2 ธ.ค. 2018 เวลา 06:55 • ประวัติศาสตร์
ย้อนอดีต! ‘Emu War’ เมื่อมนุษย์เปิดศึกกับนกอีมู จนกลายเป็นสงครามที่คนออสเตรเลียอยากจะลืม
เรามีบันทึกทางประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ด้วยกัน จนกระทั่งกลายเป็นสงครามในเวลาต่อมา แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ในอดีตที่ผ่านมาออสเตรเลียเคยประกาศสงครามกับนกอีมู ภายใต้ศึกสงครามที่มีชื่อว่า Emu War และในเวลาต่อมาเรื่องนี้ได้กลายเป็นเสมือนแผลในใจที่ทำให้ออสเตรเลียถูกล้อเลียนเมื่อพูดถึงสงครามในครั้งนั้น
ย้อนกลับไปในปี 1932 ทหารผ่านศึกของออสเตรเลียเดินทางกลับสู่ประเทศ หลังจากสิ้นสุดหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจของออสเตรเลียถือว่าย่ำแย่ รัฐบาลไม่มีเงินจุนเจือเหล่าทหารผ่านศึกมากนัก จึงส่งทหารผ่านศึกเหล่านี้ไปช่วยทำการเกษตร ทหารผ่านศึกเหล่านี้เริ่มต้นจากการปลูกข้าวสาลี รวมถึงพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่ทว่ามีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ถูกโจมตีด้วย “นกอีมู” มันทั้งกัดกิน จิกทำลาย จนพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ได้รับความเสียหายอย่างมาก
ร้อนไปถึง Sir George Pearce รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น ถึงกับออกคำสั่งให้นำกำลังทหารรวมถึงอาวุธสงครามบางส่วนไปจัดการกับนกอีมูที่ก่อปัญหาให้สิ้นซาก นั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามที่มีชื่อว่า “Emu War” สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับสัตว์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก กองกำลังทหารพร้อมด้วยอาวุธจำนวนมาก ถูกลำเลียงไปยังพื้นที่สงคราม อาวุธปืนส่วนมากจะเป็น “ปืนกล” ซึ่งทางรัฐบาลออสเตรเลียเชื่อว่า มันคืออาวุธที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เพราะสามารถสังหารศัตรูได้อย่างรวดเร็ว
ห่ากระสุนนับร้อยเริ่มยิงถล่มนกอีมูครั้งแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1932 เหล่านกอีมูเริ่มล้มตาย แต่ใช่ว่าจะปราบนกอีมูได้ในวันเดียวซะที่ไหน เพราะสงครามครั้งประวัติศาสตร์นี้ยืดเยื้อนานถึง 1 เดือนเต็ม นกอีมูไม่มีท่าทีว่าจะลดน้อยลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกระสุนไม่กี่ร้อยนัดในวันแรก เริ่มเพิ่มปริมาณมากขึ้น จากร้อยกลายเป็นพัน จากพันกลายเป็นหมื่น
เริ่มมีการถกเถียงกันในสภาถึงการทำสงครามที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ กองทัพต้องสูญเสียกระสุนเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อเทียบกับจำนวนนกอีมูที่ตายแล้ว มันไม่คุ้มกับจำนวนกระสุนที่เสียไปจริงๆ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกสงคราม และถอนกำลังทหารกลับไปในที่สุด ทำให้สงครามที่ยืดเยื้อมาเป็นเดือนตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน สิ้นสุดลงในวันที่ 10 ธันวาคม 1932
หลังสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการ กองกำลังทหารสามารถรวบรวม ซากนกอีมูที่ตายในสงครามได้ประมาณ 1,000-2,000 ตัวเท่านั้น ทำให้สื่อในประเทศและต่างประเทศล้อเลียนการกระทำที่ว่านี้ เป็นเรื่องที่สุดแสนจะไร้สาระ นอกจากจะเสียกระสุนไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังพ่ายแพ้ให้กับนกอีมูอีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความอับอาย ที่ออสเตรเลียอยากให้ทุกคนลืมเลือนมันไปซะ
โฆษณา