13 ม.ค. 2019 เวลา 23:53 • ธุรกิจ
No.3
“Oversubscribed”
“สร้างธุรกิจที่คนอยากซื้อมาก จนยอมต่อคิว”
จำนวน: 220 หน้า
ผู้เขียน: แดเนียล พลีสลีย์
สนพ: Live Rich
หมวด: บริหารธุรกิจ
แท็กไลน์: “เปลี่ยนวิธีการ ไม่เปลี่ยนคุณค่า"
ถ้าจะนิยามหนังสือเล่มนี้
ก็ตรงๆ ตามชื่อภาษาไทยเลยครับ คือ ว่าด้วยเรื่อง “การสร้างธุรกิจ” ขึ้นมา และเป็นที่ต้องการของลูกค้าจนถึงขนาดผู้คนต้องยอมต่อคิวกันอย่างยาวเหยียด
 
คลาสสิคเคส ที่ทุกคนพอจะนึกออก ก็เป็นการที่คนยอมมากางเต้นท์นอน เพื่อรอซื้อ “ไอโฟน” รุ่นใหม่ๆ ก่อนที่ “แอปเปิ้ล” จะวางขายในวันรุ่งขึ้น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สมัยนี้ยังคงมีแบบนั้นอีกรึเปล่านะครับ
.
หรือในบ้านเรา ที่เคยเกิดกับขนมที่แปลกใหม่ อย่าง โรตีบอย คริสปี้ครีม
แต่ความสำเร็จช่วงแรกๆ กลับไม่ยั่งยืน
.
หนังสือเล่มนี้จะวิเคราะห์ ให้แนวคิด และกระบวนการเพื่อให้ธุรกิจของคุณเป็นที่ต้องการในระดับสูงนั่นเองครับ
หนังสือมีแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หลักการ วิธีการ และทีมงาน
ส่วนตัวผมชอบ “หลักการ” มากที่สุดครับ เลยจะนำมาแบ่งปันทั้งหมด 7 ข้อ ครับผม มาว่ากันเลย
หลักการที่ 1: อุปสงค์ และอุปทาน เป็นตัวกำหนดราคา
.
.
หลักคร่าวๆ ก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องเอาอกเอาใจคนทั่วทั้งตลาด เพียงแค่หาคนเพียงไม่กี่คนที่พวกเค้า “เต็มใจที่จะจ่าย” ตามคุณค่าที่มี
พัฒนาสินค้า หรือบริการให้ดีที่สุด คุณจะตั้งราคาให้สูงก็ได้ สร้างเรื่องราวแวดล้อมสินค้า และพิสูจน์ตนเองว่า คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ จะดีกว่าการแข่งขันด้านราคาอย่างเดียวครับผม
สร้างเงื่อนไขของ “ความจำกัด” หากสินค้ามีน้อย คุณภาพสูง แต่ความต้องการมีอยู่มาก คุณก็จะสามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมากมาย
.
.
ยกตัวอย่าง...
.
“แกรี่ เวร์เนอร์ชัค” นักพูด ผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นนักธุรกิจชื่อดังในอเมริกา ได้จัดสัมมนาในสถานที่แห่งหนึ่ง
เมื่อตอนใกล้จบ แกรี่ ให้คนทั้งห้องประชุมจำนวน 400 คน “เปิดประมูล” การให้คำปรึกษากับเขาตัวต่อตัว โดยเขาจะรับเพียงคนเดียวเท่านั้น ก่อนประมูล เขาเล่าเพิ่มอีกว่า การพูดคุยกันจะทำให้ คนที่ได้คุย สามารถเข้าถึงเครือข่ายอันทรงคุณค่า และสามารถทำเงินได้เพิ่ม 5,000 ปอนด์ (ราว 2 แสนบาท) ด้วยเวลาไม่ถึงเดือน
โดยเงินค่าปรึกษาจะนำไปบริจาคเพื่อการกุศล
สุดท้าย เกิดการแข่งขันกันแบบโกลาหล และการประมูลไปจบที่คน 2 คน ยอมจ่ายคนละ 4,000 ปอนด์ (ราวๆ 1.6 แสนบาท) เพื่อพูดคุยกับเขาเพียงคนละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
หลักการที่ 2: แยกตัวเองออกจากตลาด
.
.
หาวิธีที่ช่วยให้คุณสร้างตลาดในแบบตนเอง
สิ่งที่ควรทำคือ “สื่อสาร” คุณค่าออกไปบ่อยๆ อย่าเปลี่ยนแปลงไปมา และควรทำสารที่เกี่ยวข้องกับคุณออกมาอย่างหลากหลาย เช่น เขียนบทความ ทำเฟสบุ๊คไลฟ์ ทำคลิปวิดีโอ ทำอินโฟกราฟฟิค เพื่อให้เกิดภาพจำในหมู่ผู้ที่จะมาเป็นลูกค้า
อีกอย่าง ของที่คุณนำมาเสมอ ก็ควรประกอบไปด้วยหลายระดับราคา เพื่อให้ผู้คนได้เลือกด้วย
ถ้าคุณทำได้ต่อเนื่อง และเมื่อมีคนเริ่มเห็นคุณค่า อาจจะไม่ต้องมีหลายคนหรอกครับ โอกาสต่างๆ จะหลั่งไหลเข้ามาอย่างแน่นอน
.
.
ยกตัวอย่าง…
.
ก่อนหน้านี้ เงินดิจิตัลที่ชื่อ “บิตคอยน์” เป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่เห็นคุณค่า แต่เมื่อมี “คนกลุ่มน้อย” ที่เห็นศักยภาพของมัน จนเกิดการประมูล ทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ กระโดดจากเพียง “20 เหรียญ” (ราว 600 บาท) ไปเป็น “1,000 เหรียญ” (ราว 32,000 บาท) ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน ราคาของบิตคอยน์ หรือ คริปโตเคอร์เรนซี่ ก็ยังไม่นิ่ง และยังมีข้อสงสัยในการใช้อีกมาก จึงต้องหาข้อมูล และดูความเสี่ยงให้ดีก่อนนะครับ
หลักการที่ 3: ปัจจัยทั้ง 4 ที่จะช่วยให้คนต้องการสินค้า
.
ปัจจัยที่ว่าก็คือ
3.1 นวัตกรรม
สิ่งใหม่ๆ ที่คุณสร้าง (และมีคุณค่าพอ) ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด นวัตกรรมส่วนใหญ่ ถ้าเป็นสิ่งที่ผู้สร้างให้ความหลงใหลกับมัน ผู้อื่นก็ยากที่จะเลียนแบบ หรือแข่งขันได้
.
.
3.2 ความสัมพันธ์
เป็นเจ้าของความสัมพันธ์กับตลาด พัฒนาตนเองให้มีความสามารถเพื่อให้ผู้คนยอมรับ สร้างแบรนด์ส่วนบุคคลให้แก่ตนเอง และสินค้าไปพร้อมๆ กันด้วย
.
.
3.3 ความสะดวกสบาย
อะไรก็ตามที่ง่ายต่อผู้ซื้อ ย่อมได้รับความประทับใจที่เหนือกว่าผู้อื่นในตลาด ส่งสินค้าให้ดีขึ้น เร็วขึ้น รวมทั้งพัฒนาระบบอัตโนมัติ เพื่อตอบรับความคาดหวังของลูกค้าด้วย
.
.
3.4 ราคา
ไม่ใช่ราคาที่ถูกกว่าจะเป็นที่ต้องการเสมอไป แต่เป็นราคาที่คุ้มค่ากับสิ่งที่คุณนำเสนอ ลดต้นทุน ด้วยวิธีการลงทุนที่เหมาะสมก่อน ปรับปรุง และสร้างระบบเพื่อช่วยให้คุณมีกำไรมากขึ้น
.
.
ยกตัวอย่าง....
.
อันนี้เป็นสิ่งที่ผมสังเกตเอง นั่นคือ “แอพพลิเคชั่นของธนาคาร” ต่างๆ ในมือถือ ที่ช่วยให้ธุรกรรมทางการเงินสะดวกสบายยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารไปได้อย่างมากมาย เลยรู้สึกว่า สังคมไทยกำลังค่อยๆ เปลี่ยนผ่าน และใช้เงินกระดาษน้อยลง
ในขณะที่ประเทศจีน ที่มีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก ก็ลดการใช้เงินไปเยอะแล้วล่ะครับ
หลักการที่ 4: บรรยากาศในการซื้อทำให้เกิดผู้ซื้อ
.
คนไม่เคยซื้อของโดยใช้ตรรกกะ หรือเหตุผล แต่ซื้อเพราะบรรยากาศพาไป จงคิดและออกแบบวิธีการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ สิ่งสำคัญคือ พึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้คนชอบซื้อของสิ่งไหนก็ตาม ที่ “ผู้อื่น” ต้องการซื้อ
เปิดหูเปิดตา ตั้งคำถามเอง อยู่เสมอว่าผู้คนต้องการอะไร และสร้างสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา
.
.
ยกตัวอย่าง…
.
ห้างสรรพสินค้าในกรุงปารีส ชื่อ “แกลอรี่ ลาฟาเยตต์” เป็นห้างที่ขายกระเป๋าชาแนล “แบบพิเศษ” ที่ลูกค้าไม่สามารถเดินเข้าไปเลือกซื้อกระเป๋าได้ง่ายๆ
ลูกค้าต้องต่อแถวที่หน้าประตู แล้วจะมีพนักงานมาสอบถามว่าต้องการดูสินค้ารุ่นใด จากนั้นจึงพาเข้าไปในร้าน เพื่อเลือกกระเป๋าที่ผลิตออกมาแบบ “จำกัด” เมื่อได้กระเป๋าสมใจแล้ว ลูกค้าจะมีความสุขมากๆ ในขณะที่คนยืนรอต่อแถวนอกร้านให้ความชื่นชม และอยากได้รับโอกาสแบบคุณบ้าง
หลักการที่ 5: มันเป็นเรื่องโอเคที่จะแตกต่าง
.
คุณไม่จำเป็นต้องทำตามอย่างคนอื่น
ยุคสมัยนี้ ความแตกต่าง ถือเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยม คุณไม่จำเป็นต้องยอมลูกค้าทุกคน สิ่งที่ควรกลับมาโฟกัสให้มากที่สุด คือ เผยแพร่ปรัชญาของสินค้าออกไป ยิ่งชัดเจนมากเท่าไหร่ ลูกค้าที่ชอบในปรัชญาของคุณก็จะถูกดึงดูดให้เข้าหาคุณได้อย่างเป็นธรรมชาติเอง
.
.
ยกตัวอย่าง…
.
มีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่งที่บริเวณทะเลสาบโกโม ประเทศอิตาลี ร้านชื่อว่า “เทรเมสโซ่” เป็นร้านที่แน่นขนัดทุกคืน นักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยต่างแห่แหนกันมาที่ร้านนี้
เพียงแต่ว่า ร้านนี้ตั้งอยู่ในซอยแคบๆ ห่างทะเลสาบไปเป็นไมล์ ไม่มีวิวสวยๆ เลย เก้าอี้ก็เป็นแบบพลาสติกถูกๆ และบริการแบบบ้านๆ ของ 2 สามีภรรยาที่ดูเชยๆ ที่ต่างจากร้านอื่นๆ ที่หรูหรากว่า
สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างก็คือ พิซซ่าที่ยอดเยี่ยม จากความเอาใจใส่ของเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ หอมใหญ่ สมุนไพรต่างๆ ที่ปลูกเอง รวมทั้งแป้งพิซซ่าที่ทำเอง ทำให้รสชาติถูกปากลูกค้าอย่างมาก
6.คุณค่านั้นถูกสร้างในระบบนิเวศ
.
คุณควรส่งมอบคุณค่าออกไปอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นข้อมูล ความคิด สูตรต่างๆ สิ่งที่คุณถนัดหรือเชี่ยวชาญมากกว่าคนอื่นๆ
รูปแบบใหม่ของธุรกิจคือ “ให้ข้อมูลฟรีๆ” แล้วค่อยเก็บเงินอย่างจริงจัง เมื่อพวกเขาต้องการใช้บริการของคุณ
หรือ หากคุณรู้ดีว่า แก่นความสำเร็จ หรือแตกต่างที่ลูกค้าให้ความสำคัญอย่างแท้จริง ให้เลือกพัฒนาโดย “คงเอกลักษณ์” อันโดดเด่นนั้นเอาไว้
.
.
ยกตัวอย่าง…
.
ไม่ว่าจะเวลาจะผ่านไปกี่ปี หรือมีนวัตกรรมใดๆ เกิดขึ้นมาใหม่ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ “พอร์ช” (Porche) ไม่เคยเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของรถ ที่ดูละม้ายคล้าย “กบ” ของเขาเลย
งานออกแบบของพวกไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี ก็สามารถมองเห็น และรู้ได้ทันทีว่า นี่แหละ คือรถยนต์พอร์ช
.
7. ไม่มีอะไรเอาชนะความยอดเยี่ยมของคุณ
.
นอกไปจากสินค้าที่ยอดเยี่ยมแล้ว
ให้สร้าง “แบรนด์บุคคล” ของคุณให้โดดเด่นในโลกออนไลน์ ให้ผู้คนพูดถึงคุณในแง่บวก แล้วคุณจะไม่ต้องใช้งบการตลาดอย่างมากมายเลย
.
.
ยกตัวอย่าง…
.
“ริชาร์ด แบรนสัน” คือ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากธุรกิจที่เข้มแข็งแล้ว “ภาพลักษณ์” ของตัวเขาเองยังแยกกับสินค้าแทบไม่ออก
นอกจากริชาร์ดจะเป็นคนที่เก่งมากๆ แล้ว เขามองโลกในแง่ดี พลังงานสูง และสนุกสนาน องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นทั้งแบรนด์บุคคล และสินค้าไปพร้อมๆ กัน
โดยสรุป…
เดี๋ยวนี้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วล่ะครับ อย่างหนึ่งก็คือ ฉลาด และเก่งมากขึ้น บางครั้งก็รู้มากกว่าผู้ขายซะอีก เพราะข้อมูล มีอยู่เต็มโลกออนไลน์ที่สามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส
ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่คนไปดู ลูบๆ คลำๆ ของจริง และมากดสั่งซื้อออนไลน์ เพราะราคาถูกกว่า แถมบริการส่งให้ถึงบ้าน
.
นอกจากนั้น…
เราล้วนถูกกระตุ้นให้ซื้อของตลอดเวลาผ่านโซเชี่ยลมีเดีย
.
ก่อนหน้านี้ ผู้ชาย “แบบผม” ยังงงๆ ว่า ผู้หญิงน่ะเหรอ จะซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ใส่ ทั้งที่ไม่ได้ลองสวมดูก่อน เพราะภรรยาของตัวเอง กว่าจะเลือกซื้อได้แต่ล่ะชุด เธอยังต้องลองแล้วลองอีกเลย
จนวันหนึ่ง ที่บังเอิญไปเห็นคุณเธอ ดูแม่ค้า Live ขายเสื้อผ้านั่นแหละ เปลี่ยนความเชื่อของผมไปเลย!
Live นั้นมีคนดูหลายพันคน และขายเสื้อผ้าได้รัวๆ !
ขนาดผมดูเอง ยังมันมากๆ จนอยากซื้อเลยคุณ!
และใช่ครับ มีพัสดุที่เป็นเสื้อผ้า ส่งมาที่บ้านผมประจำ 5555
.
.
ธุรกิจ ที่เคยเหงาหงอยอย่างไปรษณีย์ไทย กลับมาสร้างรายได้มหาศาล จนมีการรีโนเวทที่ทำการไปรษณีย์กันขนานใหญ่
ไหนจะบริษัทขนส่งในประเทศหลายๆ เจ้า อย่าง Kerry หรือ SCG และรายอื่นๆ ล้วนได้อานิสงค์จากการดิสรัฟนี้
.
โอกาสเกิดขึ้นเสมอ สำหรับผู้ที่มองหา…
.
แต่สิ่งที่จะทำให้คุณเป็นที่รัก คือ คุณค่า และความเป็นตัวจริงของคุณ
ขอให้ทำธุรกิจประสบความสำเร็จทุกๆ คนนะครับ
แล้วเจอกันใหม่คราวหน้า
.
.
ซิม
14 ม.ค. 62
โฆษณา