห็นพ่อแม่พูดจาหยาบคายหรือการใช้กำลังภายในบ้านจะเกิดการฝังจำและเก็บเอามาใช้ ซึ่งบางครั้งการจำพฤติกรรมที่รุนแรงก็ไม่ได้มาจากพ่อแม่เด็ก แต่อาจมาจากคนใกล้ชิดอย่างพี่เลี้ยง เพื่อนบ้านหรือเพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียนก็ได้ นอกจากนี้ ประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็ก ทั้งการถูกทำร้ายร่างกาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ก็มีส่วนสำคัญมากเช่นกัน
สถานการณ์ที่สร้างปัญหาในขณะนั้นก็มีส่วนที่จะทำให้เกิด IED ได้เช่นกัน เช่น แม่บ้านกำลังเครียดเรื่องค่าเทอมของลูกที่ต้องจ่ายวันนี้เป็นวันสุดท้าย พนักงานขับรถที่กลัดกลุ้มค่าหวยที่ไปแทงแล้วไม่ถูกหลายแสนบาท สามีที่ระแวงว่าภรรยาของตัวกำลังไปมีชู้อยู่ เป็นต้น ปัญหาต่างๆเหล่านี้ก็ผลักดันให้คนที่มีปัญหาอยู่เกิด IED ได้
ถ้าอธิบายในเชิงการแพทย์ IED เกี่ยวข้องกับระดับของสาร Serotonin ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผ่อนคลาย ดังนั้น หากใครสักคนมีความผิดปกติของ Serotonin เช่น สร้างหรือหลั่งสารน้อยเกินไป ตัวรับในสมองตอบสนองต่อ Serotonin น้อยเกินไป หรือมี Tryptophan ที่เป็นตัวตั้งต้นในการสังเคราะห์ Serotonin น้อยเกินไป ก็อาจทำให้คนคนนั้นเกิด IED ได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่หลายๆคนไม่รู้ก็คือ พฤติกรรมบางอย่างที่ดูจะไม่สำคัญอะไรกลับมีผลต่อระดับ Serotonin ในร่างกายลดลงซึ่งอาจทำให้เกิด IED ได้ง่ายมากขึ้น พฤติกรรมดังกล่าวก็อย่างเช่น การเสพติดคาเฟอีน การทาน Carbohydrate น้อยเกินไป การนอนน้อยเกินไป มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร (โดยเฉพาะกระเพาะอาหาร) บ่อยๆ หรือแม้แต่การนอนเฉยๆอยู่บ้าน ไม่ยอมออกไปข้างนอก เป็นต้น
อย่างที่บอกไปว่า IED สามารถเกิดได้กับทุกคนในทุกเมื่อ บางครั้งก็อาจจะเกิดตอนอยู่กับคนในครอบครัว แต่ถ้าเมื่อไหร่ไปเกิดตอนอยู่ในสังคมมันอาจจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ทั้งต่อร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง ความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ชีวิต ดังนั้นจึงน่าจะเป็นการดีหากเรารู้เท่าทันว่า เมื่อไหร่ที่ IED จะเริ่มมาเล่นงานตัวเราเข้าบ้างแล้ว
เนื่องจาก IED เป็นภาวะที่พัฒนามาจาก Anger disorder ดังนั้นจึงสามารถพยากรณ์ว่าใครจะเกิด IED ได้ดังนี้
- เป็นคนมีความคิดชอบแข่งขัน แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น เห็นคนอื่นขับรถเร็วต้องขับเร็วกว่า เห็นเพื่อนร่วมงานสวยฉันต้องสวยกว่า
- ขี้หงุดหงิด อารมณ์ขุ่นมัวตลอดเวลา บางครั้งเขาเองก็ไม่รู้ตัวว่าอะไรทำให้ตัวเองหงุดหงิด
- การตอบสนองทางอารมณ์ไม่สัมพันธ์กับมูลเหตุ เช่นโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเพียงเพราะลูกน้องชงกาแฟใส่น้ำตาลมาเกิน 1 ช้อน
- รู้สึกมีพลังล้นกว่าปกติ ใจสั่น ตัวสั่น แน่นหน้าอก เลือดสูบฉีดแรง
บางคนอาจสงสัยว่า บางคนที่ไม่ได้เป็นคนที่ก้าวร้าวเกรี้ยวกราดตามปกติแต่ก็แสดงอาการของ IED ได้ ตรงนี้เป็นไปได้ว่าคนเหล่านั้นอาจเป็นประเภทโกรธเงียบ (Passive aggressiveness) คือเป็นคนที่มีความโกรธซ่อนอยู่ภายในแต่คนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเขาเองไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังโกรธอยู่ ซึ่งมีวิธีสังเกตุง่ายๆว่าใครมีภาวะโกรธเงียบได้ดังนี้
- เป็นคนชอบพูดเสียดสี กระแนะกระแหนอยู่บ่อยๆ
- เป็นคนขวางโลก ชอบมีความคิดแตกต่างจากคนอื่นๆ
- เป็นคนไม่ค่อยมีความสงสารเห็นใจอะไรคนอื่นเท่าไหร่ แม้จะมีคนที่น่าสงสารมาอยู่ตรงหน้าก็ตาม
คนลักษณะแบบนี้ก็มีโอกาสจะเกิด IED ได้เช่นกัน
1
สำหรับการรักษา เบื้องต้นนักจิตวิทยาจะให้เข้าคอร์สบำบัดความโกรธ (Anger management) แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็จะเริ่มให้ยา ซึ่งยาที่จะใช้ก็จะเป็นพวกกลุ่มยาปรับอารมณ์ (Mood stabilizer) เช่น Lithium หรือ Sodium valproate แต่จริงๆมีวิธีรักษาที่ง่ายกว่าและสามารถทำได้ด้วยเอง นั่นคือ "การปรับแนวทางความคิดของตัวเองใหม่" ด้วยการคิดแบบมีเหตุผลมากขึ้น สนใจสาเหตุของเรื่องราวต่างๆมากขึ้น ใช้เวลาไตร่ตรองปัญหาต่างๆให้นานขึ้น
ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ ผมจะอธิบายอีกครั้ง ในบทความหลังจากนี้
พยายามเขียนให้สั้นที่สุดแล้วนะครับ แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเยอะมาก แต่ก็พยายามสรุปเนื้อหาสำคัญให้ครบถ้วนมากที่สุดแล้วครับ
ไว้พบกันอีกครั้งในบทความต่อไป
โฆษณา