13 ม.ค. 2019 เวลา 06:00 • สุขภาพ
เบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ใน “นมเม็ดจิตรลดา” พระอัจฉริยภาพแก้ปัญหาของ “ในหลวง ร.9”
ในขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินกับการกิน “นมอัดเม็ดสวนดุสิต” หรือ “นมอัดเม็ดจิตรลดา” หยิบเข้าปากคำแล้ว คำเล่า จนหมดซองไม่รู้ตัว…แท้จริงแล้ว ไม่ใช่มีเพียงความอร่อยและคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น แต่เรายังได้เรียนรู้พระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหาของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่ทรงให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเราสามารถนำแนวทางของพระองค์ท่านมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้
1. พระวิริยอุตสาหะในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง
จุดเริ่มต้นของ “นมอัดเม็ดสวนดุสิต” มาจากภาวะน้ำนมโคล้นตลาดในปี พ.ศ. 2512 ขณะนั้นสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมจากตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจาก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างโรงนมผงขนาดย่อมขึ้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตนมผงจากน้ำนมโคที่รับซื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
โดยพระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 140,000 บาท เป็นทุนในการก่อสร้างเบื้องต้น และได้ใช้รายได้จากการจำหน่ายนมสดในการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จ รวมเป็นมูลค่า 354,000 บาท
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้ออกแบบโรงนมผง และกองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และติดตั้งอุปกรณ์โรงงาน ถือได้ว่าเป็นโรงนมผงแห่งแรกของประเทศไทย ออกแบบและก่อสร้างโดยคนไทยทั้งหมด โดยเริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2512 และ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงนมผง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2512 พระราชทานชื่อว่า “โรงนมผงสวนดุสิต” มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการเพื่อศึกษาค้นคว้า
2. พัฒนาและต่อยอดความรู้
ต่อมาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้ก่อสร้าง “โรงนมเม็ดสวนดุสิต” เริ่มทำการทดลองผลิตนมอัดเม็ดในปี พ.ศ. 2527 โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ม.ล.อัคนี นวรัตน์ ให้คำแนะนำวิธีการผลิตนมอัดเม็ด ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องผนึกซอง จนสามารถดำเนินการผลิตนมเม็ดขึ้นได้
กระทั่งในปี พ.ศ. 2528 เภสัชกรมงคลศิลป์ บุญเย็น และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ธีรพงษ์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพนมอัดเม็ดให้เป็นที่ยอมรับ พร้อมได้มอบเครื่องตอกนมอัดเม็ดชนิกสากเดี่ยว 1 เครื่อง สำหรับใช้ในกิจการงานนมเม็ด
จากนั้นในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตและการอัดนมเม็ด โดยใช้เครื่องโรตารี่ ที่ใช้ในการผลิตยาเม็ด พร้อมด้วยเครื่องบรรจุซองอัตโนมัติ มาดำเนินการผลิต และปรับปรุงคุณภาพ จนผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ดสวนดุสิตเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคไทยถึงทุกวันนี้ ทั้งยังมีชื่อเสียงดังไกลไปถึงต่างแดน
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง “โรงนมเม็ดสวนดุสิต” เพื่อเป็นโรงงานตัวอย่างให้ผู้สนใจได้มาศึกษาวิธีการผลิตนมเม็ด โดยมีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในการผลิตที่ไม่สูงเกินไป สามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างในกิจการที่สามารถดำเนินการเองได้
ขณะเดียวกันเป็นการสนับสนุนการผลิตนมผงภายในประเทศ โดยการนำนมผงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ด และส่งเสริมด้านโภชนาการให้แก่ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี และราคาไม่แพง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการกึ่งธุรกิจ ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดำเนินการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร และประชาชนได้บริโภคสินค้าคุณภาพดี
โดยปัจจุบันอัตราการผลิตนมอัดเม็ดสูงสุดของ “โรงนมเม็ดสวนดุสิต” มียอดการผลิต 50,000 – 57,000 ซองต่อวัน ขนาดน้ำหนักสุทธิ 25 กรัมต่อซอง และขนาดบรรจุกล่อง 20 ซอง และ 100 ซอง
จาก “โรงนมผงสวนดุสิต” จนมาถึง “โรงนมเม็ดสวนดุสิต” ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเมื่อตั้งใจ ทุ่มเทลงมือ “ศึกษา ค้นคว้า และทดลอง” ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จนเกิดเป็นองค์ความรู้ทั้งจากการปฏิบัติด้วยตัวเอง และจากคำแนะนำที่นำมาปรับใช้ องค์ความรู้นั้น จะงอกเงยได้ก็ต่อเมื่อเราต้อง “ต่อยอด” ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” อันจะเป็นประโยชน์ให้กับทั้งการพัฒนาตัวเราเอง รวมถึงการนำไปปรับใช้กับการเรียน การทำงาน การดำเนินธุรกิจที่ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหนก็ตาม เพื่อพัฒนาองค์กร สินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลประวัติความเป็นมาของโรงนมผงสวนดุสิต และโรงนมเม็ดสวนดุสิตจาก : http://kanchanapisek.or.th/
โฆษณา