2 ธ.ค. 2018 เวลา 16:19 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"จริยธรรม" กรอบของการวิจัยหรือตัวถ่วงความเจริญ​ของวิทยาศาสตร์
หลายวันก่อนทุกคนน่าจะได้ยินข่าวเรื่องนักวิทยาศาสตร์​จีนทำการวิจัยด้านพันธุวิศวกรรม​ในเด็กทารกแฝดเป็นครั้งแรกของโลก ในขณะเดียวกันก็มีกระแสวิจารณ์​ด้านลบเกี่ยวกับจรรยาบรรณ​นักวิทยาศาสตร์​จากคนจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงมีการตรวจสอบพบว่านักวิจัยกลุ่มนี้ทำการวิจัยโดยไม่ได้ขึ้นกับทางมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์​เป็นวงกว้าง รวมถึงในประเทศ​ไทยด้วย
ในวันที่ 28 พย. ที่ผ่านมา Jiankui He หัวหน้าทีมวิจัยได้นำเสนอและให้สัมภา​ษณ์ในงาน 2nd International Summit on human Genome Editing ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง
จากการนำเสนอของคุณ Jiankui He สามารถสรุปคร่าวๆได้ว่า ทางผู้วิจัยได้ขออนุญาต​บิดาและมารดาของทารกอย่างถูกต้อง และบิดามารดาของทารกเป็นผู้มีการศึกษา สามารถรับรู้ขั้นตอน ความผิดพลาด และผลกระทบของการทดลองทุกอย่างได้ อีกทั้งเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว บิดามารดาของทารกนั้นต้องการให้การทดลองดำเนินต่อไป สุดท้ายทีมวิจัยวางแผนติดตามศึกษาเด็กทั้งคู่จนบรรลุนิติภาวะ และหวังว่าหลังจากนั้นเด็กทั้งสองจะให้ความร่วมมือกับทีมวิจัยต่อไปในอนาคต
เมื่อคุณ Jiankui He นำเสนอแบบนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์​(อีกแล้ว?)​จากนักวิชาการ​ท่านอื่นๆ รวมถึงมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย หรือทำไมต้องแอบทำการทดลองด้วย และคำถามที่ว่า "ถ้าเป็นลูกของคุณ คุณจะยังทำการทดลองแบบนี้อยู่หรือไม่" ซึ่งคุณHe ก็สามารถตอบทุกคำถามอย่างมีเหตุผล
หลังจากงานวิชาการครั้งนี้ ทำให้เกิดเป็นประเด็นในโซเชียลอีกครั้ง หลายคนคิดว่าการทดลองในมนุษย์​เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและผิดจรรยาบรรณ​ แต่อีกหลายๆคนคิดว่าถ้าไม่มีคนริเริ่มการทดลองเช่นนี้ โลกของเราก็จะไม่มีการพัฒนา​ ซึ่งเรื่องจริยธรรม​นั้นเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างยาวนานทั้งในห้องเรียนจนถึงในวงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างข่าวข้างต้น​(รวมถึงในห้องเรียนและแลปของผู้เขียนด้วยค่ะ)​
ส่วนตัวเราว่าการตัดสินเรื่องนี้ต้องใช้วิจารณญาน​และความรู้เรื่องจรรยาบรรณ​ของนักวิทยาศาสตร์​ซึ่งวันนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับวิชาจริยธรรม​ที่ได้เรียนไปเมื่อก่อนมิดเทอม(และกำลังอ่านอยู่เพื่อสอบไฟนอล)​ เราคิดว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจมากวิชาหนึ่งนะคะ
เริ่มจากคำว่าจริยธรรม(morallity) หมายถึงการตัดสินคุณค่าของบุคคลในทางวิชาการ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับศีลธรรมหรือคุณธรรมนะคะ อันนั้นจะเป็นการตัดสินในทางศาสนาค่ะ
ในส่วนของจรรยาบรรณ​วิชาชีพ หรือ code of ethics คือจริยธรรมของกลุ่มวิชาชีพ ที่มีการบรรญัติเป็นลายลักษณ์อักษร​ให้เราได้เรียนรู้กันจนถึงปัจจุบัน​
ดังนั้น จรรยาบรรณ​ของนักวิทยาศาสตร์​ก็คือ จริยธรรมที่ใช้ในกลุ่มอาชีพวิทยาศาสตร์​เช่น นักวิทยาศาสตร์​ หมอ สัตวแพทย์​ รวมถึงวิศวกร ซึ่งสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง อุดมคติของจรรยาบรรณ​นักวิทยาศาสตร์​คือการแสวงหาความจริงและมุ่งมั่นที่จะพบความจริงของธรรมชาติ โดยยังไม่มีการบัญญัติ​เกี่ยวกับความถูกต้อง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่2 เราได้วิทยาการใหม่ๆเป็นจำนวนมาก แต่ก็แลกมาด้วยความโหดร้ายของสงคราม รวมถึงได้รับรู้ความโหดร้ายของการทดลองในมนุษย์​ ทำให้คนเริ่มตระหนักว่าในความจริงนั้นมีความน่ากลัวและความอันตราย​ซ่อนอยู่เช่นกัน
หลังจากนั้นจึงบัญญัติอุดมคติใหม่ของนักวิทยาศาสตร์​ขึ้นมา
คือแสวงหาความจริง'เพื่อประโยชน์​ของมวลมนุษย์​ตามหลักอัตตานัต และ 3R's
หลักอัตตานัตคือการเห็นประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทดลอง ซึ่งในจรรยาบรรณ​ของนักวิทยาศาสตร์​ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือประชาชนทุกคน รวมถึงรักษาความลับ เคารพความเป็นส่วนตัว การมีข้อมูลที่เพียงพอ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและการทดลองนั้นต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม
ส่วนหลัก 3R's หมายถึง
- rigour(ความซื่อสัตย์และซื่อตรงต่อหลักการ),
- Respect(ความเคารพในชีวิต กฎหมาย และประโยชน์​
สาธารณะ),
- Responsibility(มีความรับผิดชอบในการทดลอง และการให้ข้อมูลการทดลองนั้น)​
บางการทดลองนั้นต้องใช้สัตว์ทดลอง ทางวิชาจรรยาบรรณ​ได้กำหนดสิทธิสัตว์ทดลองไว้เช่นกัน โดยนักวิจัย​ต้องใช้สัตว์ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุดโดยก่อความทุกข์ให้สัตว์น้อยที่สุดเพื่อประโยชน์ที่มากที่สุด รวมถึงวิธีการเลี้ยงและวิธีกำจัดต้องไม่ทำให้สัตว์มีความทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับเรื่องจิตใจของสัตว์ค่ะ
ในการทดลองตัดต่อพันธุกรรม​เด็กฝาแฝดข้างต้น ผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ว่าผิดจรรยาบรรณ​หรือไม่ เนื่องจากเด็กยังไม่โตพอที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการทดลอง รวมถึงผลการทดลองก็ยังไม่ชัดเจน อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรสำหรับเคสนี้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการทดลองนี้จะผิดจรรยาบรรณ​หรือไม่ ผู้เขียนมั่นใจว่า การทดลองนี้จะเปลี่ยนแปลงวงการวิทยาศาสตร์​และทำให้มีความรู้ใหม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังทำให้หลายๆคนเกิดข้อสงสัยในด้านจริยธรรม​ ซึ่งข้อสงสัยนั้นจะทำให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดหรือเปลี่ยนแปลงวงการวิทยาศาสตร์​ในอนาคต
fb page: biology beyond nature:ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ
เอกสารคำสอนวิชา ศมมน 125 จรรยาบรรณ​วิชาชีพ​สำหรับนักวิทยาศาสตร์
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะคะ หากมีจุดไหนที่ผิดพลาดหรือเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่องสามารถแนะนำติชมได้ทุกเรื่องทั้งเรื่องเนื้อหาและภาษา เพื่อเราจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในบทความต่อๆไปค่ะ♥️
โฆษณา