15 ม.ค. 2019 เวลา 06:28 • กีฬา
เวกัลตะ เซนได 2011 : ปาฏิหาริย์แห่งสึนามิ
11 มีนาคม 2011 กลายเป็นวันแห่งฝันร้ายของชาวญี่ปุ่น เมื่อแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น นำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากเหตุคลื่นสึนามิซัดถล่มภูมิภาคโทโฮคุ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น)  ตามมาด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด
มีคนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกับ เวกัลตะ เซนได สโมสรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
น้องใหม่เจลีกในตอนนั้น ต้องเจอกับบททดสอบที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา
ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของญี่ปุ่น
ในช่วงบ่ายของวันศุกร์ขณะที่ผู้คนกำลังใช้ชีวิตตามปกติก่อนถึงวันหยุดสุดสัปดาห์  ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูด นอกชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น ความแรงรู้สึกได้ แม้กระทั่งคนบนแผ่นดินใหญ่
แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเป็นเรื่องเคยชินสำหรับชาวญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ แต่แรงสั่นไหวในครั้งนี้มันมากเกิดปกติ  ราวกับว่าเป็นสัญญาณเตือนถึงลางร้ายบางอย่าง
ช่วงเวลาไม่กี่นาทีต่อจากนั้น คลื่นยักษ์โหมเข้าซัดถล่มชายฝั่งของภูมิภาคโทโฮคุ บางพื้นที่คลื่นซัดเข้าไปไกลถึง 14 กิโลเมตร บ้านเรือนผู้คนลอยไปกับสายน้ำพร้อมกับเรือประมง
ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว ผู้คนจำนวนมากถูกกลืนหายไปกับสึนามิ จากรายงานระบุว่ามีผู้เสียชีวิตและสูญหายสูงถึง 18,000 คน เหตุการณ์นี้ ถือเป็นภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในแดนอาทิตย์อุทัยเท่าที่เคยมีมา
คลื่นยักษ์ยังซัดถล่มโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่จังหวัดฟุคุชิมา จนส่งผลให้แกนปรมาณูหลอมละลาย จนต้องอพยพคนกว่าแสนคนออกจากพื้นที่ บ้านเมืองกลายเป็นเมืองร้าง ไฟฟ้าใช้งานไม่ได้ในบางพื้นที่ รถไฟต้องหยุดวิ่งชั่วคราว
เซนได เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด บ้านเรือนริมชายหาด ถูกคลื่นยักษ์ซัดจนราบเป็นหน้ากลอง บางเมืองถูกพลังของสึนามิ พรากชีวิตผู้คนไปกว่าครึ่งเมือง สนามบินจมอยู่ใต้น้ำจนใช้การไม่ได้
ทุกอย่างดูสิ้นหวังไปหมด ส่วนฟุตบอล แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ภายใต้สถานการณ์นี้ เวกัลตะ เซนได ตัวแทนของเมือง ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดเป็นปีที่ 2 ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องทำอย่างไร
รับน้องสุดโหด
“ทันทีหลังแผ่นดินไหวและสึนามิ เราในฐานะทีม ไม่แน่ใจว่าเราควรจะ หรือสามารถเล่นฟุตบอลต่อไปได้ไหม” มาโคโตะ เทงุราโมริ กุนซือเวกัลตะสมัยนั้นกล่าว
เวกัลตะ เซนได ตอนนั้นถือเป็นน้องใหม่ของเจลีก หลังจากวนเวียนอยู่ในเจ2 อยู่หลายฤดูกาล ทีมดังจากจังหวัดมิยางิ ก็สามารถเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดได้สำเร็จจากตำแหน่งแชมป์เจ 2 ในปี 2009 ก่อนจะจบในอันดับ 14 ของตารางลีกสูงสุดในปีถัดมา
“เซนได มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและเกือบจะได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในเจ 1 แต่ก็ทำไม่ได้ พวกเขารอ รอ และรอ และหลังจากรอมา 7 ปี พวกเขาก็เลื่อนชั้นได้สำเร็จ” โคจิ ทาคาโอะ นักเขียนจากนิตยสาร Weekly Soccer ของญี่ปุ่นกล่าวกับ CNN
ฤดูกาล 2011 คือบททดสอบอย่างแท้จริงสำหรับทีมน้องใหม่ทีมนี้ พวกเขาที่เป็นทีมหนีตกชั้นเริ่มต้นฤดูกาลด้วยการบุกไปเสมอกับ ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา ถึงบิ๊กอาร์ช สเตเดียม ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ทว่าภัยพิบัติวันที่ 11 มีนาคม 2011 ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไป
เวกัลตะ กลายเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัย เนื่องจากจังหวัดมิยางิเป็นพื้นที่ที่ถูกภัยธรรมชาติเล่นงานหนักที่สุด ยัวร์เทค สเตเดียม รังเหย้าของพวกเขาเสียหายจากแผ่นดินไหวจนใช้งานไม่ได้ สนามซ้อมจมอยู่ใต้น้ำ มีผู้เล่นและสต้าฟฟ์โค้ชหลายคนได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์นี้
“ทีมในตอนนั้นมีผู้เล่นหลายคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยพิบัติ” เรียง ยองงี กัปตันเวกัลตะในตอนนั้นรำลึกความหลังในคืนแรกหลังเกตุการณ์ภัยพิบัติกับ The World Game
“มันเป็นสถานการณ์ที่วิตกกังวลมาก เนื่องจากไฟฟ้าทั้งหมดถูกตัด มองเห็นไปแต่ความมืด สิ่งเดียวที่เห็นคืออะไรบางอย่างที่กำลังไหม้ไฟ”
หลังเหตุการณ์ หลายเมืองเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง สภาพจิตใจคนในพื้นที่ย่ำแย่เต็มที่ ส่วนเจลีก พักการแข่งขันชั่วคราวท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกทั้งฤดูกาล เนื่องจากมองว่าในสถานการณ์เช่นนี้คงไม่มีใครมีกะจิตกะใจมาแข่งฟุตบอลอีกแล้ว
ทุกอย่างเลวร้ายเหมือนกับว่า เวกัลตะ เซนได และฟุตบอลในภูมิภาคโทโฮคุกำลังจะล่มสลาย
สู่จุดจบ?
หลังเหตุภัยพิบัติ นอกจากความสูญเสียในภาพรวม เวกัลตะ ยังต้องพบข่าวร้าย เมื่อมาร์ควินญอส กองหน้าระดับตำนานของเจลีกที่เพิ่งได้ตัวมาร่วมทีม กังวลเรื่องความปลอดภัยจากสถานการณ์ในพื้นที่ และขอยกเลิกสัญญากลับบราซิล
“การที่มาควินญอสออกไปจากทีมส่งผลกระทบอย่างมหาศาลให้แก่ทีม แต่ผู้เล่นคนอื่นทุกคนก็รู้สึกว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้ เนื่องจากเป็นเรื่องครอบครัวของเขา” เทงุราโมริ กล่าวกับ CNN
“ช่องว่างที่เกิดขึ้นจากเขา จึงต้องเติมเต็มจากผู้เล่นที่เหลือ ที่ทำให้ทีมแข็งแกร่ง และสามัคคีกันมากขึ้น”
การจากไปของ มาร์ควินญอส ทำให้พวกเขาต้องเร่งหานักเตะต่างชาติคนใหม่มาเสริมทีมเป็นการด่วน แต่โชคร้าย ไม่มีใครสนใจมาเล่นให้กับพวกเขา
“สิ่งที่เรากำลังพยายามมันเลวร้ายมาก ผมไม่มีไอเดียว่าเราจะก้าวต่อไปได้อย่างไร” โมริชิเงะ มัตสึบาตะ เจ้าหน้าที่แผนกกลยุทธ์ของเวกัลตะกล่าวกับ The Blizzard
“แฟนบอลเวกัลตะ จำนวนมากเสียชีวิตไปจากภัยพิบัติ อีกหลายคนไม่มีบ้านอยู่ ทุกคนก็รู้ว่ามีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น สนามก็ได้รับความเสียหาย ถ้าทุกคนกระโดดออกจากเรือลำนี้ ผมคิดเอาเองว่าเวกัลตะ และฟุตบอลทั่วทั้งโทโฮคุ น่าจะพังทลายไปเลย”
ท่ามกลางความมืดมิด แสงแห่งความหวังก็มาจากผู้คนและแฟนบอลในเมืองเซนได
แสงแห่งความหวัง
ผ่านไปราวเกือบเดือน ท่ามกลางการถกเถียงจากหลายฝ่าย ในที่สุดเจลีกก็มีมติว่าเกมการแข่งขันจะกลับมาเตะอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งเป็นคิวที่ เซนได ต้องบุกไปเยือนคาวาซากิ ฟรอนทาเล
ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย แต่สนามโทโรโดกิ กลับมีผู้ชมเข้ามาชมเกมกันอย่างเนืองแน่น พื้นที่ส่วนหนึ่งของอัฒจันทร์เต็มไปด้วยสีเหลืองของแฟนบอลเวกัลตะกว่าพันคนที่ตามมาเชียร์ ก่อนเกมได้มีการยืนสงบนิ่งไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต
“ผมนึกไม่ออกว่าผมจะเริ่มเกมด้วยความรู้สึกอย่างไร” เทงุราโมริ ที่ขณะนี้รับตำแหน่งกุนซือทีมชาติญี่ปุ่นชุดโอลิมปิกกล่าวก่อนเกมพบฟรอนทาเล
“ถ้าเราเล่นได้ดี เราจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนในเซนไดและภูมิภาคโทโฮคุ และมอบความหวังให้แก่พวกเขา เราอยากเป็นพลังให้กับพวกเขาที่กำลังสิ้นหวัง”
แต่กลายเป็น ฟรอนทาเล ที่เริ่มต้นได้อย่างดุดัน และเป็นฝ่ายออกนำไปก่อน จากยูซุเกะ ทานากะ ในนาทีที่ 37 แม้ว่าจากนั้นเจ้าบ้านพยายามบุกหนัก แต่ก็ทำประตูเพิ่มไม่ได้ ทำให้ครึ่งแรกยังนำอยู่แค่ 1-0
ทว่าครึ่งหลัง กลายเป็นเซนได ที่ฮึดตามตีเสมอได้สำเร็จในนาทีที่ 73 จากจังหวะที่ โยชิอากิ โอตะ ยิงไปแฉลบผู้เล่นของฟรอนทาเล เปลี่ยนทางเข้าไป ท่ามกลางความดีใจอย่างสุดขีดของเจ้าตัว ราวกับสิ่งที่อัดอั้นทุกอย่างได้ปลดปล่อยออกมา
แม้จากนั้นฟรอนทาเล จะพยายามโหมเกมรุก หวังประตูชัย แต่ก็ไม่ผ่านแนวรับของเซนได เกมทำท่าว่าจะจบลงด้วยผลเสมอ แต่ก่อนหมดเวลาเพียง 3 นาที แฟนบอลของเวกัลตะ ก็มาได้เฮเต็มเสียง เมื่อ จิโร คามาตะ โหม่งลูกเตะมุมของเรียง ยอง งี เช็ดเสาเข้าไปตุงตาข่ายคว้าชัยได้สำเร็จ
“ถ้าเราเล่นฟุตบอล มันจะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ความปกติ” เทงุราโมริกล่าว
“ในฐานะฟุตบอลมันคือเกมของทีม มันคือกีฬาที่ทำให้เราแสดงความแข็งแกร่งของความสามัคคี เราสามารถเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับคนดูด้วยการเล่นที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาน การทุ่มเทเพื่อชัยชนะของเรา จะเป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้พวกเขามีความกล้าหาญที่จะใช้ชีวิตต่อไป”
เกมนัดนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการคว้าชัย 11 นัดรวดของพวกเขา ก่อนที่จะจบในอันดับ 4 ของตาราง สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร ก่อนที่ฤดูกาลต่อมา พวกเขาจะกลายเป็นทีมลุ้นแชมป์อย่างเหลือเชื่อ และคว้าอันดับ 2 พร้อมได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรก
“ทุกคนที่ติดตามเจลีกตกใจกับผลงานของเซนได ผมได้เจอคนมากมายที่ได้รับกำลังใจจากเวกัลตะ ในเวลาเดียวกัน แฟนบอลและผู้เล่นรู้ว่าการที่ดำเนินต่อไปได้มันสำคัญมาก” ทาคาโอะ นักเขียนจากนิตยสาร Weekly Soccer กล่าวกับ CNN
“ผู้คนในเซนได เริ่มเร่งฟื้นฟูสนาม แม้ว่าบางส่วนจะเสียหายค่อนข้างมากจากวันที่ 11 มีนาคม แต่พวกเขาก็สามารถใช้มันต้อนรับการมาเยือนของอุราวะได้ในวันที่ 29 เมษายน พวกเขาซ่อมแซมสนามได้เร็วมากๆ”
“มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์เช่นนี้ การที่จะทำผลงานได้ดีต่อเนื่องอีกและกลับไปอยู่อันดับท็อปของตารางเจลีกทำให้ผู้คนในเซนไดและโทโฮคุภูมิใจ”
ผลงานของเวกัลตะ คล้ายกับฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น ที่ลงเตะในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกปี 2011 นาเดชิโกะ ทะลุผ่านเข้าไปถึงนัดชิงชนะเลิศได้อย่างเหนือความคาดหมาย ในเกมนัดชิงดำพวกเธอโดนสหรัฐอเมริกา เจ้าของแชมป์โลก 2 สมัย (ในขณะนั้น) นำถึงสองครั้งสองครา แต่ก็ตามตีเสมอได้ ก่อนจะเอาชนะไปด้วยการดวลจุดโทษ คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ
“สิ่งที่เวกัลตะ และนาเดชิโกะ แสดงให้เห็นคือพวกเขาไม่ยอมแพ้” ทาคาโอะกล่าวเสริม
“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงเชียร์เวกัลตะ แต่การเชียร์นี้ไม่ใช้ในแค่ทีมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตัวเองและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ”
ล้มลงเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นแปดครั้ง
“ขอบคุณเพื่อนของเราทุกคน เราจะไม่มีวันยอมแพ้จนกว่าบ้านเกิดของเราจะกลับมาเหมือนเดิม” ป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่แขวนไว้ในสนามโทโรโดกิ สเตเดียม ในเกมนัดแรกของเวกัลตะ นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติ
พวกเขาทำได้ตามคำสัญญาว่าจะไม่ยอมแพ้ และยังเปลี่ยนตัวเองพวกเขาเปลี่ยนตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาฟื้นฟูบ้านเกิดให้กลับมาดังเดิม
ในขณะเดียวกัน คนในพื้นที่ก็กลายเป็นกำลังใจให้พวกเขาทำผลงานได้อย่างเกินร้อย จนสร้างประวัติศาสตร์จบในอันดับสูงสุดด้วยอันดับ 4 ในปี 2011 และ รองแชมป์ในปี 2012 ผ่านเข้าไปเล่นในเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก กลายเป็นต่างฝ่ายต่างช่วยเกื้อกูลกัน
ผ่านมา 7 ปี จนถึงวันนี้ สภาพบ้านเมืองส่วนใหญ่ของพื้นที่ประสบภัยฟื้นฟูจนกลับมาจนเกือบปกติ แม้ว่าบางพื้นที่ กลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากผู้คนไม่อยากกลับมาในสถานที่ที่สร้างบาดแผลในหัวใจแก่พวกเขา แต่ก็สามารถพูดได้ว่าภูมิภาคโทโฮคุตอนนี้เกือบจะกลับมาเหมือนเดิมแล้ว
เช่นเดียวกับ เวกัลตะ ที่กลายเป็นทีมในเจลีก1 อย่างเต็มตัว แม้ว่าบางฤดูกาลอาจจะวนเวียนอยู่ในโซนครึ่งล่างของตารางบ้าง แต่ในซีซั่นล่าสุดพวกเขา  สามารถสร้างความฮือฮาด้วยการขึ้นไปยึดอันดับต้นๆของตารางในช่วงต้นฤดูกาล แม้ว่าจะแผ่วปลายจนจบในอันดับ 11 แต่ในบอลถ้วยจักรพรรดิสามารถก้าวขึ้นไปถึงนัดชิงชนะเลิศ และคว้าตำแหน่งรองแชมป์ในที่สุด
ในภาษาญี่ปุ่น มีสุภาษิตที่ว่า “ล้มลงเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นแปดครั้ง” (七転び八起き) ซึ่งหมายความว่าการไม่ย่อท้อท้อถอย แม้จะล้มกี่ครั้งก็ตาม และหากไม่ย่อท้อและพยายามให้ถึงที่สุด สักวันหนึ่งก็จะต้องสำเร็จ
ในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นต้องผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมานับไม่ถ้วน ทั้งเกิดขึ้นจากผู้คนและภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง แผ่นดินไหวที่โกเบ 1995 แผ่นดินไหวจูเอ็ตสึ 2004 ภัยพิบัติ 11 มีนาคม 2011 หรือล่าสุดแผ่นดินไหวที่คุมาโมโต ปี 2016
แต่ไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน พวกเขาก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ทุกครั้ง นี่คือจิตวิญญาณของญี่ปุ่น ที่ทำให้ปาฏิหาริย์แห่งสึนามิของเวกัลตะ เซนได ยังคงเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณบทความดีๆจาก:main​ stand
โฆษณา