14 ธ.ค. 2018 เวลา 10:18 • ธุรกิจ
ิTwitter ตอนที่ 6 : 1st CEO
หลังจากได้รับรางวัลใหญ่จากงาน SXSW ที่ เท็กซัส ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจ Twitter มากขึ้น เพียงไม่นาน ยอดผู้ใช้งานก็พุ่งไปถึง หนึ่งแสนคน อย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่มี CEO อย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ
1st CEO
ถึงตอนนี้ เอฟ ก็เริ่มเห็นแววว่า Twitter น่าจะไปได้รุ่งแน่ ๆ จึงเริ่มจัดการเรื่องการบริหาร Twitter ให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น โดยเสนอให้ แจ๊ค เป็น CEO คนแรกของ Twitter แม้ แจ๊คนั้นดูจะไม่มีวี่แวว ว่าจะกลายมาเป็น CEO ได้เลยก็ตาม แต่แนวคิดของเอฟนั้น คิดว่าเขาสามารถที่จะปั้น แจ๊ค ให้ขึ้นมาดูแล Twitter ได้
ส่วน บิซ นั้นก็ยังไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการใน Twitter เอฟจึงเสนอให้บิซนั้นเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการให้เครดิตกับบิซ ที่เป็นทีมงานตั้งแต่เริ่มต้นของ Twitter พร้อมๆ  กับ แจ๊ค
ส่วนเอฟนั้น จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานของบริษัท โดยจะถือหุ้นไว้ 70% ส่วน แจ๊ค ที่รับตำแหน่ง CEO นั้นจะได้ 20% และ บิซ จะได้ 3% สว่นที่เหลือจะปันส่วนให้เหล่าพนักงานส่วนที่เหลือได้ถือครองหุ้นด้วย
และหลังจากนั้น Twitter ก็เติบโตอย่างรวดเร็วมาก ๆ แม้จะมีปัญหาเรื่องไซต์ล่มบ่อยก็ตามที แต่ตอนนี้ เหล่าผู้ใช้งานเริ่มติด Twitter กันงอมแงมแล้ว และในช่วงปี 2007 นั้น จำนวนผู้ใช้งานพุ่งขึ้นไปถึง 250,000 คน
ทำให้เริ่มไปเตะตาบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Yahoo ยักษ์ใหญ่ด้านบริการด้าน Online ในขณะนั้น ที่กำลังสนใจ Twitter เช่นกัน รวมถึงเหล่านักลงทุนอื่น ๆ ใน ซิลิกอน วัลเลย์ ก็เริ่มหันมามาอง Twitter มากยิ่งขึ้น แม้จะยังไม่มีโมเดล การทำรายได้ที่ชัดเจนก็ตามที
Yahoo ยักษ์ใหญ่ด้าน online ขณะนั้นต้องการเข้าซื้อ twitter
เอฟนั้นยังคงเป็นคนลงทุนหลักใน twitter เพียงคนเดียว ยังคงใส่เม็ดเงินเข้ามาในท twitter อย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจาก twitter ได้เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ต้องใช้ทรัพยากร server เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเงินที่จะมาจ้างพนักงานที่จะเข้ามาดูแลก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งถึงตอนนี้ เอฟ คิดว่า twitter ควรมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ และเริ่มมีแนวคิดที่จะขายกิจการหากมีผู้มาเสนอซื้อไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ ซึ่งนั่นจะทำให้ ทั้ง แจ๊ค และ บิซ กลายเป็นเศรษฐีทันที จากมูลค่าหุ้นที่เขาได้รับไป
และเป็น Yahoo ที่ได้ทำการเจรจาเป็นรายแรก โดยเอฟนำทีมเข้าไปเจรจา ซึ่งพร้อมจะขายทันทีหากได้มูลค่า 100 ล้านเหรียญ แต่ Yahoo นั้นเสนอให้เพียงแค่ สิบสองล้านเหรียญเพียงเท่านั้น รวมถึงมีการขู่ว่า หากไม่ขาย จะสร้างบริการแบบเดียวกันขึ้นมาแข่งทันที เพราะการสร้างบริการแบบ Twitter นั้นสามารถทำเลียนแบบได้ง่ายมากในเชิงวิศวกรรม
และนั่นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ เอฟ ต้องกลับมาลุยเต็มตัวกับ Twitter อีกครั้ง เนื่องจากการดูถูกจาก Yahoo ที่ยื่นข้อเสนอเพียง สิบสองล้านเหรียญนั้น เป็นการดูถูกกันเกินไป เพราะ twitter กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีนักลงทุนรายอื่น ๆ ที่ต้องการจะลงทุนมากมาย
ตอนนี้ปัญหาใหญ่ของ Twitter ที่ต้องการพิสูจน์ฝีมือของ แจ๊ค คือ ปัญหาการล่มที่เกิดขึ้นบ่อยมาก เนื่องมาจากโครงสร้างของโปรแกรม ที่ทำมาแบบลวก ๆ ภายในสองอาทิตย์ ทำให้พอปริมาณ คนใช้งานเริ่มเยอะ ทำให้เกิดปัญหากับ server ทันที ไม่สามารถรองรับโหลดจำนวนมหาศาลที่กำลังเติบโตขึ้นได้
ปัญหาใหญ่ของ twitter คือล่มบ่อยมาก
และเป็นที่มาของการต้องหานักลงทุนจริงๆ  จัง  ๆ ซักทีเพื่อขยายทีมงาน รวมถึงขยายServer เพื่อรองรับบริการ ซึ่งสุดท้ายนักลงทุนที่ได้ลงทุนใน Twitter รายแรกคือ เฟร็ด วิลสัน นักลงทุนชื่อดังจากนิวยอร์ค ที่ตาม Twitter มาตั้งแต่งาน SXSW และคอยชื่นชม Twitter ผ่านสื่อต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยลงทุนมูลค่ากว่า 5 ล้านเหรียญ ทำให้มูลค่ารวมของบริษัทกลายเป็น 20 ล้านเหรียญทันที
เฟร็ด วิลสัน ตาม twitter มาตั้งแต่งาน SXSW
ซึ่งหลังจากเพิ่มทีมงาน และ เพิ่มจำนวน server จากเงินลงทุนส่วนแรกจาก เฟร็ด วิลสัน มาแล้วก็ตาม แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ตอนนี้ ทีมงาน twitter ทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยการให้มีการแจ้งเตือนไปยังมือถือ ของเหล่า วิศวกร หาก server มีแนวโน้มที่จะล่ม ทำให้แต่ละวัน มีแต่เสียงแจ้งเตือนเหล่านี้มาตลอดแทบทุก ชั่วโมง จนเหล่าวิศวกร ไม่เป็นอันหลับอันนอน
ทีมงานใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการ Restart Server เหล่านี้ ซึ่งปัญหาไม่ได้ถูกแก้ที่ต้นตอของปัญหาจริงๆ  และที่สำคัญ คือ เหล่าวิศวกร แทบจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าส่วนที่พังนั้น มาจากส่วนไหนกันแน่ ซึ่งมันเป็นเรื่องการบริหารงานของ แจ๊ค โดยตรง ที่จะทำการกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
และความที่ แจ๊ค ก็ไม่ได้เป็นอัจฉริยะ ทางด้านคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด แม้จะเป็นคนสร้าง twitter ขึ้นมาด้วยตัวเองกับทีมงานไม่กี่คน แต่ก็ไม่สามารถเยียวยา สถานการณ์ของ twitter ได้ ผู้คนใช้งานเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกัน
และมีเหตุการณ์ ที่ ผู้ใช้งานร่วมกันประท้วงการล่มของ twitter ด้วยการเลิกใช้งานเป็นจำนวน 24 ชม. ต้องถือว่า twitter นั้นโชคดีที่ตอนนั้นยังไม่ได้มีคู่แข่งอย่างเป็นทางการในบริการแบบเดียวกัน ทำให้คนยังไม่ได้หนีออกไปจากระบบมากนัก
แม้ว่าแจ๊ค นั้นอยากจะเรียนรู้วิธีการจัดการ วิธีบริหารบริษัทและการเป็น CEO ที่ดี แต่เขาก็มักพบว่า ตัวเองนั้นอับจนหนทางว่าจะทำอะไรต่อไป ซึ่งบ่งบอกได้ว่า ฝีมือของเขายังไม่ถึงขั้น แทนที่จะเผชิญหน้าปัญหาพร้อม ๆ กับพนักงาน แจ๊ค กลับใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ เดินวนเป็นวงกลม รอบเซาท์พาร์ก โดยมีสีหน้าหงุดหงิดตลอดเวลา
ตอนนี้ เอฟ ก็เริ่มจะไม่สนใจแล้วว่ามันเป็นความผิดของใคร เป็นที่แจ๊คหรือไม่? ตอนนี้เงินส่วนตัวของเขามีความสุ่มเสี่ยงอีกครั้ง ทำให้เอฟ เริ่มหมดความอดทนกับความจริงที่ว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้รับการแก้ไข และสถานการณ์ของ twitter ตอนนี้เริ่มแย่ลงไปทุกขณะ
และเอฟต้องคุยกับ แจ๊ค อย่างจริง ๆ จัง ๆ โดยเรียกแจ๊คเข้ามาคุยพร้อมด้วย โยนคำพูดที่เรียกได้ว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ กำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆไปตลอดกาล
“นายเป็นได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างช่างตัดเสื้อหรือ CEO ของ twitter” เอฟ กล่าวกับแจ๊ค
แม้ว่าแจ๊คนั้น จะทำงานหนัก มาถึงออฟฟิสก่อนใครเพื่อนเสมอ แต่ เขาก็มีกิจกรรมพิเศษในช่วงเย็นเสมอ เช่น เรียนดรออิ้ง สเก็ตช์ภาพนู้ด เรียนโยคะร้อน แถมยังลงทะเบียนที่โรงเรียนสอนออกแบบและแฟชั่นเพื่อเรียนวิธีตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะเขายังคิดถึงอาชีพด้านแฟชั่นในอนาคตนี้อยู่
นั่นทำให้เอฟ มองว่า แจ๊ค ยังทำงานหนักไม่พอ อยู่ในออฟฟิสไม่มากพอ และถูกดึงความสนใจโดยงานอดิเรกของเขา ทั้งที่ ปัญหาใน twitter มีมากมายก่ายกองขนาดนี้ หรือแม้กระทั่งแนวคิดพื้นฐานอย่างเช่น มุมมองต่อ twitter ว่ามันคืออะไร? ทั้งสองก็มองต่างกัน
แจ๊คมอง twitter ว่าเป็นตัวอัปเดทสถานะตลอดมา เป็นที่ ๆ ใช้บอกกล่าวว่าเขา อยู่ที่ไหน และกำลังทำอะไรอยู่
ส่วนเอฟ ได้รับอิทธิพลจาก blogger มาโดยตรง และมองว่า twitter นั้นเป็นหนทางในการแบ่งปันว่า คนอื่น ๆ ที่อยู่ไหน และ คนอื่น ๆ กำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งเอฟมองว่ามันเป็นวิธีการแสดงว่า เกิดอะไรขึ้น ๆ รอบ ๆ ตัวคุณ twitter เป็นสถานที่สำหรับ ความอยากรู้อยากเห็นและข้อมูล
หลังจากจบการพูดคุยกันในครั้งนี้ นั้น แม้จะไม่มีการทะเลาะโต้เถียงกันของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด แต่มันทำให้ตอนนี้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ถึงคราวแตกหัก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ความสัมพันธ์ของผู้ก่อตั้งทั้งสองถึงคราวแตกหัก
แต่แม้ความสัมพันธ์ของผู้ก่อตั้งทั้งสองนั้นจะมีปัญหา แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วของ twitter ได้เลย ในเดือน พฤษภาคม ปี 2008 ตอนนี้จำนวนผู้ใช้งานทะลุ หนึ่งล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีการ tweet มากกว่า 15 ล้านครั้งต่อเดือน และที่สำคัญตอนนี้มันกำลังกระจายไปทั่วโลกแล้ว เหล่า เซเลบริตี้ เริ่มเข้ามาใช้งาน และบรรดาแฟนคลับของพวกเค้าเหล่านั้นก็เริ่มตามเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล
เริ่มมีการใช้ twitter อย่างเป็นทางการในสำนักข่าวใหญ่ ๆ ตอนนี้ทั้งโลกเริ่มเรียนรู้ว่า จะใช้ twitter เพื่อทำอะไร มันจะปฏิวัติการส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วที่สุด ตั้งแต่เคยมีการทำข่าวมาบนโลกใบนี้
สำนักข่าวใหญ่ ๆ เริ่มมาใช้งาน twitter และเห็นข้อดีของมัน
และตอนนี้ มีการร่วมลงทุนรอบใหม่จาก สปาร์ก แคปิตอล  และ บิฌาน ซาเบต์ มูลค่ากว่า 14 ล้านเหรียญ รวมถึง อีก 4 ล้านเหรียญจาก เจฟฟ์ เบซอส แห่ง Amazon.com ทำให้มูลค่าของ twitter พุ่งขึ้นไปแตะ 80 ล้านเหรียญเป็นที่เรียบร้อย และทำให้ บิฌาน กลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ และมีที่นั่งในบอร์ดไปในที่สุด
บิฌาน ซาเบต์ เริ่มเข้ามามีบทบาทผ่านการลงทุนของเขาใน twitter
แต่การมาของ บิฌาน ที่เข้ามาลงทุนผ่านการติดต่อของเอฟ นั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ twitter เพราะพวกเค้ากำลังวางแผนที่จะขจัด แจ๊ค ออกจากการเป็น CEO ของบริษัท โดยร่วมมือกับ เอฟ และ เฟร็ด นักลงทุนรายแรก โดยมีการคุยทาง email อย่างลับ ๆ ของพวกเขาทั้งสามคน
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นการทำผิดพลาดอย่างมหันต์ของคนระดับ บิฌาน ด้วยความเหนื่อยอ่อนจากการไม่ค่อยได้นอนของเขา ทำให้เขาตอบ email นึงพลาดไป โดยตั้งใจจะคุยกับ เอฟ และ เฟร็ด เท่านั้น แต่เขาดันไปกด Replay All ซึ่งในนั้น มี แจ๊ค อยู่ใน mailing list ด้วย
ในเนื้อหา email นั้นเป็นการคุยกันเรื่อง แจ๊ค ว่าจะให้ไปอยู่ตำแหน่งใดหลังจากปลดเค้าจากตำแหน่ง CEO
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้ แจ๊คได้รู้ว่าพวกเขาทั้งสามกำลังวางแผนเพื่อหาทางปลดเขาอยู่นั่นเอง
ซึ่งก่อนหน้านี้แผนการทั้งหมดนั้น แจ๊คยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวแค่พอระแคะระคายอยู่บ้างเท่านั้น ทำให้ตอนนี้เค้าได้รับรู้อย่างเป็นทางการแล้วว่า สถานะ เก้าอี้ CEO ของเค้านั้นกำลังสั่นคลอนอย่างยิ่ง และเขากำลังจะถูกแทงข้างหลังโดยเอฟนั่นเอง
หลังจากได้อ่าน email ฉบับนี้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับ twitter แล้วแจ๊ค จะต่อสู้อย่างไร กับแผนการอันแยบยลของเอฟ ที่จะมาเลื่อยเก้าอี้ CEO ของเขา โปรดติดตามตอนต่อไป
อ่านตอนที่ 7 : Let The War Begin
Credit แหล่งข้อมูลบทความ
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา