16 ม.ค. 2019 เวลา 01:01 • บันเทิง
One Piece กับเหตุผล 9 ข้อของการเป็นมังงะแห่งทศวรรษ
One Piece เป็นมังงะของญี่ปุ่นที่เขียนโดย โอดะ เออิจิโร่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่จบ ผ่านเนื้อหาเกือบ 1,000 ตอนจนถึงปัจจุบัน กับตัวละครนับร้อย จึงทำให้เรื่องวันพีซเป็นมหากาพย์ขนาดยาว มีผู้คนติดตามเรื่องราวในจักรวาลวันพีซกันอย่างล้นหลาม
เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า มังกี้ ดี ลูฟี่ เด็กชายผู้มีความฝันในการตามหา “วันพีซ” สมบัติล้ำค่าซึ่งจะทำให้เขาได้เป็นเจ้าแห่งโจรสลัด เขาออกเดินทางเพื่อมุ่งสู่จุดหมาย ระหว่างนั้นเขาได้พบเจอเพื่อน และได้ร่วมกันเดินทางผจญภัยผ่านอุปสรรคนานา ไม่ว่าจะเป็นการตามล่าและตั้งค่าหัวจากรัฐบาล การต่อสู้กับโจรสลัดแก๊งอื่น หรือแม้แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาของดินแดนตามรายทางที่เดินเรือผ่านทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
เนื้อหาต่อจากนี้ไปเป็นการวิเคราะห์ถึงเหตุผลด้าน ว่าอะไรที่ทำให้วันพีซสร้างปรากฏการณ์ได้รับความนิยมและเสียงตอบรับในทางบวกมาอย่างยาวนาน โดยไม่แตะถึงเรื่องการตลาดหรือปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือตัวเรื่อง
เชิญติดตาม...
1. การเดินทางผจญภัยแบบเกม RPG
การใช้โครงเรื่องแบบการเดินทางผจญภัย - > เจอผู้คน - > กลายเป็นเพื่อน - > ชวนขึ้นเรือเป็นสมาชิกใหม่ - > ออกเดินทางต่อ ...
เส้นเรื่องแบบนี้มีลักษณะเหมือนเกมอาร์พีจีซึ่งเป็นที่นิยม เหมือนผู้เล่นที่ต้องเดินผจญภัย เก็บไอเท็ม และอัพเลเวล ยิ่งผู้เล่นใช้เวลากับเกมนานเท่าใด ก็ยิ่งถูกดูดเข้าสู่เกมมากเท่านั้น
การได้สมาชิกใหม่ก็ไม่ต่างอะไรจากการเก็บไอเท็ม ส่วนการที่ลูฟี่และผองเพื่อนมีค่าหัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นการอัพเลเวลแบบหนึ่ง เช่น โซโร ตอนแรกมีค่าหัว 60 ล้านเบรีจากการกำจัดนักล่าโจรสลัด 100 คนและ Mr.1 แต่หลังจากการสะสมประสบการณ์และชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น ค่าหัวของเขาก็เพิ่มขึ้นเป็น 120 และ 320 ล้านเบรีตามลำดับ
ขณะที่หัวหน้ากลุ่มโจรสลัดหมวกฟางอย่างลูฟี่พระเอกของเราก็อัพค่าหัวจาก 30 ล้าน ไปจนถึง 1,500 ล้านเบรี ยิ่งเราอ่านเรื่องนี้นานๆ เข้า เราก็ยิ่งผูกพันกับเรื่อง และเอาใจช่วยในความก้าวหน้าของตัวละคร
“การอัพเลเวล” ของตัวละครนี้ดูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของมังงะที่ได้รับความนิยมหลายๆ เรื่อง เช่น ดราก้อนบอลใช้ค่าพลังของตัวละครเป็นสัญลักษณ์แทน “เลเวล” ที่ว่านี้ ค่าพลังหลักร้อยของโกคูในภาคแรกๆ นี่เทียบไม่ได้เลยกับในภาคหลัง ๆ
ส่วนการอัพเลเวลของการ์ตูนกีฬาคลาสสิคอย่างกัปตันซึบาสะก็อัพเลเวลจากการแข่งขันชิงแชมป์ระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ ไปจนถึงทีมชาติชุดเยาวชน เป็นนักฟุตบอลอาชีพ และตามมาด้วยการติดทีมชาติชุดใหญ่ เจอคู่แข่งที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องแนวผจญภัยที่เห็นพัฒนาการของตัวละคร ซึ่งผู้อ่านเมื่อมองย้อนไปถึงแรกเริ่มการออกเดินทางของตัวละครและต้นทุนที่เขามี เมื่อเปรียบเทียบกับระยะทางที่เขาเดินมาได้ ก็ทำให้คนดูสนใจติดตามเรื่องราวแบบนี้ได้ไม่ยาก
2. กลุ่มตัวละครที่มีเสน่ห์
การเล่นกับตัวละครกลุ่ม (Group Characters) แบบในเรื่องวันพีซนั้น ความสำคัญอยู่ตรงที่ตัวละครแต่ละตัวต้องมีแง่มุมให้คนอ่านรัก (พูดง่ายๆ ก็คือนอกจากแฟนคลับของเรื่องแล้ว ก็ต้องมีแฟนคลับของตัวละครต่างๆ ด้วย)
มังกี้ ดี ลูฟี่ พระเอกของเรื่อง
โรโรโนอา โซโร พระรองสุดขรึม
คนอ่านไม่ได้รักแค่พระเอกอย่างลูฟี่ แต่ตัวละครในก๊วนคนอื่นอย่างโซโร ,ซันจิ, ช็อปเปอร์, อูซป, นามิ, แฟรงกี้, นิโค โรบิน ฯลฯ เหล่านี้ก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน
ลองนึกถึงมังงะแห่งยุค 80 อย่างเซนต์เซย่าก็มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ นอกจากนี้เรื่องเซนต์เซย่ายังมี “ชุดคลอธ” เป็นจุดขาย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กผู้ชายในยุคนั้นต่างล้วนอยากได้ฟิกเกอร์ชุดคลอธของตัวละครที่ตนเองชื่นชอบ
3. เป้าหมายของตัวละครทำให้คนอ่านลุ้นและเอาใจช่วย
สำหรับเรื่องที่ใช้ตัวละครกลุ่มโดยทั่วไปแล้วจะมีเป้าหมายของกลุ่มร่วมกัน (นั่นคือการมุ่งสู่แกรนด์ไลน์ และตามหา “วันพีซ”) ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นเป้าหมายที่ “เกินตัว” ไปมาก โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงจุดเริ่มต้นที่พวกเขาเดินทางมา (ทั้งไม่มีพวกพ้อง ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีประสบการณ์)
แต่การเล่นกับเป้าหมายที่ใหญ่เกินตัวนี่แหละที่เป็นเสน่ห์ทำให้คนอ่านเอาใจช่วย (อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเรื่องที่เล่นกับเป้าหมายใหญ่เกินตัวทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จเสมอไป)
นอกจากนี้ความที่เนื้อหาเรื่องมีขนาดยาว และผู้เขียนก็ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมายส่วนตัวของตัวละครที่แตกต่างกันไป เช่น โซโรมีเป้าหมายต้องการเป็นนักดาบที่เก่งที่สุดในโลก ส่วนนิโค โรบิน มีความฝันในการตามหา “เรียลโพเนกลีฟ” ที่จะช่วยให้ไขความลับประวัติศาสตร์ได้
เมื่อคนอ่านรักตัวละครแล้วก็ย่อมเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จทั้งเป้าหมายส่วนรวมและส่วนตัว
4. ตัวร้ายที่เกลียดไม่ลง
แม้แต่ตัวละครผู้ร้ายก็ยังน่ารักและมีแฟนติดตามเยอะ สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับเรื่องวันพีซก็คือ แม้ว่าจะออกแบบตัวละครฝ่ายพระเอกได้อย่างแข็งแรงแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากการสร้างตัวละครผู้ร้ายที่แข็งแรงพอกัน ถ้าผู้ร้ายไม่แกร่ง ไม่เหี้ยม พระเอกก็คงยากที่จะโชว์ฝีมือได้
แต่ที่บอกว่าเหนือชั้นก็คือ สำหรับเรื่องการต่อสู้ของพระเอกแล้ว คนดูมักจะเกลียดผู้ร้าย แต่วันพีซสามารถทำให้คนอ่านรักพระเอก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้รักผู้ร้ายได้ด้วย ลองนึกถึงตัวละครอย่างบากี้, ครอคโคไดล์ หรือ ดอนกีโฮเต้ โดฟลามิงโก้ แม้จะเป็นตัวร้ายแต่ก็มีแฟนๆ ชอบไม่น้อย
บากี้ ผู้ร้ายที่มีคนรัก
นี่ยังไม่รวมถึงตัวละครที่บทบาทไม่มากแต่มีพลังต่อเรื่องเหลือเกินอย่างเอส, แชงก์ หรือแม้แต่พลเรือโทการ์ฟ ผู้เป็นปู่ของลูฟี่ ก็ล้วนเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ทั้งสิ้น
5. จินตนาการสุดบรรเจิด
ไม่รู้ว่าอาจารย์โอดะ ผู้เขียนเรื่องนี้ต้องทุ่มเทจินตนาการไปเท่าใดจากการคิดตัวละครนับร้อย ท่าไม้ตาย อีกทั้งประเภทและรายละเอียดของผลปีศาจ อาวุธ เรือ เมืองต่างๆ ฯลฯ
รายละเอียดเหล่านี้มากมายจนเรียกได้อย่างเต็มปากว่าผู้เขียนได้สร้างจักรวาลวันพีซให้คนอยากติดตามและจินตนาการถึงโลกแห่งโจรสลัด ในแบบเดียวกับเหล่ามักเกิ้ลที่จินตนาการถึงโลกเวทมนตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
6. “มิตรภาพ” - ประเด็นง่ายๆ แต่ทำได้ถึง
การเล่นกับเรื่องมิตรภาพมักนำมาใช้กับเรื่องราวของตัวละครกลุ่มอยู่เสมอ (เหมือนอย่างเรื่องคินนิคุแมนหรือเซนต์เซย่าในยุค 80)
ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นเรื่อง cliché ที่ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น
แต่มันเป็นเรื่องที่พอเหมาะพอเจาะกับเรื่องวันพีซนี้อย่างมาก ลองนึกภาพตามดูถึงพระเอกที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมาก แต่เขากลับมีความฝันที่ใหญ่เกินตัว การมีความฝันใหญ่เกินตัวโดยที่ตนเองไม่มีอะไรนี่ทำให้ความฝันของเขาแทบเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แต่ลูฟี่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคนี้ก็ด้วยความจริงใจที่เขามีให้คนรอบตัว แม้ว่าตนเองจะถูกหลอก ถูกหลอกใช้สารพัด แต่ไม่ใช่ความจริงใจนี้หรอกหรือที่ทำให้เขาได้คนอย่างนามิ หรือนิโค โรบิน ที่ไม่น่าจะเป็นเพื่อนหรือเปิดใจให้ใครได้ง่ายๆ เข้ามาอยู่ร่วมทีม
7. ฉากบู๊อันแสนน่าตื่นเต้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุดเด่นอีกอย่างของเรื่องวันพีซก็มาจากฉากบู๊ที่น่าตื่นเต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการวางบุคลิกตัวละครที่แข็งแรง อาวุธ ท่าไม้ตาย ผลปิศาจ หมัดยางยืดของลูฟี่ เพลงดาบของโซโร ลูกถีบของซันจิ อาวุธของแฟรงกี้ รวมไปถึงความสามารถของเหล่าตัวร้าย ประกอบกับการวาดฉากต่อสู้อันแสนดุเดือดของอาจารย์โอดะ ทำให้เรื่องวันพีซเป็นเรื่องราวการเดินทางผจญภัยผสมเรื่องราวการต่อสู้ได้อย่างลงตัว
หากลองสังเกตดูถึงมังงะแนวการต่อสู้ในยุคก่อนมิลเลนเนียม มักให้ความสำคัญกับรายละเอียดเรื่องการต่อสู้เป็นหลัก เล่าเรื่องอย่างไรให้ดุเดือด เลือดท่วมจอ โชว์ไม้ตายใหม่ๆ ที่คิดค้นได้ เอาชนะคู่ต่อสู้ที่แสนเก่งที่ทยอยเรียงหน้าเข้ามาอะไรทำนองนี้
แต่การที่เน้นเรื่องการต่อสู้และฉากแอ็คชั่น ก็ทำให้องค์ประกอบส่วนอื่นสำคัญน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นเรื่อง เหมือนกับว่าเส้นเรื่องมีไว้เพื่อรับใช้ให้เกิดการต่อสู้เท่านั้นเอง อาทิเช่นเรื่องอย่างนักเรียนนายร้อยเดนตาย (ขุนพลประจัญบาน) คินนิคุแมน เซนต์เซย่า
อาจจะมีบ้างบางเรื่องที่ “แอ็คชั่นเด่น เส้นเรื่องดี” อย่างดราก้อนบอล หรือข้าชื่อโคทาโร่ แต่ก็ไม่ได้มีมากนัก
8. เรื่องครบรส
แม้ว่าอารมณ์และโทนเรื่องหลักของวันพีซจะเป็นความรื่นเริง มองโลกในแง่ดี สนุกสนาน แต่วันพีซก็ยังมีอารมณ์แบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นความเหงา โดดเดี่ยว โศกเศร้า ดราม่า ที่ผู้เขียนก็ทำได้ดี
9. กิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงการวางแผนการเขียนมาอย่างดี
สิ่งหนึ่งที่แฟนคลับวันพีซมักกระทำคือการเชื่อมโยงเงื่อนงำต่างๆ ของเรื่องซึ่งเชื่อกันว่าผู้เขียนกำลังบอกใบ้เรื่องข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง
เมื่อใครพบเงื่อนงำอะไรก็มักนำมาแชร์กัน และหลายครั้งที่เรื่องเหล่านั้นเป็นจริงตามที่นักอ่านคาดเดา ก็เลยยิ่งเกิดกระแสกันใหญ่ ลองสังเกตจากกระทู้ต่างๆ ในพันทิปดูได้
หมายเหตุ การอ้างอิงถึงมังงะเรื่องอื่นๆ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะเปรียบเทียบหรือตัดสินว่าเรื่องใดดีกว่าเรื่องใด เป็นแต่เพียงการนำมาเทียบให้เห็นว่ามีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกับมังงะในอดีตเรื่องใดบ้าง
และจะว่าไปแล้วความโดดเด่นของวันฟีซในปัจจุบันก็เป็นผลมาจากพัฒนาการของวงการมังงะญี่ปุ่นที่มีเรื่องอื่นๆ ในยุคก่อนหน้าที่ปูทางไว้ก่อนแล้ว แฟนมังงะเรื่องอื่นที่ถูกพาดพิงถึงมิต้องโทสะแต่อย่างใด​
#blockdit

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา