6 ธ.ค. 2018 เวลา 18:06 • ประวัติศาสตร์
คัมภีร์กาลจักร-ลัคน์จร โดย เชย บัวก้านทอง
การพยากรณ์จรแขนงหนึ่งที่ใช้กันแต่โบราณ ที่นอกเหนือไปจากทักษา มหาทักษา วิมโสตรีทศา ตรีวัย ลัคนาจรประจำปี ดาวจรประจำวัน กล่าวว่าดูในทางร้ายหรือการเลื่อนตำแหน่งได้แม่นยำมาก
การพิจารณาพื้นดวงเดิม นักโหราศาตร์ จะใช้ราศี ดาวเคราะห์ เรือนชะตา เกณฑ์การส่งกำลัง ระหว่างดาวเคราะห์ ตามโยค เกณฑ์ มุมสัมพันธ์ เป็นแม่บทที่ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก จะแตกต่างเฉพาะการตีความหมายและการออกแบบคำพยากรณ์
แต่การพยากรณ์จรนั้น นักโหราศาสตร์แต่ละสำนักกลับเลือกใช้เครื่องมือที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งการใช้ตำแหน่งดาวจริงบนฟ้า (Transit), ตำแหน่งดาวสมมติตามอายุขัยเจ้าชะตา (Progression/Direction), วัยจรตามจุดสำคัญของเจ้าชะตาที่เคลื่อนไปตามอายุขัย (กาลจักร์-ลัคน์จร, ลัคนาจรประจำปี, ตรีวัย), จันทร์จรที่เคลื่อนไปในแต่ตำแหน่งราศีจักรทั้งตามจันทรคติ/สุริยคติ(วิมโสตรีทศา/อัษโตตรีทศา), ดาวสำคัญเสวยอายุ (พระเคราะห์ประจำวัย/ พระเคราะห์เสวยอายุ), ตำแหน่งสำคัญตามวันเกิดที่เคลื่อนไป (ทักษา/มหาทักษา) เป็นต้น
หลายสำนักต่างใช้เครื่องมือพยากรณ์จรที่ผสมผสานหลายอย่าง เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้างไปตามประสบการณ์/ตำรา/เคล็ดลับของผู้เป็นเจ้าสำนัก
การใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันดังกล่าว อาจจะสันนิษฐานได้ว่า
1.โหราศาสตร์ส่วนบุคคลในยุคต้น คงออกแบบมาสำหรับคนชั้นสูงเพื่อคัดเลือกคนในว่านเครือที่จะมาสืบทอดสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจให้ดำรงอยู่ ส่วนคนที่คัดเลือกมาได้แล้ว จะดีร้ายอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่านไปคงเป็นเรื่องรองลงไป
ด้วย ความรู้ทางภาษาและการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีทางอาวุธที่ก้าวหน้าขึ้น และการบริหารอำนาจสมัยใหม่ของชนชั้นสูงผ่านแนวคิดมนุษย์นิยม กล่าวคือเชื่อตนเองมากขึ้น เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพลังอำนาจที่มองไม่เห็นน้อยลง ทำให้นักโหราศาสตร์เริ่มเสื่อมความนิยมในแวดวงชนชั้นสูง
เพื่อที่รักษาตำราและหลักวิชาไว้ และสามารถเอาตัวรอดได้ในสังคมที่ขาดชนชั้นสูงหนุน นักโหราศาสตร์ก็ต้องพัฒนาแนวทางการออกคำพยากรณ์ ออกเป็นเรื่องเล่าให้ตรงประเด็นและถูกใจบรรดาสามัญชน
เมื่อโหราศาสตร์แพร่หลายมาสู่แวดวงสามัญชน ซึ่ง 8 ใน 10 คนอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีความโดดเด่น ความต้องการที่จะรู้ความเป็นไปของช่วงชีวิตในแต่ละวัยจึงมีความจำเป็นที่จะมาชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป
การพัฒนานาเครื่องมือพยากรณ์จรของบรรดานักโหราศาสตร์ จึงต้องปรับปรุงไปตามศาสตร์การทำนายทายทักที่สามัญชนในแต่ละสังคมมีความศรัทธาและยึดถือมาก่อน แล้วค่อยๆผสมผสานไปตามสังคมแต่ละยุคสมัย
2. การพยากรณ์จร เป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักโหราศาสตร์สมัยก่อน เนื่องจากบางเรื่องไปเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของมนุษย์ ที่ระบุระยะเวลาได้บ้างไม่ได้บ้าง สังเกตจากข้อถกเถียงของนักบวชนักปรัชญาโบราณ ทั้งตะวันตกและตะวันออก มักถกเถียงกันว่า การตัดสินใจของมนุษย์ เกิดจากจิตอิสระของแต่ละคน หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่นมีมารหรือเทวดามาดลใจ
ในพระไตรปิฎก ยังมีพรามณ์บางคนมาถามพระพุทธเจ้า ว่าบาปบุญที่แต่ละคนทำลงไปนั้น มีใครเป็นผู้เป็นผู้กระทำ มีใครเป็นผู้รับผล นอกจากนี้ในบรรดาพราหมณ์ที่มาดูปุริสลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะขณะเกิด 7 ใน 8 ท่านยังให้คำพยากรณ์ออกเป็นสอง คือถ้าไปทางทางโลกก็จะถึงขั้นเป็นยอดของกษัตริย์ ถ้าไปในทางธรรมก็จะถึงขั้นเป็นเจ้าลัทธิแห่งการหลุดพ้นที่ยิ่งใหญ่
แสดงว่าแม้แต่นักโหราศาสตร์ส่วนมากที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น ก็ไม่สามารพยากรณ์การตัดสินใจของมนุษย์ได้ คงทำได้แค่พยากรณ์ผลของการตัดสินใจ
แต่คนจำนวนมากในสังคม มักเป็นผู้ไม่รู้จักตัวเอง ศรัทธาอ่อน ไร้ปณิธาน และขาดเป้าหมายในชีวิต หรือไม่ก็หมดเวลาไปกับการเอาตัวเองให้รอดในทางเศรษฐกิจ จึงไม่มีเวลามากพอในการพินิจพิจารณาปัจจัยที่นอกเหนือไปจากการทำมาหากิน กลุ่มคนเหล่านี้จึงถูกโน้มน้าวโดยผู้มีจิตใจแข็งแกร่งกว่า และมีวาทะศิลป์ได้โดยง่าย
การที่นักโหราศาสตร์ยุคปัจจุบันจะศึกษาลงลึกให้ถึงแก่นที่มาของตำราแต่ละแขนงจึงกลายเป็นสิ่งเกินจำเป็นไป และอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการความแม่นยำในทุกรายละเอียดที่ตำราโหราศาสตร์สมัยก่อนไม่ได้กล่าวถึงไว้
โหราศาสตร์จึงถูกจัดชั้นโดยคนบางกลุ่ม ให้กลายเป็นเพียงวาทะวิทยา หรือศาสตร์แห่งการเดา ไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา