ตอนปลายอยุธยาก่อนเสียกรุง รุ่นเหลนบางคนที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ว่ากันว่าเพราะต้องตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ถ้าเป็นมุสลิมอยู่ก็จะยุ่งยากลำบากในการปฏิบัติราชการจึงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่หน้าพระบาทนั้นเอง มาถึงเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) สมุหพระกลาโหมสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศก็นับถือพุทธไปแล้ว แต่ลูกหลานเฉกอะหมัดแยกคนละสายกับเจ้าพระยามหาเสนาที่ยังคงเป็นมุสลิมก็ยังมีต่อมาอีกเป็นอันมากจนถึงบัดนี้ และที่ถูกจับเป็นเชลยไปพม่าก็มี
บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ชื่อ “บุนนาค” ครั้งยังเด็กเป็นเพื่อนเล่นกับนายสิน (ต่อมาเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) และนายทองด้วง (ต่อมาเป็นรัชกาลที่ 1) ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก นายบุนนาคซึ่งทำราชการอยู่ในวังหลบหนีพม่าไปอาศัยอยู่กับเพื่อนเก่าคือนายทองด้วงซึ่งขณะนั้นเป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี แต่ไปได้เมียชื่อนาค พักอยู่ที่อัมพวาหรือบางช้าง (สมุทรสงคราม) เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีครองราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว นายทองด้วงได้เข้าทำราชการด้วยจนได้เป็นพระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ เจ้าพระยายมราช และเจ้าพระยาจักรี ตำแหน่งสมุหนายก ส่วนนายบุนนาคมิได้ทำราชการใด ๆ เป็นแต่ทนายหน้าหอหรือ ทส.เจ้าพระยาจักรีอยู่อย่างนั้นเอง
นายบุนนาคตกเป็นพ่อม่าย เพราะภริยาคู่ทุกข์คู่ยากชื่อลิ้มถูกโจรทำร้ายจนเสียชีวิต คุณหญิงนาค ภริยาเจ้าพระยาจักรีสงสารว่าเป็นคนดีและตัวคนเดียวจึงยกน้องสาวชื่อคุณนวลให้เป็นภริยา เป็นอันว่านายบุนนาคเป็นคู่เขยหรือเขยเล็กเขยใหญ่กับเจ้าพระยาจักรี ตรงนี้สำคัญมากครับ
ต่อมาเจ้าพระยาจักรีได้เป็นสมเด็จ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและได้ปราบดา ภิเษกเป็นรัชกาลที่ 1 นายบุนนาคจึงได้เข้าทำราชการจนได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา สมุหพระกลาโหม เหมือนพ่อของท่าน เมื่อรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล เดิมทีจะโปรดเกล้าฯ ให้ลูกหลานเหลนโหลน “ทุกคน” ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)และภรรยาทุกคน ใช้นามสกุลตามชื่อเจ้าพระยามหาเสนาว่า “บุนนาค” แต่ผู้ใหญ่บางคนในสกุลนี้ที่เป็นสายตรงลงมาจากคุณหญิงนวล (เจ้าพระยามหาเสนามีเมียหลายคน ลูกหลานหลายคน) ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงยกย่องคุณหญิงนวลว่าเป็นพระญาติผู้ใหญ่เพราะเป็นน้องสาวแท้ ๆ ของคุณหญิงนาค (สมเด็จพระอมรินทรฯ) ย่าของท่านจึงโปรดฯ ให้เรียกว่าเจ้าคุณราชพันธ์หรือเจ้าคุณหญิงนวล (ไม่เป็นเจ้า) ไปตั้งข้อรังเกียจลูกหลานที่แม้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เหมือนกันแต่เกิดจากเมียอื่นซึ่งมิได้เป็นพระญาติกับพระราชวงศ์จักรี
รัชกาลที่ 6 เคยคิดจะให้สายเจ้าคุณหญิงนวลใช้นามสกุลว่า “บุนนาค-นวล” จะได้ชัดเจน ส่วนสายเมียอื่นทุกคนให้ใช้ “บุนนาค” ร่วมกันแต่ทรงเกรงว่าจะซ้ำซ้อนยุ่งยากจึงให้สายเจ้าคุณหญิงนวลใช้ “บุน นาค” ซึ่งเป็นสกุลสามัญชนไม่นับเป็นเจ้าแต่เพราะเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์จึงเรียกว่าราชินิกุล ส่วนสายเมียอื่นให้แยกไปใช้นามสกุลอื่นต่าง ๆ กันไป เช่น ศุภมิตร จาติกรัตน์ บุรานนท์ ว่าไปแล้วก็มีบรรพบุรุษเดียว กันทั้งนั้นทางเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) สกุลเหล่านี้จึงเป็นญาติกัน
บุตรชายสองคนของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) และเจ้าคุณหญิงนวลได้เป็นใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3-4 คนโตชื่อดิศ ต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คนทั้งปวงเรียกว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ อีกคนชื่อทัต ต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ คนเรียกว่าสมเด็จเจ้า พระยาองค์น้อย ทั้งสองท่านมิใช่เจ้าแต่เป็นอำมาตย์ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น กุมอำนาจทางทหาร การปกครอง การค้า การคลัง และการต่างประเทศ ฝรั่งจะเข้ามาเจรจาความเมืองต้องเจรจากับท่านก่อน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ถือตราสุริยมณฑลรูปพระอาทิตย์ ท่านเป็นคนสร้างวัดประยุรวงศาวาส วัดนวลนรดิศ (นวลคือชื่อแม่ท่าน ดิศคือชื่อท่าน) สมเด็จเจ้า พระยาบรมมหาพิชัยญาติถือตราจันทรมณฑลรูปพระจันทร์ ท่านเป็นคนสร้างวัดพิชยญาติการามหรือวัดพิชัยญาติ ภริยาท่านเป็นคนสร้างวัดอนงคาราม นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นแม่กองขุดคลองอีกหลายสายสร้างวัดอีกหลายแห่ง เพราะบารมีของท่านคับฟ้าคับแผ่นดินทำอะไรก็สำเร็จ