7 ม.ค. 2019 เวลา 16:08 • ท่องเที่ยว
เสพสุนทรียภาพแห่งการเรียนรู้ผ่าน 3 นิทรรศการ @Bangkok
✓หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
10.00 น. ทุกคนก้าวเท้าเข้าสู่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ทันที หลังจากที่รอเวลาประตูเปิดมาพอสมควร สิ่งแรกที่สัมผัสได้จากก้าวย่างสู่ปีที่ 10 ของหอศิลป์ฯ แห่งนี้ คือรูปแบบการนำเสนอศิลปะร่วมสมัย ผ่านการจัดวางที่สบายตา กำแพงสีขาวล้วน และแสงจากธรรมชาติ ชวนให้รู้สึก
ผ่อนคลายอย่างไม่รู้ตัว
เดินมาจนถึงส่วนกลางอาคารพบตะกร้าหลายร้อยใบเรียงรายเป็นแนวดิ่ง เกิดภาพแปลกตาชวนชม ผู้คนบางส่วนชักชวนกันถ่ายภาพ ซึ่งอนุญาตให้ถ่ายได้บางจุดเท่านั้น ดังนั้น หากคิดจะหยิบกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ ก็ควรตรวจดูให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่มีป้ายเตือนว่าห้ามถ่ายภาพ!
บริเวณด้านในอาคารหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ
อาคารหอศิลป์ฯ มีทั้งหมด 9 ชั้น ลักษณะเป็นที่โล่งกว้าง จัดแสดงผลงานในแต่ละพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า ไม่ดูรุงรังหรือเว้นว่างจนขัดตา แต่ละจุดจะมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำเพื่ออธิบายและแจ้งกฎในการเข้าชม
แต่ละปีหอศิลป์ฯ จะกำหนดธีมงานใหญ่เป็นแม่แบบครอบคลุมธีมย่อยแต่ละชั้นแต่ละเดือน เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะผลัดเปลี่ยนกันไป
ผลงานศิลปะที่จัดแสดงภายในหอศิลป์ฯ
ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นนั้น จะมีเพียงคำอธิบายสั้นๆ ประกอบ เพื่อให้ผู้ชมได้เสพศิลปะตามแต่จินตนาการของใครจะเข้าถึงได้มากน้อย ศิลปะบางชิ้นชวนให้เราได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านประสาทสัมผัสที่นอกเหนือจากดวงตา มีการนำเอาเทคนิคและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย อาทิ การใช้แอพพลิเคชั่นมือถือ Artivive ส่องกล้องผ่านภาพที่จัดแสดง เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวผ่านจอมือถือ โดยอาศัยเทคโนโลยี AR (Augmented reality) เข้ามาช่วย นอกจากนี้ ยังมีการใช้ QR Code เพื่อบันทึกข้อมูลผลงานศิลปะและชื่อศิลปิน เป็นต้น
ป้ายแสดงที่มาของนิทรรศการ Dialogue in the Dark
✓Dialogue in the Dark
เวลาบ่ายโมงตรงหลังทานอาหารกลางวันเป็นที่เรียบร้อย จุดหมายปลายทางต่อไปคือ ชั้น 4 อาคารจตุรัสจามจุรี เพื่อไปสัมผัสกับบทเรียนในความมืด หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า ‘Dialogue in the Dark’
Dialogue in the Dark เป็นนิทรรศการจำลองสถานการณ์บังคับให้ผู้เข้าชม ‘ต้องตาบอด’ ทุกคนที่เข้าชมนิทรรศการแห่งนี้จะได้สัมผัสกับความมืดมิด ที่แม้จะลืมตาอยู่ก็ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นได้ ถึงจะมืดจนมองไม่เห็นอะไรเลย แต่บทเรียนในความมืดนี้กลับสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าชมมาแล้วกว่า 9 ล้านคน จาก 40 ประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทยเริ่มจัดนิทรรศการนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 นับเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 9 ปีที่บทเรียนในความมืดแห่งนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง
จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ Dialogue in the Dark มาจาก Andreas Heinecke นักธุรกิจชาวเยอรมันที่เคยมองว่าการทำงานร่วมกับคนตาบอดนั้นเป็นเรื่องยาก เธอมองว่าคนตาบอดเป็นบุคคลที่น่าสงสาร ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับคนตาดี ความสงสารของเธอในวันนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งชนชั้นขึ้นภายในใจอย่างชัดเจน จนกระทั่งวันหนึ่งที่ออฟฟิศของเธอเกิดไฟดับในขณะที่เธออยู่ทำงานล่วงเวลา เธอจึงพบว่าท่ามกลางความมืด คนตาดีเช่นเธอไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต่างจากเพื่อนร่วมงานผู้พิการทางสายตาที่ยังคงใช้ชีวิตปกติ ทั้งยังเป็นคนที่พาเธอออกมาจากออฟฟิศที่ไร้สว่างอีกด้วย ดังนั้น นิทรรศการแห่งนี้จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมทุกคนได้เข้าใจวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้พิการทางสายตา และลดช่องว่างระหว่างผู้พิการทางสายตากับคนที่มีสายตาปกติ
ภายในนิทรรศการบทเรียนในความมืดนี้ ผู้เข้าชมทุกคนจะได้รับ ‘ไม้เท้าขาว’ หรือไม้เท้านำทางสำหรับผู้พิการทางสายตาคนละ 1 ชิ้น และไม่ได้รับอนุญาตให้นำสิ่งของมีค่าติดตัวไปภายในนิทรรศการเลย ผู้เข้าชมหนึ่งกลุ่มจะมีผู้นำทางซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาที่เปรียบดังเพื่อนผู้แสนดีนำทางทุกคนให้รู้จักส่วนต่างๆ ทั้งหมด 7 บทเรียน ทุกคนจะได้ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออีก 4 ส่วนนอกเหนือจากดวงตาคือ ใช้หูสำหรับฟัง ใช้ปากเพื่อพูดและลิ้มรส จมูกเพื่อดมกลิ่น และใช้มือในการสัมผัส ภายในระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงคนละ 100 บาท
พิพิธภัณฑ์เรือศรีมหาสมุทร
✓เรือศรีมหาสมุทร
จากจัตุรัสจามจุรี นั่งรถตรงไปท่าเรือสี่พระยา ข้ามฟากต่อไปยัง ICONSIAM เพื่อชมแหล่งเรียนรู้สุดท้ายของเราในวันนี้คือ ‘เรือศรีมหาสมุทร’ พิพิธภัณฑ์ลอยน้ำที่กำลังมาแรงที่สุดในขณะนี้ จัดสร้างขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระ 250 ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี โดยเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รอบละ 20 นาทีเท่านั้น!
บรรยากาศภายในเรือศรีมหาสมุทร
เรือศรีมหาสมุทร มีต้นแบบจำลองมาจากสำเภาจีนขนาดจริงในยุคกรุงธนบุรี ที่ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า อั้ง เถ้า จุ้ง แปลว่าเรือสำเภาหัวแดง ภายในจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี โดยมีการนำเสนอข้อมูลผสมผสานกับเทคนิคอินเตอร์แอคทีฟที่ล้ำสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนย้อนเวลากลับไปสมัยกรุงธนบุรีในอดีต
ภายในเรือมีการจัดแสดงนิทรรศการโดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ ทั้งหมด 3 โซน ได้แก่
1. โซนห้องกัปตัน จัดแสดงเรื่องราวทางการค้า การย้ายราชธานี การวางรากฐานให้กับกรุงธนบุรี และกรุงธนบุรีในฐานะเมืองท่าการค้า
2. โซนห้องพักลูกเรือ จำลองวิถีชีวิตลูกเรือสำเภาในสมัยกรุงธนบุรี โดยสร้างแบบและสถานที่จำลอง ผสมผสานกับเทคนิค Shadow Play
3. คลังอารยธรรม จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แบ่งออกเป็น 3 โซน ดังนี้
- มหาราชยอดนักรบ ช่วงเวลาการทำสงครามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ด้วยเทคนิค Projection Mapping รวมไปถึงพระราชประวัติของพระองค์บนจอแบบทัชสกรีน
- ฟื้นฟูครบด้วยพระปรีชา พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในด้านการสังคม การปกครอง ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม นำเสนอผ่านรูปแบบการจัดแสดงที่หลากหลาย อาทิ การสร้างแบบจำลองพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สมุดภาพไตรภูมิ และพระไตรปิฎก บอร์ดเนื้อหาเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น รวมถึงเทคนิค Interactive Mirror ที่ผู้เข้าชมสามารถสวมบทบาทเป็นชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี พร้อมทั้งถ่ายรูปและแชร์ความประทับใจ
- สานสัมพันธ์การค้าให้กรุงธนบุรี ชมภาพยนตร์ที่ฉายลงบนจอขนาดมหึมา ซึ่งเป็นเรื่องราวตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งพระทัยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าให้กรุงธนบุรีกลับมาเจริญรุ่งเรือง
รูปปั้นจำลองวิถีชีวิตลูกเรือภายในพิพิธภัณฑ์เรือศรีมหาสมุทร
การเที่ยวชมแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในวันนี้ จบลงด้วยภาพอาทิตย์อัสดงริมแม่น้ำเจ้าพระยาใจกลางเมืองมหานคร ครั้งหน้าอย่าลืมติดตามชมกันว่าเราจะนำความสุนทรีย์แบบไหนมาเสิร์ฟให้ทุกคนได้เสพอีก สำหรับฉบับนี้ขอลาไปแต่เพียงเท่านี้นะคะ 😊
โฆษณา