14 ม.ค. 2019 เวลา 16:43 • สุขภาพ
ที่เธอเห็นแค่ฝุ่นมันเข้าตา ฉันไม่ได้ร้องไห้~🎶
เปิดหน้าต่างในเช้าวันจันทร์ที่คละคลุ้งไปด้วยฝุ่นละอองเต็มท้องฟ้า พร้อมบทเพลงของคุณอะตอม ชนกันต์ ดังขึ้นมาในหัว แทบลมจับเมื่อสัมผัสได้ถึงมลภาวะที่ก่อตัวจำนวนมาก กับความรู้สึกไม่สบายตัวอย่างบอกไม่ถูก สภาพอากาศที่เลวร้ายนี้เป็นผลพวงมาจากค่าของฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ ฝุ่นละอองที่เล็กประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผมนั่นเอง
PM 2.5 ที่เราเห็นในวันนี้เป็นผลพวงมาจากการเจริญเติบโตของระบบอุตสาหกรรมในเมืองกรุง ที่พัฒนาเร็วเกินไป จนทำให้กรุงเทพฯ ติด Top 10 เมืองที่มีมลภาวะยอดแย่ที่สุดในโลก! (Greenpeace Thailand, 2019)
ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในระบบขนส่งสาธารณะ การเผาไหม้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่มีอยู่แทบทุกที่ในเมืองกรุง (กรมควบคุมมลพิษ, 2562)
เป็นที่น่าสังเกตว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ประเทศไทยกำหนดไว้สูงถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
วันนี้ค่าฝุ่นละอองที่วัดได้ในไทยสูงถึง 79-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (กรมควบคุมมลพิษ,2562) เพราะฉะนั้นหากเทียบกับมาตรฐานสากลแล้ว ค่าฝุ่นละอองของไทยจึงเกินไปมากโขเลยทีเดียว
ผลกระทบโดยตรงคงหนีไม่พ้นปัญหาสุขภาพของชาวกรุง เริ่มตั้งแต่อาการภูมิแพ้ ที่หากเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน ก็คืออาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ บางคนอาจถึงขั้นอาเจียน แต่หากในระยะยาว เมื่อเราสูดเอา PM 2.5 เข้าไปสะสมในร่างกายจำนวนมากและเป็นระยะเวลายาวนาน ย่อมเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและโรคมะเร็งอย่างเลี่ยงไม่ได้ (Greenpeace Thailand, 2017)
โฆษณา