1 ม.ค. 2019 เวลา 23:30 • การศึกษา
Phil Knight จากนักบัญชีสู่บิดาแห่ง Nike
จุดเริ่มต้น
Phil Knight เกิดในปีค.ศ. 1938 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกวุ่นวายอยู่กับสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเกิดที่เมือง Portland รัฐ Oregon สหรัฐอเมริกา พ่อของเขาเป็นนักกฎหมายเก่าที่ผันตัวมาทำหนังสือพิมพ์ The Oregon Journal
Knight น่าจะเป็นคนที่แสบพอควร ถ้าให้เทียบกับมาตรฐานของคนรุ่นนั้น มีเรื่องเล่าว่าเขาเคยขอพ่อทำงานกับหนังสือพิมพ์ของพ่อเขา แต่พ่อกลับปฏิเสธ และบอกให้เขาไปหางานเอง และนั่นทำให้เขาไปทำข่าวกีฬาตอนกะดึก กับหนังสือพิมพ์ของคู่แข่งพ่อเขา และตัวเขาก็วิ่ง 11 กิโลเมตรกลับบ้านในทุกๆ เช้า
สองสิ่งนี้แหละที่หล่อหลอมชีวิตวัยหนุ่มของเขาไว้ได้ เพราะ Knight มีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย Oregon ในสาขาวารสารศาสตร์ จากโควต้านักกีฬาวิ่งระยะกลาง โดยเขาก็เป็นนักวิ่งตัวท็อปของทีมมหาวิทยาลัย และที่นี่เองทำให้เขาได้พบกับโค้ชของเขานามว่า ‘Bill Bowerman’ ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Nike
หลังจาก Knight เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเมื่อปีค.ศ. 1959 ด้วยวัย 21 ปี เขาก็ถูกเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 1 ปี (ช่วงนั้นคือช่วงสงครามเวียดนาม) และหลังจากนั้นก็กลับมาเรียนปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) หลักสูตรชื่อดังที่ Stanford Business School ทันที
Knight ก็เป็นคนแสบๆ ทั่วไป เขาไม่ชอบเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือก่อนหน้านี้ก็เป็นการเรียนไปงั้นๆ ให้มันจบๆ ไป ให้ได้มีปริญญาอย่างคนอื่นเขา แต่การมาเรียนที่ Stanford ทำให้ Knight ค้นพบว่าเขามีหัวในด้านธุรกิจ และเมื่อเขาเอามันมาประสาน ‘การวิ่ง’ ซึ่งเป็นความถนัดดั้งเดิมของเขา ไอเดียเกี่ยวกับธุรกิจกีฬาก็เริ่มบรรเจิดขึ้น
ไอเดียในการเริ่มธุรกิจของเขาเริ่มจากกระดาษคำตอบที่ส่งอาจารย์ในวิชาธุรกิจขนาดเล็ก หัวข้อของเขามีชื่อว่า “รองเท้ากีฬาญี่ปุ่นจะทำกับรองเท้ากีฬาเยอรมันได้อย่างที่กล้องถ่ายรูปญี่ปุ่นทำกับกล้องถ่ายรูปเยอรมันหรือไม่?”
อันนี้ต้องเท้าความก่อนว่าสมัยที่ Knight เป็นนักวิ่งนั้น รองเท้ากีฬาอันดับหนึ่งของโลกคือ Adidas แบรนด์สปอร์ตแวร์จากเยอรมัน ซึ่งรองเท้ากีฬาของอเมริกานั้นยังไม่มี ถึงมีก็แย่มากๆ Knight ก็เลยเกิดไอเดียหลังจากเห็นสินค้า “ถูกและดี” ว่าทำไมรองเท้าญี่ปุ่นจะบุกตลาดอเมริกาไม่ได้ (ตอนนั้นญี่ปุ่นเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามโลกและเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าราคาถูกจำนวนมากสู่โลกตะวันตก สินค้าญี่ปุ่นไม่ใช่ของแพงพรีเมียมแบบทุกวันนี้)
เขาก็เรียนจบมาในปีค.ศ 1962 และในวัย 24 ปีในตอนนั้นพ่อของเขาก็อยากให้เขาทำ “งานจริงๆ” แล้ว เขาสัญญากับพ่อเขาว่าเขาจะทำงานประจำในบริษัทบัญชี แต่ก่อนอื่น เขาขอออกไปเผชิญโลกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนทำงาน ...แล้วเขาก็เลือกไปญี่ปุ่น
Knight ไปอยู่ญี่ปุ่นราวๆ ปีกว่า ก่อนจะกลับมาทำงานในปีค.ศ 1964 ซึ่งในหลายๆ แง่ก็อาจคล้ายคนตะวันตกสมัยนั้น ที่มุ่งไฝ่หา “ภูมิปัญญาตะวันออก” เพราะเขาก็ไปเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและจิตวิญญาณของญี่ปุ่นสารพัด เขาได้ไปปีนภูเขาฟูจิเพื่อแสวงบุญด้วยซ้ำ ...แต่เหนือสิ่งอื่นได เขาไปญี่ปุ่นด้วยเหตุผลทางธุรกิจด้วย
แต่นอนว่าที่ Knight ไปในญี่ปุ่นเขาไม่ได้ไปแค่ไฝ่หาภูมิปัญญาโบราณเท่านั้น แต่เขาไปเพื่อหาสินค้ามาขาย และการอยู่ญี่ปุ่นอันยาวนานของเขาก็ทำให้เขาพบกับบริษัท Onitsuka ที่ทำแบรนด์รองเท้าก็อป Adidas มาขายภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า Tiger
Knight ชอบ Onitsuka Tiger มาก และคิดว่านี่แหละคือสินค้าที่อเมริกาต้องการ เขาก็เลยมีโอกาสได้เข้าไปดูถึงโรงงาน และนัดพบกับ Kihachiro Onitsuka เจ้าของบริษัท และการพูดคุยครั้งนั้นเอง ที่ทำให้เขาได้สิทธิ์เป็นตัวแทนขายรองเท้า Onitsuka ในอเมริกา ...แต่ก่อนอื่นเขาต้องกลับไปทำงานตามที่เขาสัญญากับพ่อไว้ก่อน
จาก Blue Ribbon Sports สู่ Nike
ในปีค.ศ 1964 Knight กลับมาจากญี่ปุ่น และทำงานเป็นนักบัญชี แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้เอาไอเดียที่จะนำเข้ารองเท้าญี่ปุ่นมาขาย ไปเสนอกับ Bill Bowerman โค้ชวิ่งเก่าของเขาตั้งแต่สมัยปริญญาตรี และทั้งคู่ก็ได้ตัดสินใจตั้งบริษัท Blue Ribbon Sports ร่วมกัน เพื่อนำเข้ารองเท้า Onitsuka มาขาย
พอเรียกว่าเป็นบริษัท อาจฟังดูใหญ่โต แต่เริ่มแรกสุดพวกเขาไม่มีออฟฟิศหรือหน้าร้านด้วยซ้ำ แต่กิจการจริงๆ คือการเอารองเท้านำเข้าของญี่ปุ่นไปเปิดขายท้ายรถ ตามงานวิ่งต่างๆ ในโอเรกอน ซึ่งเขาก็ทำกิจการของเขาเองไปพร้อมๆ กับยังเป็นนักบัญชีในงานประจำอยู่
คนอเมริกันในตอนนั้นไม่เคยสัมผัสรองเท้าวิ่งของญี่ปุ่นมาก่อนและพบกับราคาที่แสนถูกและดีของมัน จนรู้สึกว่าคุ้มค่ากว่าจะไปซื้อรองเท้า Adidas ที่ทำในเยอรมัน และมันก็ทำให้รองเท้า Onitsuka ที่ Knight นำเข้ามาขายเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จากปากต่อปากทำให้บริษัทขยายไปได้เรื่อยๆ และในปีค.ศ. 1969 รายได้ของบริษัทที่มาจากการขายรองเท้านำเข้า ก็ปาเข้าไปหลักล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
ในปีค.ศ. 1971 Knight ก็เห็นว่าธุรกิจส่วนตัวของเขามันใหญ่และมั่นคงพอที่เขาจะลงมือทำเต็มตัวสักที ตอนนั้นเขาอายุ 33 ปี ก็ตัดสินใจออกจากงานประจำมาทำ Blue Ribbon Sports จริงๆ จังๆ
พอเขามาลงมาทำแบบเต็มตัวแล้ว เขาก็คิดว่าถึงเวลาแล้วล่ะที่จะเปลี่ยนชื่อบริษัท และอีกเหตุผลที่เขาต้องการชื่อบริษัทใหม่ ก็เพราะว่าเขาไม่ต้องการจะนำเข้ารองเท้ามาขายอีกต่อไปแล้ว เขาต้องการทำร้องเท้าขายเองและทำแบรนด์เป็นของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ความรู้เกี่ยวกับตลาดรองเท้าของเขา กับความรู้ด้านการทำรองเท้าวิ่งของ Bill Bowerman ที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยเป็นโค้ชก็อิ่มตัวกันพอแล้ว
ตอนแรกเขาเสนอว่าให้บริษัทใหม่ใช้ชื่อ Dimension Six แต่ตอนนั้นพนักงาน 45 คนของบริษัทก็หัวเราะร่าว่าชื่อมันตลก แต่สุดท้ายก็มีพนักงานคนหนึ่งบอกว่า เขาฝันเห็นชื่อของเทพเจ้าแห่งชัยชนะของกรีก ชื่อนั้นก็คือ ‘Nike’ จากชื่อเทพเจ้าก็กลายมาเป็นชื่อบริษัทใหม่ในที่สุด และหลังได้ชื่อแล้วทางบริษัทก็ได้ไปว่าจ้างดีไซเนอร์มาทำโลโก้ที่กลายมาเป็นโลโก้ในตำนานของ Nike ด้วยเงินเพียน 35 เหรียญสหรัฐเท่านั้นในตอนนั้น
แล้วรองเท้าคู่แรกของ Nike ก็เปิดตัวในปีค.ศ. 1972 และเป็นรองเท้ายอดฮิตในอเมริกาตลอดทศวรรษที่ 1970’s และในที่สุด ปีค.ศ 1980 บริษัท Nike ก็ได้เข้าตลาดหุ้น
สู้แบรนด์แฟชั่นกีฬาอันดับหนึ่ง
ในตอนต้นทศวรรษ 1980’s Nike ก็เป็นแบรนด์ที่เป็นมากกว่ารองเท้ากีฬาแล้ว เพราะวัยรุ่นก็พากันใส่รองเท้า Nike เดินถนนกันเป็นว่าเล่นแล้ว แทนจะที่ใส่ Converse เพราะในปีค.ศ. 1984 ทาง Nike ได้เซ็นสัญญากับนักบาสหนุ่มดาวรุ่งอย่าง Michael Jordan ให้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า และประวัติศาสตร์ก็สอนให้เราได้รู้ว่า นี่เป็นหนึ่งในพรีเซนเตอร์รองเท้ากีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโลกเคยมีมา และ Nike ก็ยังใช้แนวนโยบายใช้นักกีฬาเด่นๆ เป็นพรีเซนเตอร์มาถึง Tiger Woods และคนอื่นๆ
และในช่วงเดียวกันนี้ Nike ก็ได้โหมโฆษณาอย่างหนัก และแคมเปญโฆษณาที่ยังเป็นตำนานอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่การโปรโมตวงการกีฬาแต่เป็นวงการโฆษณาเลย นั่นก็คือแคมเปญ Just Do It ที่กลายมาเป็นคำขวัญของ Nike ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้
...และทุกสิ่งทุกอย่างก็ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จและทำให้ Nike เป็นมากกว่าแค่แบรนด์รองเท้ากีฬาอันดับต้นของโลก แต่มันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของไลฟ์สไตล์แบบหนึ่งไปแล้วมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับตัว Phil Knight เองเขาก็ลดบทบาทในฐานะ CEO มาเรื่อยๆ และลงจากตำแหน่ง CEO ในปี 2004 ด้วยวัย 66 ปี แต่เขาก็ยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทต่อหลังจากนั้นมาจนเขายุติบทบาททั้งหมดกับ Nike ในตอนกลางปี 2016 ในวัย 78 ปีเพื่อมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับครอบครัวของเขาซึ่งก็คือภรรยาของเขาซึ่งแต่งงานและอยู่กินกันมาตั้งแต่ปี 1968
โฆษณา