21 ธ.ค. 2018 เวลา 05:11 • ศิลปะ & ออกแบบ
พื้นฐานการควบคุมกล้องสำหรับมือใหม่
พื้นฐานการควบคุมกล้องสำหรับมือใหม่ สำหรับคนที่ไม่มีทักษะเรื่องกล้องเลย บทความนี้ตั้งใจจะให้ไว้สำหรับคนที่กำลังจะเริ่มต้น ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีหลายคนครับอยากจะเริ่มต้นจากตรงนี้ หวังว่าเนื้อหานี้จะช่วยให้เข้าใจพื้นฐานการควบคุมกล้องได้เป็นอย่างดีนะครับ
พื้นฐานการควบคุมกล้องสำหรับมือใหม่
1.ปุ่มต่าง ๆ การควบคุมพื้นฐานโดยรอบของกล้อง
ในปุ่มต่าง ๆ จะให้ไว้คร่าว ๆ สำหรับคนที่เริ่มเล่นกล้องนะครับ ซึ่งแต่ละแบรนด์อาจจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่ตรงนี้ให้ไว้สำหรับคนที่อยากจะรู้ภาพรวมครับ สามารถใช้อ้างอิงกีบกล้องของเราได้นะ
1.1 ปุ่มชัตเตอร์ -> ใช้สำหรับกดถ่ายภาพครับ
1.2 Mode Dial -> ใช้สำหรับเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพ
1.3 Pop-Up Flash -> ไฟแฟลชเสริมสำหรับถ่ายภาพในที่แสงน้อย
1.4 Camera Lens -> เลนส์ของกล้อง
1.5 Aperture -> รูรับแสงของกล้อง ยิ่งรูรับแสงกว้าง แสงยิ่งเข้ามาที่กล้องมากขึ้น
1.6 Lens Release ->ปุ่มล็อคเลนส์ ถ้ากดตรงนี้ให้สุดจะทำให้เราหมุนเลนส์ออกมาจากตัวกล้องได้
1.7 View Finder -> ช่องมองภาพ
1.8 Hot Shoe -> เป็นช่องสำหรับใส่แฟลชเสริม หรืออุปกรณ์เสริมกล้องอื่น ๆ
1.9 White Balance -> ปุ่มปรับค่า White Balance
1.10 LCD Screen -> หน้าจอ LCD
1.11 Storage -> ช่องใส่ Memory Card
1.12 Battery -> ช่องใส่ Battery
2. Image Sensor
ส่วนประกอบของกล้องที่สำคัญมากอีกอย่างก็คือเซ็นเซอร์ครับ เซ็นเซอร์เขาจะมีหน้าที่ในการรับแสง หรือรับภาพเข้ามาในกล้องนั่นแหละ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการถ่ายภาพ รูปของเราจะเก็บภาพไว้ในแผ่นแก้วหรือว่าฟิล์มครับ แต่วันนี้กล้องดิจิตอลจะรับภาพไว้ที่เซ็นเซอร์กล้อง ซึ่งในปัจจุบันจะมีเซ็นเซอร์หลายขนาดตั้งแต่ Micro 4/3, APS-C, Full Frame แล้วก็เทคโนโลยีของ Sensor แต่ละแบรนด์จะมีความแตกต่างกันออกไปครับ
3. เลนส์ของกล้อง
เลนส์เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากแก้ว คุณภาพสูง บอดี้อาจจะเป็นได้ทั้งเหล็กหรือพลาสติกแล้วแต่ว่าเลนส์ตัวนั้นอยู่ในเกรดไหน ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน เลนส์แต่ละตัวถูกออกแบบมาให้ใช้งานในหน้าที่ ที่มีความแตกต่างกัน เช่น ระยะมุมมองต่างกัน รูรับแสงมีความแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพที่ออกมามีความต่าง บางเลนส์เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคล หรือบางเลนส์เหมาะกับการถ่ายวิวเป็นต้น
เลนส์หลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะหลัก ๆ ด้วยกัน
3.1 Telephoto -> ระยะนี้ช่วงเลนส์จะไกลมาก เหมาะกับการถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ไกล ๆ เลยล่ะ
3.2 Normal -> เป็นเลนส์ระยะที่อยู่ในช่วงสายตาปกติ นิยมใช้กันมาก เพราะให้มุมมองที่ใกล้เคียงความเป็นจริง
3.3 Wide -> เลนส์มุมกว้างมาก ๆ ส่วนใหญ่แล้วนิยมเอาไปถ่ายวิว แต่จริง ๆ ถ่ายได้หลากหลายเหมือนกัน เป็นเลนส์ที่จะทำให้มุมมองเราภาพเรากว้างมาก ๆ
3.4 Macro/Closeup -> เลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพระยะใกล้ ใกล้มาก ๆ เลยล่ะ
4. โหมดถ่ายภาพ
กล้อง DSLR และ Mirrorless มีโหมดถ่ายภาพที่หลากหลายรูปแบบเพื่อให้กล้องสามารถตัดสินใจในการเซ็ตค่าสำหรับการถ่ายภาพได้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจะมีทั้งโหมดอัตโนมัติ และกึ่งอัตโนมัติเลยทีเดียว
4.1 Basic Mode โหมดสำหรับมือใหม่
โหมดกลุ่มนี้กล้องจะคำนวณให้เหมาะสมว่ากำลังจะใช้ถ่ายอะไรเป็นหลัก ถ้ามีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เขาถ่ายภาพไม่เป็นเลย ไม่รู้ค่าใด ๆ แต่อยากถ่ายรูปได้ แนะนำให้เขาใช้โหมดนี้
4.1.1 Automatic -> โหมดออโต้เลย ยกกล้องถ่ายอย่างเดียว สบาย
4.1.2 Portrait -> โหมดถ่ายภาพบุคคล
4.1.3 Macro -> โหมดถ่ายภาพระยะใกล้ ใกล้มาก ๆ เช่น แมลง ดอกไม้
4.1.4 Landscape -> โหมดถ่ายวิว
4.1.5 Sport -> โหมดถ่ายภาพกีฬา
4.1.6 Night Portrait -> โหมดถ่ายภาพกลางคืน
4.2 Advanced Modes โหมดสำหรับคนที่เริ่มเก่งแล้ว
โหมดพวกนี้จะกึ่งอัตโนมัติ แต่จะปล่อยให้เราตั้งค่าบางอย่างอิสระได้
4.2.1 Program -> โหมด P เหมือน ๆ โหมด Auto แต่ให้เราเลือกปรับค่าบางอย่างได้บ้าง
4.2.2 Shutter Priority -> โหมดนี้เลือกความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก ค่าที่เหลืออื่น ๆ กล้องปรับ Auto ให้หมด
4.2.3 Aperture Priority ->โหมดนี้จะเลือกค่ารูรับแสงเป็นหลัก ค่าที่เหลืออื่น ๆ กล้องปรับ Auto ให้หมด
4.2.4 Manual Exposure -> โหมดตั้งค่าทุกอย่างแบบอิสระได้หมด
4.2.5 Auto Depth of Field -> โหมดที่ใช้ควบคุมระยะชัดให้แบบอัตโนมัติ เขาพยายามจะให้อะไรที่อยู่ในระยะโฟกัสนั้นมีความชัด (ปกติเวลาคุมระยะชัดเราใช้ค่ารูรับแสงคุมครับ เขาปรับออโต้เพื่อคุมระยะชัดให้ ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน)
4.2.6 Flash Off -> ปิดแฟลช (ปัจจุบันเป็นความสามารถเสริมในตัวกล้องละ ใช้โหมดอื่นแล้วสามารถปิดแฟลชได้)
5. แฟลชหัวกล้อง Built in Flash
แฟลชหัวกล้องเป็นแฟลชที่มาพร้อมกับกล้องดิจิตอลทุกรุ่น กำลังแฟลชมักจะปรับตามระยะของกล้องและสภาพแสงของกล้องครับ ส่วนใหญ่ก็จะมีให้ใช้บ้างในกล้องระดับเริ่มต้น กล้องกลุ่มโปรมักไม่ค่อยมีให้ใช้ละ (โปรใช้แฟลชแยกเองอยู่แล้ว)
สำหรับมือใหม่ แฟลชหัวกล้องก็ควรใช้ในยามจำเป็นครับ เพราะแสงแฟลชค่อนข้างแข็งเวลายิงตรง ๆ แต่ก็เป็นตัวช่วยเวลาเจอแสงน้อยมาก ๆ ทำให้เราได้ภาพถ่ายกลับบ้านมาครับ
6. ช่องมองภาพ ทั้งแบบ Electronic View Finder (EVF) และ Optical View Finder (OVF)
กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะมีช่องมองภาพสองระบบใหญ่ ๆ คือ ช่องมองภาพแบบปกติที่อยู่ใน DSLR ที่จะเป็นการสะท้อนของภาพผ่านระจก เข้ามาที่ช่องมอง อีกแบบจะเป็นจออิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ใน Mirrorless ปัจจุบันครับ
ปัจจุบันนี้นิยมช่องมองแบบ EVF ซะมากแล้วแหละ เพราะส่วนใหญ่ในตลาดเป็นกล้อง Mirrorless ครับ แล้วก็ช่องมองแบบนี้ทำให้เราเห็นภาพจริง ๆ ก่อนถ่าย ถ้าเราเซ็ตค่าสีอะไรเพิ่ม จอ EVF จะแสดงผลสีนั้น ๆ เข้ามาไว้ก่อนถ่ายเลย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเบสิกมาก ๆ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มครับ หวังว่าจะทำให้เราเข้าใจกล้องมากยิ่งขึ้นนะครับ
อ่านบทเรียนถ่ายภาพเพิ่มเติมได้ทุกวันที่
โฆษณา