11 ม.ค. 2019 เวลา 16:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรื่องเล่าของ Straight leg raise test (SLR test)
บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขามักมาขอเข้าพบนักกายภาพบำบัดเพื่อทำการรักษา ซึ่งหลังจากที่การตรวจประเมินผู้ป่วยดำเนินมาถึงเกือบขั้นตอนสุดท้าย เพื่อที่จะทำการยืนยันว่าอาการปวดหลังร้าวลงขาของผู้ป่วยนั้นมีต้นเหตุมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนมากดทับรากประสาทหรือไม่นั้น นักกายภาพบำบัดจะทำการทดสอบด้วยการจับขาของผู้ป่วยทั้งท่อนยกขึ้นไปตรงๆ แล้วคอยซักถามอาการของผู้ป่วยอยู่เป็นช่วงๆ เราเรียกการทดสอบดังกล่าวนี้ว่า Straight Leg Raise test
เมื่อยกขาของผู้ป่วยสูงขึ้นราว 35 องศา นักกายภาพบำบัดจะเริ่มสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อที่จะได้ทราบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงขาเหมือนกับที่เป็นหรือไม่ หากยกขาของผู้ป่วยทั้งท่อนขึ้นมาราว 35 – 70 องศา แล้วปรากฏว่าไปกระตุ้นอาการของผู้ป่วยให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอาการเดียวกันกับที่ผู้ป่วยเป็น นักกายภาพบำบัดจะถือว่าผลตรวจที่ได้จากการทดสอบดังกล่าวเป็น บวก หรือ positive โดยผลการทดสอบที่ได้ออกมานั้นจะเป็นการบ่งบอกว่า ผู้ป่วยมีความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension) ที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งความตึงตัวของเส้นประสาทที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนมากดทับรากประสาท (nerve root) หากผลการทดสอบข้างต้นออกมาเป็น positive ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ก็จะเป็นการยืนยันสมมติฐานที่นักกายภาพบำบัดได้ตั้งไว้อย่างคร่าวๆหลังจากที่ซักประวัติผู้ป่วยเสร็จสิ้น โดยนักกายภาพบำบัดจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated nucleus pulposus) หรือ ที่เราเรียกสั้นๆว่า HNP
หมายเหตุ: แต่ทั้งนี้โดยระเอียดแล้วการจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น HNP หรือไม่นั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อมูลที่ได้จากการตรวจร่างกายอื่นๆมาอิงร่วมในการพิจารณาด้วย
อ้างอิงรูปภาพ: https://pt-world.com/straight-leg-raising-test/
จากที่ผมได้เกริ่นนำไปข้างต้น ผมเชื่อว่านักกายภาพบำบัดทุกๆท่านต่างรู้จักการทดสอบนี้เป็นอย่างดี แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมอยากนำมาเสนอในวันนี้ก็คือ “เจ้า SLR test นี้มันมีความเป็นมาอย่างไรกันแน่” ผมเชื่อว่าเรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อจากนี้จะเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆที่เสริมหรือเพิ่มพูนความรู้ให้กับท่านผู้อ่านหลายๆท่าน
ผมขอเชื้อเชิญทุกท่านร่วมเดินทางย้อนเวลาไปกับผม โดยเราจะย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 140 ปีที่แล้ว เรื่องราวมีอยู่ว่า...
ในปี ค.ศ. 1881 เจ.เจ.ฟอสต์ (J.J. Forst) ได้อธิบายถึงการทดสอบที่ทำให้เกิดอาการปวดที่มีสาเหตุมาจาก sciatic nerve ของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะอยู่ในท่านอนหงายแล้วได้รับการยกขาข้างที่มีอาการให้สูงขึ้นในขณะเดียวกันนั้นเข่าของขาข้างที่ถูกยกขึ้นจะอยู่ในท่าเหยียดตรง หากมีการตอบสนองด้วยอาการปวด ให้ทำการทดสอบซ้ำอีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะทดสอบด้วยการจับผู้ป่วยงอเข่าโดยให้ขาท่อนล่างนั้นพับไปสัมผัสกับกระดูกเชิงกราน หากไม่พบว่ามีอาการปวดเกิดขึ้น แสดงว่าการทดสอบนี้ให้ผลออกมาเป็นบวก (positive)
The straight-leg-raising test นั้นได้รับการขนานนามโดย ชาร์ล เออร์เนสต์ ลาซีเก้ (Charles Ernest Lasegue) ผู้ซึ่งไม่เคยตีพิมพ์รายละเอียดใดๆเกี่ยวกับการทดสอบดังกล่าว ฟอสต์ ผู้เป็นศิษย์ของลาซีเก้ได้อุทิศงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขาแก่ลาซีเก้ เพื่อให้ชื่ออาจารย์ของเขาได้คงอยู่ตลอดไป
แต่ในความเป็นจริงแล้ว The straight-leg-raising test (หลังจากนี้ผมขอเรียกสั้นๆว่า SLR test นะครับ) เคยถูกอธิบายโดยบุคคลทั่วไปมาหลายคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังการตีพิมพ์ผลงานของฟอสต์ในปี ค.ศ. 1881
ในปี ค.ศ. 1880 ลาแซร์วิค (Lazarevic) แพทย์ชาวยูโกสลาเวีย ได้อธิบายถึง SLR test และได้มีการระบุไว้ว่า การยืด Sciatic nerve นั้นเป็นสาเหตุของอาการปวด
ในปี ค.ศ. 1884 เดอ เบอร์มันน์ (De Beurmann) ได้อธิบายถึงอาการปวดที่เกิดขึ้นจากการทำ SLR test นั้นมีสาเหตุมาจากการยืด Sciatic nerve ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนี้มีความแตกต่างจากทฤษฎีของเออร์เนสต์และลาซีเก้ ผู้ซึ่งเชื่อว่าอาการปวดนั้นเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อนั้นไปกดบีบ Sciatic nerve
ยังมีจำนวนการทดสอบอีกมากมายที่มีความคล้ายคลึงหรือมีส่วนทำให้ SLR test นั้นมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น...
ในปี ค.ศ. 1864 วราดิเมียร์ เคอนิก (Vladimar Kernig) แพทย์ชาวรัสเซีย ผู้ซึ่งได้อธิบายถึงการทดสอบที่มีความคล้ายคลึงกับ SLR test เป็นอย่างมาก ซึ่งการทดสอบที่ว่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) โดยขั้นตอนของการทดสอบดังกล่าวมีดังต่อไปนี้ คือ ได้มีการจัดให้ผู้ป่วยมีการงอเข่าและสะโพก (hip flexion with knee flexion) จากนั้นจึงค่อยๆจับผู้ป่วยก้มคอลง (neck flexion)
ในปี ค.ศ. 1901 ฟาเยอสไตน์ (Fajersztajn) ได้อธิบายถึงการทดสอบที่ช่วยเติมเต็ม SLR test ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งเขาได้สาธิตถึงกลไกเชิงกลของอาการปวดที่เกิดขึ้น โดยในการทดสอบนี้ เขาได้ทำการยกส่วนของรยางค์ขึ้นจนถึงจุดที่เริ่มมีอาการปวดเกิดขึ้น จากนั้นจึงจับข้อเท้ากระดกขึ้น (ankle dorsiflexion) จนเกิดอาการปวดขึ้นอย่างชัดเจน
ฟาเยอสไตน์ ยังได้อธิบายถึง SLR test ที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “cross sciatic sign” หรือ “crossed straight-leg-raising test” ที่ทำให้เกิด sciatic pain ขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สะโพกและขาข้างปกตินั้นอยู่ในระหว่างการทดสอบ SLR
ที่ได้เล่าจบไปนี้คือเรื่องราวความเป็นมาของ Straight-leg-raising test หรือ SLR test ที่พวกเราใช้กันอยู่...
วันนี้ผมก็ได้พาท่านผู้อ่านทุกท่านมายลโฉมภาพรวมของ Straight-leg-raising test และเรื่องราวความเป็นมาของการทดสอบนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมหวังว่าสิ่งที่ผมนำมาเล่าในวันนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ
สามารถให้คำแนะนำหรือติชมได้นะครับ
อ้างอิง: Urban L.M. The Straight-Leg-Raising Test: A Review. Journal of Orthopaedic & Sports Physical therapy. 1981;2(3):117-133
โฆษณา