16 ธ.ค. 2018 เวลา 00:33 • ธุรกิจ
อยากได้อะไร GoPuff จัดให้ 24 ชม
ในค่ำคืนที่สุดแสนโรแมนติก คุณกำลังคลอเคลียกับคนรักอย่างดูดดื่ม แต่แล้วจู่ ๆ คุณก็นึกขึ้นได้ว่า “วิบัติล่ะ! ลืมซื้อถุงยาง จะขับรถไปซื้อ ก็โคตรไกล ทำไงดี ๆ”
ระหว่างนั้น แฟนสาวของคุณก็กำลังเครียดอยู่เช่นกัน “ตายแล้ว! ท่าทางที่รักจะลืมซื้อถุงยาง เราก็ดันลืมพกยาคุมฉุกเฉินมาเสียด้วย ป่านนี้ร้านยาปิดแล้วด้วย ทำไงดี ๆ”
สำหรับคู่รักที่นิยมการมี safe sex หากตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ค่ำคืนอันสุดแสนรัญจวนใจคงจบด้วยการแยกย้ายอย่างเซ็ง ๆ หรือไม่ก็จูงมือกันนั่งสมาธิสงบจิตสงบใจกันไป
แต่เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับคนในฟิลาเดลเฟีย หรืออีก 20 เมืองใหญ่ในอเมริกา ที่มีบริการของ GoPuff สตาร์ทอัพที่เราจะพูดถึงในวันนี้
นอกจากจะมีบริการส่งถุงยาง และยาคุมฉุกเฉินภายใน 30 นาที ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว GoPuff ยังมีสินค้าอีกมากมายให้เลือกช้อป โดยเสียค่าส่งแค่ 1.95 เหรียญ ถ้าสั่งสินค้าเกิน 49 เหรียญ จัดส่งฟรี
GoPuff ก่อตั้งโดย ราฟาเอล อิลิชาเวฟ และ ยาเคียร์ โกลา นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเดร็กเซล ปัจจุบัน จัดเป็นเทค สตาร์ทอัพที่มาแรงที่สุดในฟิลลาเดเฟีย เพราะเป็นบริการ on-demand delivery ที่สามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลา
อิลิชาเวฟและโกลา วางตำแหน่งให้ GoPuff เป็น บริการโดย “ชาวมิลเลนเนียล เพื่อ ชาวมิลเลนเนียล” เน้นลูกค้าหนุ่มสาววัย 20 กว่า ๆ โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
สินค้าที่ขายก็ล้วนตอบโจทย์ไลฟสไตล์ของคนยุคนี้เป็นหลัก ทั้งขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม เครื่องดื่ม ของจัดปาร์ตี้ เครื่องเขียน อาหารแช่แข็ง ไปจนถึงของใช้ที่ทางแบรนด์จัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ “จำเป็นต่อมนุษย์” ได้แก่ ยาสีฟัน แชมพู น้ำยาทำความสะอาด เลยไปจนถึง…. ถุงยาง ยาคุมฉุกเฉิน และ อะแฮ่ม…. sex toy เป็นต้น
อิลิชาเวฟ (ตอนนี้อายุ 24 ปี) เล่าว่า เขากับโกลา สนิทกันตั้งแต่สมัยอยู่มหาวิทยาลัย และตามประสาวัยรุ่น ก็ย่อมต้องมีปาร์ตี้กันบ้าง ซึ่ง โกลา ดันเป็นคนเดียวที่มีรถ เลยต้องออกไปตระเวนซื้อของกินและเครื่องดื่มมาสังเวยผองเพื่อน เขาเลยคิดว่า หากมีบริการให้สั่งซื้อสินค้าพวกนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ต้องเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักศึกษาผู้กระหายปาร์ตี้ทั้งหลายเป็นแน่
เขาเลยชวนอิลิชาเวฟก่อตั้ง GoPuff โดยจ้างนักพัฒนาแอพจากยูเครนให้ช่วยสร้างแอพให้ และเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2014 โดย 4 เดือนแรก ทั้งโกลาและอิลิชาเวฟ ต้องทำทุกอย่างเอง ทั้งหาโกดังเพื่อสต๊อกสินค้า ออกไปโปรโมทตามแคมปัสต่าง ๆ และขับรถไปส่งสินค้า เฉลี่ยแล้วทำงานวันละ 17 ชั่วโมง ออร์เดอร์สุดท้ายมักจะจบที่ประมาณ ตี 3 พอตี 4 ก็ต้องวิดิโอ คอลล์คุยกับนักพัฒนาแอพที่ยูเครนเพื่อแก้ไข bug ต่าง ๆ ที่พบระหว่างการใช้งาน
ถึงจะเหนื่อยในช่วงแรก แต่บริการก็เริ่มเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา บางคนขนาดอพาร์ทเมนต์อยู่ติดกับร้านสะดวกซื้อ ยังขี้เกียจเดินลงมาซื้อ แต่เลือกหยิบโทรศัพท์กดสั่งสินค้าจากแอพ GoPuff แทน
ถึงนักลงทุนจะเริ่มเบื่อ ๆ กับบริการ on-demand delivery ที่ล้มหายตายจากกันไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน GoPuff ก็ยังสามารถระดมทุนรอบแรกมาได้ถึง 8 ล้านเหรียญ เพราะมีกลุ่มเป้าหมายทึ่ชัดเจนและมี แบรนด์ที่แข็งแรง
หากเข้าเวบ GoPuff จะเห็นว่าภาษาที่ใช้จะออกแนวกวน ๆ ขำ ๆ สอดคล้องกับบุคลิกของแบรนด์ที่วางไว้ตั้งแต่ต้นให้เป็นแบรนด์ขี้เล่น เป็นกันเอง เข้าถึงง่าย
สื่อที่ GoPuff ใช้มากที่สุด นอกจากเวบ และโซเชียล มีเดีย อย่างเฟสบุ๊คและอินสตาแกรม ก็คือ บิลบอร์ดข้างทาง หนึ่งในสื่อโบราณที่ชาวมิลเลลเนียลอย่าง อิลิชาเวฟ เชื่อว่า ยังมีประสิทธิภาพในเรื่องการสร้างความจดจำ (ต่อให้ขี้เกียจขนาดไหน คนเราก็ยังต้องเดินทาง ยังไงก็ต้องเหลือบเห็นป้ายโฆษณากับบ้างล่ะ)
ปัจจุบัน บริษัทมีสินค้าในสต๊อกกว่า 3,000 รายการ และมีเจ้าหน้าที่ส่งของกว่า 1,500 คน โดยเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ ทำงานกะละ 8 ชั่วโมง มีรายได้เฉลี่ยกะละ 130 เหรียญ
อิลิชาเวฟบอกว่าบริษัทมีกำไรในเกือบทุกเมืองที่เปิดให้บริการ อาจเป็นเพราะ GoPuff ไม่ได้เน้นขายของถูกมาก (ราคาจะอยู่ระดับเดียวกับร้านสะดวกซื้อทั่วไป) แต่เน้นชูจุดขายเรื่องบริการ 24 ชม และมีคูปองส่วนลดเป็นระยะ ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายแทน
สิ่งที่อิลิชาเวฟ และ โกลา วางแผนจะทำต่อไป คือ ขยาย supply chain พร้อมเปิดตลาดใหม่ ๆ ดังนั้นอีกไม่นาน อาจได้เห็นสินค้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งพวกอาหารเด็กอ่อนและยาใน GoPuff ด้วย
อ้างอิง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ “สตาร์ทอัพ: ปัญหาทำเงิน” ของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ใน นสพ ประชาชาติธุรกิจทุกสัปดาห์
โฆษณา