13 ธ.ค. 2018 เวลา 05:28 • ศิลปะ & ออกแบบ
7 ไอเดียฝึกถ่ายรูปให้เก่งสำหรับคนเพิ่งเริ่มต้นเล่นกล้อง
ในวันนี้จะมาเอาใจมือใหม่ฉบับ Basic จ๋า ๆ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเล่นกล้องเลยว่าควรจะเริ่มฝึกจากตรงไหน เอาแบบว่าหัดทำคนเดียวได้ ไม่ต้องง้อเพื่อน ไม่ต้องอายว่าคนจะเรามือใหม่ เพราะเราจะฝึกลุยด้วยตัวเอง เอาเป็นว่ามาลุยกันเลย!
1. ฝึกเข้าใจระบบวัดแสงของกล้องก่อน
ปัจจุบันนี้แน่นอนกล้องถ่ายรูปเราเป็น Mirrorless กันทุกค่ายแล้วแหละ แล้วหน้าจอหรือช่องมอง EVF (Electronic View Finder) ของเรา มันก็ปรับแสงตามจริงให้เรารู้เลยว่าภาพมันมืดหรือสว่าง แล้วทำไมต้องเข้าใจระบบวัดแสงของกล้องล่ะ?
เพราะว่าการวัดแสงของกล้องมีหลายรูปแบบครับ เอาคร่าว ๆ ว่ามีทั้งจุดเดียว, หรือจะเป็นการวัดเฉลี่ยค่าตรงกลางภาพ แล้วยังมีการวัดแสงเฉลี่ยแบบทั้งภาพอีก ดังนั้นเพื่อให้เราเข้าใจการคิดของกล้องในเรื่องการวัดแสง ก็ควรฝึกที่จะเรียนรู้พวกระบบวัดแสงของกล้องด้วย แล้วก็ฝึกใช้ให้คล่องด้วยนะ ส่วนใครอยากเรียนรู้เรื่องระบบวัดแสงของกล้อง ดูได้จากลิงก์ด้านล่างนี้เลย
2. ฝึกอ่าน Histogram ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ได้
ข้อนี้จะอารมณ์เดียวกับการเข้าใจเรื่องระบบวัดแสงของกล้องนั่นแหละ เวลาที่เราถ่ายภาพนั้น กล้องจะมีกราฟนึงที่ให้เราเห็นจนชินตา แต่มือใหม่มักจะงงกับมัน สิ่งนั้นเรียกว่า Histogram อธิบายง่าย ๆ ว่ากราฟนี้เขาจะพยายามอธิบายให้เรารู้ว่ารูปที่ได้มา มีลักษณะยังไง เช่น มืด พอดี หรือสว่างไป เราสามารถดูจากกราฟนี้ได้เลย
ซึ่งแม้ว่าช่องมอง EVF จะแสดงผลภาพให้เราเห็นแบบชัด ๆ เลยว่าภาพที่เราถ่ายได้เป็นยังไง ซึ่งนั่นก็ช่วยได้เยอะแล้วนะ แต่การที่เราดู Histogram จริง ๆ จะทำให้เราเห็นข้อมูลของภาพที่เก็บมาได้เลยว่ามีลักษณะยังไง แสง สี ที่ได้อยู่ในส่วนไหน สามารถเข้าใจภาพรวมของข้อมูลในรูปถ่ายนั้นได้ทันที แน่นอนว่าถ้าใครอยากเข้าใจเรื่อง Histogram แล้วล่ะก็สามารถตามอ่านแบบง่าย ๆ ได้ที่นี่เลยครับ
3. ฝึกใช้ Lens Fix สักตัวแบบจริงจัง ให้ชำนาญ
เลนส์ Fix vs เลนส์ Zoom ผมเคยเขียนเรื่องนี้เปรียบเทียบไปแล้วเนอะ แล้วเลนส์เริ่มต้นที่เราได้มา พวก Kit Lens ทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นเลนส์ที่ Zoom ได้ ผมแนะนำว่าถ้าอยากจะได้มุมมองใหม่ ๆ และค้นพบกับข้อจำกัด ความแตกต่าง และการฝึกที่สนุกขึ้นอยากได้ลองสัมผัสพวกเลนส์ Fix บ้างครับ
เลนส์ Fix เป็นเลนส์ที่ Zoom ไม่ได้ ระยะของเลนส์จะคงที่ ถ้าเราต้องการปรับมุมมองถ่ายภาพ นั่นคือเราต้องเดินเข้าออกเองแทนการซูม และนั่นเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เรารับทราบถึงข้อจำกัดในเลนส์แต่ละแบบ นอกจากนี้ยังฝึกให้เรามองหามุมมองใหม่ ๆ ด้วย เพราะเลนส์ตัวนี้เป็นระบบซูมด้วยเท้าของเราเอง ก็คือเดินเอานั่นแหละ เราจะสามารถเรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ ได้เยอะขึ้นเมื่อใช้เลนส์ประเภทนี้ครับ
4. ฝึกเล่นกับ white Balance แต่ละโหมด และลองปรับ custom white balance เองบ้าง
ปัจจุบันระบบ White Balance ในกล้องมันดีมาก ๆ แล้วแต่ก็ยังมีบางครั้งที่ White Balance ของกล้องก็ยังเพี้ยนอยู่บ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ผมอยากจะให้ฝึกใช้ Custom White Balance หรอกนะ จริง ๆ แล้วผมอยากให้ลองฝึกใช้ White Balance แต่ละแบบด้วยตัวเอง
ก็เหตุผลหลัก ๆ คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ White Balance มากขึ้นกว่าเดิม เช่น White Balance แต่ละแบบถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาอะไร เมื่อใช้แล้ว สีจะเปลี่ยนไปยังไง จากแบบไหน เป็นแบบไหน แม้กระทั่งเมื่อไหร่ควรใช้ Auto White Balance ก็พอ เมื่อไหร่ควรจะเลือกใช้เป็นโหมดเฉพาะ หรือแม้แต่การปรับ White Balance เป็น Kelvin (K) ด้วยตัวเอง แบบไหนถึงจะเหมาะสม
เกริ่นมากขนาดนี้แล้ว แนะนำให้ลองฝึกใช้ White Balance เองเถอะน๊า แต่ถ้าใครยังมือใหม่แล้วอยากจะลองเล่น White Balance ด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ ตามบทความด้านล่างนี้ได้เลย ผมได้เขียนไว้รอแล้วจ้า
5. ฝึกใช้โหมด M ด้วยตัวเอง เข้าใจถึงวิธีการคิดของกล้อง
โหมดกล้องของเรามีเยอะมาก ซึ่งโหมดที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ นอกเหนือจาก Auto ก็โหมด M นี่แหละ โหมดนี้หลายคนบอกว่าใช้ยาก แต่ถ้าใช้เป็นแล้วจะถ่ายภาพได้เก่งขึ้น อันนั้นจริงหรือเปล่านะ ที่จริงแล้วโหมด M ทำให้เราปรับตั้งค่ากล้องได้อย่างใจต้องการ แต่การจะปรับได้ต้องมีทักษะที่ชำนาญสองเรื่องหลัก ๆ ก็คือ “รู้ว่าภาพที่เราต้องการคือภาพแบบไหน และปรับค่ากล้องให้ได้ตามภาพที่ตั้งใจไว้” กับเรื่องนึกก็คือ “ต้องรู้ว่าการปรับตั้งค่าของกล้องส่งผลอะไรกับภาพบ้าง” เช่น การเพิ่มหรือลดความเร็วชัตเตอร์ จะส่งผลกับภาพยังไง, การเปิดรูรับแสงกว้างขึ้นหรือแคบลง จะส่งผลยังไงบ้าง
การที่เราใช้โหมด M เป็นจะทำให้เราเริ่มเข้าใจกระบวนการคิดของกล้อง และฝึกการเรียบเรียงกระบวนการถ่ายภาพไว้ในหัว ควบคู่ไปกับการคิดภาพขึ้นมาก่อนว่าเราจะเอาภาพอะไร จากนั้นให้โหมด M เป็นเครื่องมือในการกำหนดค่าที่เราต้องการเพื่อให้ได้ภาพดั่งใจครับ ถ้าหากว่ามีเวลาฝึกโหมดนี้จนคล่องก็ถือว่าเก่งมากเลยแหละ
6. ฝึกใช้โหมดอื่น อย่าง โหมด A และโหมด S ด้วยนะ
เมื่อก่อนหน้าเราแนะนำเรื่องการถ่ายภาพด้วยโหมด M ไปแล้ว ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องโหมดอื่นที่เหลือคือ โหมด A (Aperture Priority) และ โหมด S (Shutter Priority) สองโหมดนี้จะถ่ายง่ายกว่า โหมด A จะใช้รูรับแสงตามที่เราต้องการ ที่เหลือกล้องปรับค่าอื่น ๆ ให้ และโหมด S จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ แล้วค่าอื่น ๆ กล้องปรับให้เอง การชำนาญสองโหมดนี้และเข้าใจว่าควรใช้เมื่อไหร่ถึงจะเหมาะสม จะทำให้เราถ่ายภาพได้สะดวกขึ้น เร็วกว่าโหมด M ในหลาย ๆ สถานการณ์เลยแหละ
7. ฝึกใช้กฎสามส่วน และขยันทำการบ้านเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพด้วย
สุดท้ายแล้วเรามาจบกันที่เรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพ คนที่เริ่มต้นอาจจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของ กฎสามส่วน หรือ Rule of Third อยู่บ้าง แต่อาจจะยังไม่เคยใช้จริงจัง การจัดองค์ประกอบภาพเป็นเรื่องสำคัญมากของการถ่ายภาพ เพราะมันเป็นเรื่องของศิลปะ เป็นอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเซ็ตติ้ง หรือสเปคกล้องเลย แต่เป็นเรื่องการวางภาพให้เหมาะสม น่าสนใจ
การที่ให้เริ่มต้นทำความเข้าใจเรื่องกฎสามส่วน เพราะมันเป็นพื้นฐานง่าย ๆ ครับ และสามารถทำให้ภาพสวยได้ง่าย ๆ เลยเหมือนกัน นอกจากนี้ยังนำเราไปซึ่งการฝึกสร้างมุมมองใหม่ ๆ จัดวางองค์ประกอบภาพใหม่ ๆ ได้น่าสนใจด้วย
อ่านบทความสอนถ่ายภาพอื่น​ ๆ​ ได้ที่
โฆษณา