24 ธ.ค. 2018 เวลา 12:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สำรวจสถานะอุตสาหกรรมดาวเทียมไทย หลังส่งดาวเทียมผลิตเองดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรโลก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยส่งดาวเทียมที่ผลิตเองในประเทศขึ้นสู่วงโคจรของโลก นับเป็นการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมดาวเทียมในประเทศ อย่างไรก็ตามนักวิชาการชี้ว่าไทยยังต้องพัฒนาอีกหลายประการเพื่อให้มีความก้าวหน้าตามทันประเทศอื่นทั่วโลก
ทีมงานพัฒนาดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ต่างพากันดีใจอย่างมาก เมื่อจรวดฟอลคอน 9 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์กในสหรัฐฯ ในตอนหัวค่ำของวันที่ 3 ธ.ค. (เวลา 01.32 น. วันที่ 4 ธ.ค. ของไทย)
"นับว่าเราประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปได้" ศ.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา หัวหน้าโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา (KNACKSAT) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. กล่าว
ศ.สุวัฒน์ ยังได้เล่าอีกด้วยว่าทางโครงการได้ดำเนินงานจัดทำดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 2555 โดยได้เงินทุนราว 9 ล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ภาพดาวพฤหัสบดีจากยานจูโนของนาซาที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนยานวอยเอเจอร์ 2 เดินทางพ้นขอบเขตลมสุริยะแล้ว
"นักศึกษาของ มจพ. ได้ช่วยกันออกแบบตัวดาวเทียมและระบบภายในต่าง ๆ เช่น ระบบการทรงตัว การส่งคลื่นวิทยุฯ รวมทั้งพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับดาวเทียมได้เมื่อขึ้นไปยังวงโคจรโลกแล้ว"
เขาระบุว่าดาวเทียมมีบทบาทและเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของคนเราอย่างมาก "เพียงแต่ว่าเราไม่รู้สึกเท่านั้นเอง สัญญาณโทรทัศน์ หรือสัญญาณโทรศัพท์ รวมทั้งข้อมูลสภาพอากาศ เราก็ได้มาจากดาวเทียม"
"ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ไทยจะต้องพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้ก้าวทันประเทศอื่นอุตสาหกรรมดาวเทียมนี้ แม้ว่าไทยจะมาช้า แต่ว่าเราก็กำลังก้าวหน้าไป" หัวหน้าโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมของ มจพ. ระบุ
ต้นทุนที่ถูกลง
ดาวเทียมแนคแซทนั้นเป็นแบบ CubeSat มีน้ำหนักเพียง 1 กิโลกรัม กำหนดให้เข้าสู่วงโคจรโลกที่ความสูง 600 กิโลเมตร เพื่อรับข้อมูลคำสั่งการถ่ายภาพจากระยะไกลและส่งข้อมูลภาพถ่ายกลับมา
"สเปซเอ็กซ์ก็ได้ส่งดาวเทียมแนคแซทได้พร้อมกับดาวเทียมอื่น ๆ รวม 64 ดวง จาก 17 ประเทศ ซึ่งนับเป็นการส่งดาวเทียมมากเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งเขาประสบความสำเร็จในการนำเอาตัวผลักดัน (booster) ของจรวดมาใช้ซ้ำได้ หมายความว่าต้นทุนของการส่งดาวเทียมจะถูกลงมาก การที่เราจะมีดาวเทียมเอาไว้ทำประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ก็ไม่เกินเอื้อมแล้ว" ศ.สุวัฒน์กล่าว
เมื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศแล้ว ดร.สุวัฒน์กล่าวว่าขั้นตอนต่อไปก็คือสื่อสารกับแนคแซทเพื่อจะได้สั่งให้ทำงานหรือสั่งให้ส่งข้อมูลมาตามต้องการ ซึ่งนักวิทยุสมัครเล่นชาวต่างชาติระบุว่าได้รับสัญญาณวิทยุของดาวเทียมแนคแซทครั้งแรก หรือที่เรียกว่า first voice เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. และจากนั้นก็ได้รับสัญญาณต่อเนื่องมาเป็นระยะ
"ตอนนี้เรากำลังหาพิกัดที่แท้จริงของแนคแซทอยู่ เพื่อจะได้สื่อสารกับดาวเทียมได้ นักศึกษาของ มจพ. ในห้องปฏิบัติการจะได้สามารถเรียนรู้การสั่งงานรวมทั้งเก็บข้อมูลเพื่อเอาไปพัฒนาต่อยอดต่อไป"
"แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถที่จะหาพิกัดได้ และทางห้องปฏิบัติการภาคพื้นดินกำลังปรับปรุงใหม่กว่าจะเสร็จก็คงหลังปีใหม่" ดร.สุวัฒน์ระบุ
"ตอนที่จรวดส่งดาวเทียมขึ้นไป ลุ้นมากเลยค่ะ ลุ้นว่าจะส่งขึ้นไปไหม จะเกิดอุบัติเหตุระเบิดหรือเปล่า"เอกจิรา กุยยกานนท์ ซึ่งเป็นหนี่งในทีมนักศึกษาที่ได้ช่วยพัฒนาดาวเทียมแนคแซทมาตั้งแต่ต้น โดยเป็นหัวหน้าทีมพัฒนาระบบการทรงตัวของดาวเทียม
โฆษณา