17 ธ.ค. 2018 เวลา 00:31 • ธุรกิจ
Rent the Runway ซื้อแพงทำไม เช่าเอาดีกว่า
สาว ๆ ที่อยากมีเสื้อผ้าแบรนด์ดังไว้ใส่เฉิดฉายดุจเดินบนรันเวย์ไม่ซ้ำวัน ต้องชอบบริการที่เราจะพูดถึงในวันนี้ค่ะ
Rent the Runway คือ สตาร์ทอัพที่ให้บริการเช่าเสื้อผ้าและเครื่องประดับกว่าแสนรายการจาก 500 แบรนด์หรู ให้เลือกใส่ไม่อั้นเพียงแค่เดือนละ 159 เหรียญ
เจนนิเฟอร์ ไฮแมน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท คิดบริการนี้ขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนตอนที่เริ่มมองเห็นเทรนด์สำคัญ 2 เทรนด์
หนึ่ง คือ ความนิยมในโซเชียล มีเดียของผู้บริโภครุ่นใหม่
สอง คือ การให้ค่ากับ “ประสบการณ์” มากกว่า การยึดติดกับการเป็น “เจ้าของ” สิ่งนั้น ๆ
เมื่อผนวก 2 เทรนด์นี้เข้าด้วยกัน ทำให้เห็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ 1) อยากดูดี มีตัวตน และเป็นที่ยอมรับ ในโลกโซเชียล ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการมีเสื้อผ้าหน้าผมที่่เป๊ะปัง และการใส่เสื้อตัวเดิมซ้ำเกิน 2 หน เป็นอะไรที่ผิดธรรมเนียมมาก และ 2) ไม่ตะขิดตะขวงที่จะ ”แชร์” ของร่วมกับคนอื่น เช่น บ้าน (airbnb) รถ (uber) เพื่อแลกกับประสบการณ์ที่ดี เช่น สะดวก รวดเร็ว และประหยัด เป็นต้น
เริ่มแรกตอนเปิดให้บริการใหม่ ๆ Rent the Runway ให้เช่าเฉพาะชุดราตรีออกงานเป็นหลัก ภายหลังจึงขยายสินค้าให้ครอบคลุมชุดทำงาน ชุดปาร์ตี้ ชุดออกกำลังกาย ไปจนถึงชุดคลุมท้อง นอกจากนี้ยัง accessories ตั้งแต่เครื่องประดับ แว่นตา กระเป๋า ให้เลือกสวมใส่ได้ทุกวาระโอกาส
โดยมี 3 แพคเกจให้เลือก: 1) เช่า 1 ชิ้น ครั้งละ 30 เหรียญ 2) เช่า 4 ชิ้น/เดือน ราคา 89 เหรียญ และ 3) เช่าแบบ unlimited เดือนละ 159 เหรียญ (รอบละ 4 ชุด เมื่อส่งคืนแล้วจึงจะสามารถเช่าชุดใหม่ได้)
ทุกแพคเกจมาพร้อม บริการรับส่งฟรี บริการซักแห้ง และค่าประกันความเสียหาย
นอกจากนี้ ยังมี clearance sale ให้เลือกช้อปสินค้าลดราคาอีกเป็นระยะ ๆ ใส่ตัวไหนแล้วชอบอยากได้เป็นของตัวเอง ก็รอซื้อช่วง sale ซึ่งจะลดสูงสุดถึง 80%
เจนนิเฟอร์บอกว่า ลูกค้ามีอายุเฉลี่ย 33 ปี 90% เป็นเวิร์คกิ้ง วูแมน ทำงานในเมืองใหญ่
เธอบอกว่า ปกติแล้วผู้หญิงชอบซื้อเสื้อผ้ามาเก็บ เพราะหยิบมาใช้จริง ๆ ไม่ถึง 20% ที่เหลือก็ทิ้งไว้ให้รกตู้เฉย ๆ
ดังนั้น หลายคนจึงนิยมใช้แพคเกจ unlimited ของ Rent the Runway เพราะค่าใช้จ่ายต่อปีก็ไม่ต่างกันมาก (คนอเมริกันโดยเฉลี่ยซื้อเสื้อผ้าปีละ 1800 เหรียญ) แต่ได้ใส่เสิ้อแบรนด์คอลเลคชั่นใหม่ ๆ ตลอด (แจ็ดเกจบางแบรนด์ ตัวหนึ่งก็ปาเข้าไป 2 พันกว่าเหรียญแล้ว) แถมไม่ต้องเสียค่าซักแห้งเอง
เจนนิเฟอร์บอกว่าตั้งแต่ออกแพคเกจ unlimited ในปี 2016 ทราฟฟิกที่ร้านทั้ง 5 สาขา (นิวยอร์ก ซานฟราน ชิคาโก วอชิงตัน และ แคลิฟลอเนีย) พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เพราะลูกค้าเริ่มเปลี่ยนวิธีการใช้บริการ จากที่เคยสั่งผ่านเวบ ก็เปลี่ยนมาเลือกชุดเองที่ร้านตอนเช้าเพื่อใส่ไปทำงาน และตอนเย็นก็แวะมาอีกรอบเพื่อเลือกชุดสำหรับวันต่อไป เฉลี่ยแล้วลูกค้าจะเช่าชุด/accessories ประมาณเดือนละ 10-15 ชิ้น ทำให้ Rent the Runway กลายเป็น “ตู้เสิ้อผ้า” ขนาดใหญ่สำหรับลูกค้า สมกับที่เจนนิเฟอร์มุ่งมั่นอยากสร้าง “Closet in the cloud” ให้เป็นทางเลือกของสาวยุคใหม่
 
นอกจากเรื่องความคุ้มค่าแล้ว ลูกค้าหลายคนยังมองว่าการแชร์เสื้อผ้ากันใส่ ทำให้มีปริมาณเสื้อผ้าเหลือทิ้งน้อยลงเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว
ตอนนี้ Rent the Runway มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ มียอดขายปีที่แล้วกว่า 100 ล้านเหรียญ และปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายอีก 3 เท่า
ถึงจำนวนลูกค้าที่เช่าเสื้อผ้ายังคิดเป็นแค่ 6% ของลูกค้าเสื้อผ้าทั้งหมด แต่ตลาดนี้มีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มมองว่าการ “เช่า” และ “แชร์” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และไม่ได้แปลว่า จนหรือไม่มีปัญญาจะซิ้อ แต่เป็น ความฉลาดในการใช้เงิน แถมดู “คูล” ด้วยซ้ำที่ได้ช่วยลดขยะเสื้อผ้า
ไม่แน่ว่า อีกหน่อยใครอวดรวยว่า ซื้อเดรสตัวละแสน กระเป๋าใบละล้าน มาใส่ อาจแลดู เชย หรือ ไม่ค่อยฉลาด ก็เป็นได้
อ้างอิง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ “สตาร์ทอัพ: ปัญหาทำเงิน” ของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ใน นสพ ประชาชาติธุรกิจทุกสัปดาห์
โฆษณา