Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
marumura
•
ติดตาม
14 ธ.ค. 2018 เวลา 03:03 • ประวัติศาสตร์
ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างในหลวงร.๙ กับจักรพรรดิญี่ปุ่น
คืนวันที่ 13 ตุลาคม หลังจากที่องค์สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่นเสด็จฯ กลับจากงานคอนเสิร์ตที่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยี่ยมทรงเป็นองค์ประธานจัด ณ กรุงโตเกียวนั้น ทรงได้ทราบข่าวที่สะเทือนพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์เป็นที่สุด
ในวันถัดมา สำนักพระราชวังอิมพีเรียลของญี่ปุ่นแถลงข่าวว่า ทั้งสองพระองค์จะทรงไว้ทุกข์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นเวลา 3 วัน นอกจากนี้ทางสำนักพระราชวังฯ ยังแถลงว่า
สำหรับองค์สมเด็จพระจักรพรรดินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นบุคคลผู้พิเศษยิ่งในบรรดาสมเด็จพระราชาธิบดีทั้งหลายแห่งราชอาณาจักรต่าง ๆ
จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์
ในปีค.ศ.1963 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะและพระบรมวงศานุวงศ์ญี่ปุ่นทุกพระองค์เสด็จฯ มาถวายการต้อนรับถึงสนามบินฮาเนดะ ในขณะนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมารอยู่
ในครั้งนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้ศึกษามาล่วงหน้าแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความสนพระทัยในเทคโนโลยีด้านใดบ้าง
จึงกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูปของบริษัทแคนนอน โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า NEC และกิจการด้านโทรคมนาคมและการผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์ตามลำดับ
ในปีถัดมา (ค.ศ. 1964) มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะและพระมเหสีได้เสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงทูลเชิญทั้งสองพระองค์ให้เสด็จฯ ประพาสเชียงใหม่ร่วมกับพระองค์ และระหว่างการเดินทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงเป่าคลาริเน็ตเพลง “Memories of You“ ถวายด้วย
ทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงประทับพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงขับรถยนต์พระที่นั่งพาทั้งสองพระองค์ขึ้นเขาชมวิถีชีวิตชาวบ้านและทิวทัศน์ธรรมชาติด้วยพระองค์เองอีกด้วย
ในปีค.ศ. 2006 แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 42 ปีแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะก็ยังตรัสถึงการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในครั้งนั้น โดยทรงมีพระราชดำรัสกับสื่อมวลชนว่า
ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นทั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประชาชนชาวไทย เป็นช่วงเวลา 3 วันที่พิเศษและยังคงอยู่ในความทรงจำของเราเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ในการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในปีค.ศ.1964 นั้น มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ (ในขณะนั้น) ทรงทราบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า
ชาวเขาเผ่าม้งมีปัญหาด้านโภชนาการ ขาดโปรตีนที่ดี จึงทรงถวายพันธุ์ปลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงทดลองเลี้ยงในสวนจิตรลดาจนประสบความสำเร็จ และพระราชทานชื่อปลาว่า “ปลานิล”
ที่มาของชื่อนั้น ในไทยเราเล่าสู่กันฟังว่า ปลานิล มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของปลา หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica ที่มีคำว่า “นิล” อยู่
ส่วนในสื่อญี่ปุ่นกล่าวถึงที่มาของชื่อปลานี้ว่า ปลานิล มาจากตัวอักษรคันจิตัวหนึ่งในพระนามของมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ คือ ตัว 仁 (ตัวอักษรคำนี้ในภาษาญี่ปุ่นมีวิธีอ่านสองแบบ คือ ฮิโตะหรือนิน)
ประเทศแรกที่เสด็จเยือน
เมื่อมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ ทรงเลือกที่จะเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศแรกในการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งแรกในฐานะองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ โดยได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยในเดือนกันยายน ปีค.ศ.1991
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวายสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงมีพระราชดำรัสว่า
“…(ย่อ) ในปีถัดไป (1964) เมื่อได้มีโอกาสไปต่างประเทศ ก็ได้แวะกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้ได้เห็นพระอุตสาหะของทั้งสองพระองค์ในการเสด็จพระราชดำเนินตามท้องถิ่นต่าง ๆ และทรงมีพระราชดำริในการที่จะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในถิ่นทุรกันดารให้ดีขึ้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความมั่นคงและพัฒนาขึ้นตามลำดับ คงเป็นเพราะทั้งสองพระองค์ได้ทรงทุ่มเทชี้แนะประชาชนอย่างมุ่งมั่นเป็นแน่แท้”
“จงช่วยเหลือสังคมไทย”
ในปีค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมงานในฐานะพระราชอาคันตุกะด้วยพระองค์เอง
ตามธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักพระราชวังญี่ปุ่นนั้น องค์สมเด็จพระจักรพรรดิจะไม่เสด็จฯ เยือนประเทศใดแบบเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 ดังนั้นการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในปีค.ศ. 2006 ขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะนี้จึงเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองราชวงศ์ได้เป็นอย่างดี
(อ้างอิง:คุณวศินสุข
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/07/K4521691/K4521691.html
)
ในครั้งนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้คนญี่ปุ่นที่มีถิ่นพำนักอาศัยในประเทศไทยเข้าเฝ้า ณ โรงแรมปาร์คนายเลิศ และทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทมีใจความว่า
ทรงขอบพระทัยคนญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดีในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังทรงรับสั่งให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดต่อไป
ที่สำคัญทรงสอนให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ดูคนญี่ปุ่นรุ่นเก่า ๆ ที่อยู่เมืองไทย 10 ปีขึ้นไปหรือรุ่นที่มาเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นตัวอย่าง เพราะคนรุ่นเก่าได้ทำไว้ดีมาก ชุมชนชาวญี่ปุ่นจึงได้รับการต้อนรับอย่างดีในสังคมไทย ทรงขอให้เจริญรอยตามต่อไปและทำสิ่งที่ดีที่สุดให้สังคมไทย
กล่าวโดยสรุปก็คือ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงสอนให้คนญี่ปุ่นในไทยรู้จักหน้าที่ ให้รู้บุญคุณ ให้เคารพและดูตัวอย่างผู้อาวุโสนั่นเอง
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้จะเห็นว่านอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและองค์สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะมีพระชนมายุใกล้เคียงกันแล้ว ยังทรงเคารพซึ่งกันและกัน ทรงให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดมาด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งสองพระองค์ทรงมีความทุ่มเทเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหมือน ๆ กัน ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่สำนักพระราชวังของญี่ปุ่นแถลงว่าสำหรับองค์สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นบุคคลที่พิเศษอย่างยิ่งในบรรดาพระราชาธิบดีทั้งหลายทั่วโลก
และพระราชไมตรีที่ทรงมีต่อกัน อันนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไประหว่างญี่ปุ่นและไทยนี้ จะจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศไปชั่วกาลนาน
ขอขอบพระคุณดร.ณัชร สยามวาลา สำหรับข้อมูล คำแนะนำ และการเรียบเรียงถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องโดย : เกตุวดี
https://www.marumura.com/king-bhumibol/
ติดตามเรื่องราวญี่ปุ่นที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่
www.marumura.com
หรือทาง FB
https://www.facebook.com/marumuradotcom/
ขอขอบพระคุณข้อมูลจากดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ สำนักพระราชวังอิมพีเรียล หนังสือพิมพ์อาซาฮี หนังสือพิมพ์ไมนิจิ สำหรับข้อมูลดังต่อไปนี้
http://www.manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000139347
http://www.kunaicho.go.jp/okotoba/01/speech/speech-h03e-seasia.html
http://www.asahi.com/articles/ASJBG527HJBGUTIL031.html
http://mainichi.jp/articles/20161014/k00/00m/030/113000c
5 บันทึก
69
1
5
69
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย