Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Books for Life
•
ติดตาม
17 ม.ค. 2019 เวลา 23:42 • ปรัชญา
เล่ม 4
“Siddhartha"
“สิทธารถะ”
จำนวน: 147 หน้า
ผู้เขียน: เฮอร์มานน์ เฮสเส
ผู้แปล: สดใส
สนพ: สร้างสรรค์บุ๊คส์
หมวด: วรรณกรรม
แท็กไลน์: “งดงามเกินบรรยาย”
หากมีวรรณกรรมสักเล่ม ที่ผมอยากแนะนำให้ผู้ค้นหาและพัฒนาตนเองควรได้อ่านสักครั้งในชีวิต (ยิ่งถ้าคุณนับถือศาสนาพุทธ ก็จะอินได้มากกว่า)
เล่มนั้นคือ “สิทธารธะ” ที่ผมกำลังจะเล่าให้อ่านนี่แหละครับ
ผมได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อปีก่อน ตอนลงเรียนคลาสออนไลน์ของ “คุณกิตติ ไตรรัตน์” The Passion Coach ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาสิ่งที่เราให้คุณค่าในชีวิต อันดับต้นๆ ของเมืองไทย
.
ในคลาสนั้น ก่อนที่จะเริ่มเรียน...
คุณกิตติแนะนำให้ทุกคนชมคลิปรายการ “พื้นที่ชีวิต” ของ Thaipbs ใน Youtube ที่มี “คุณวรรณสิงห์” เป็นพิธีกร รายการนั้นพูดถึง “เฮอร์มานน์ เฮสเส" และหนังสือ “สิทธารธะ” เล่มนี้นี่ล่ะครับ
.
ถ้าคุณเป็นเหมือนผมที่เพิ่งได้ยินชื่อนี้ครั้งแรก ก็จะเกิดความสงสัย
เพราะชื่อเรื่องช่างไปละม้ายคล้ายกับชื่อ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ชื่อเดิมของพระพุทธเจ้าซะเหลือเกิน
ตอนที่ได้ดูนั้น ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือ เท่าวันนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผมก็ดูๆ ไปอย่างงั้นเอง มันไม่ได้อินเท่าไหร่ ทั้งไม่ได้จดจำเรื่องราวใดๆ จากคลิปนั้นเลย
ทว่า….(เป็นอีกครั้งที่) ชื่อหนังสือ “สิทธารธะ” กลับไม่เคยเลือนไปจากใจผม
จนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม หนังสือก็มาอยู่ในครอบครองจนได้
.
หนังสือเล่มนี้ ไม่หนาเลยครับ...
ผมใช้เวลาไม่นานก็อ่านจนจบ…
.
และหลงรักทันที!!!
.
ส่วนคำว่า “สิทธัตถะ” และ “สิทธารณะ” ล้วนมีความหมายในภาษาสันสกฤต แปลว่า “สำเร็จดังประสงค์” เหมือนกันครับ
.
.
เมื่ออ่านจบ ผมย้อนกลับไปดูคลิปยูทูป “พื้นที่ชีวิต” อีกครั้ง พบว่าสนุก และเพลิดเพลินมากๆ
ดังนั้น ก่อนที่คุณจะอ่านต่อไป
ผมขอแนะนำ (เหมือนคุณกิตติ) คือให้คุณชมรายการที่…..
ผมลงลิงค์ไว้ให้ใน “ช่องคอมเม้นท์ข้างล่าง” นะครับ
เพราะคุณจะได้รู้ประวัติของผู้เขียน รวมทั้งเรื่องย่อของหนังสือแบบละเอียด (ถึงจะมีสปอยส์ ก็ไม่สำคัญเท่าไหร่ครับ)
.
.
เมื่อดูจบแล้ว คุณอาจจะกลับมาอ่าน “บทเรียน” ที่ผมได้จากเล่มนี้อีกครั้ง
.
หรือถ้าคุณเคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อนแล้ว จะเลื่อนลงไปอ่านต่อเลยก็ได้นะครับ
======================
.
!!!! SPOILER ALERT !!!!
.
ต่อไปนี้คือ บทเรียนที่ผมได้จากหนังสือสิทธารธะนะครับ ดังนั้นอาจจะเปิดเผยเนื้อหาหลายอย่าง
เนื่องจาก หนังสือเป็นปรัชญา ดังนั้น “สิ่งที่คุณ และผมอ่าน” ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เป็นการตีความได้แบบอิสระตามชีวิตของตนเองนะครับ
.
บทเรียนที่ 1: เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร
.
.
สิทธารถะ เป็นบุตรของพราหมณ์ เขามีฐานะดี รูปงาม เป็นที่หมายปองของสาวๆ
ชีวิตจึงมีความสุขสบายอยู่แล้ว แต่ว่า เขากลับไม่ได้สนใจ หรือพอใจกับสถานะที่เป็นอยู่เลย จากนั้นเขาก็ไม่เชื่อฟังบิดาที่รักเขามากที่สุด และปรารถนาเส้นทางชีวิตของตนเองเป็นหลัก
.
ในชีวิตเรา….
อาจเลือกที่จะไม่ฟังใครก็ได้ หัวใจตนเองต่างหาก คือสิ่งที่ควรฟังที่สุด แต่เมื่อเลือกแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง
.
บทเรียนที่ 2: คำถาม คือจุดเริ่มต้นของชีวิตคุณ
.
คำถามเป็นตัวกำหนดทิศทางที่จะเดินไป ในเมื่อไม่มีความสุขกับชีวิต สิทธารถะจึงตั้งคำถามกับตนเอง และคนรอบข้าง แต่ไม่มีใครสามารถตอบได้เลย
เมื่อถามพระพุทธเจ้า คำตอบก็กลับไม่น่าพอใจ
ดังนั้นเขาจึงออกเดินทางหาคำตอบเอง แต่ไม่หยุดที่จะตั้งคำถาม และนั่นกลายเป็นเข็มทิศชีวิต เปลี่ยนสถานะ ไปจนพบความสุขในตอนท้าย
.
ในชีวิตเรา…
มักไม่ค่อยตั้งคำถาม เพียงแค่ทำตามๆ กันไป หรือบางครั้งก็มีคำถามเหมือนกัน แต่กลับไม่กล้าลงมือปฏิบัติเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น
หน้าที่ของเราจึงควรตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบเพื่อตนเอง
.
บทเรียนที่ 3: อย่ายึดติดวิธีการ แต่ยึดเป้าหมาย
.
เป้าหมายของสิทธารถะ คือหาคำตอบที่น่าพอใจแก่ตนเอง โดยไม่สนใจที่จะทำตามแบบอย่างของใคร เขาได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก กลายเป็นสมณะ พ่อค้า และคนแจวเรือ ด้วยวิธีที่เหมาะแก่ตนเองที่สุด
ในชีวิตเรา…
มีหลายอย่าง ที่เรามีความเก่งมากกว่าใคร และความแตกต่างนี้แหละ คือพรสวรรค์ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์
.
บทเรียนที่ 4: บางครั้งชีวิตก็ต้องไปทางอ้อมบ้าง
.
สิทธารธะไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้งที่ลงมือทำ
หลายครั้ง แม้จะทำเต็มที่ กลับประสบความลำบาก ความล้มเหลว แต่เขาจะได้บางสิ่งกลับคืนมาเสมอ
.
ในชีวิตเรา…
บางครั้ง บทเรียนชีวิต การประสบความสำเร็จก็มาหาเราในรูปแบบของอุปสรรค หรือความล้มเหลว
เราต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบชีวิตตนเอง ผลลัพธ์จึงจะออกมายอดเยี่ยมเสมอ
บทเรียนที่ 5: ความผิดพลาด คือ การไม่ยอมตามเสียงหัวใจตนเอง
.
สิทธารณะ ฟังเสียงหัวใจตนเองเสมอ แม้จะมีบางช่วงที่เขาหลุดไปบ้าง จนไม่ได้ยินเสียงความต้องการของตนเอง แต่เขาจะกลับมาได้อยู่ในเส้นทางตื่นรู้ได้เสมอ จนหาความสุขได้ในทุกช่วงของชีวิต
.
ในชีวิตเรา…
ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ที่หลายคนให้ค่า “ความสุขของตนเอง” ไว้เป็นลำดับท้ายๆ โดยโฟกัสที่ความสุขของคนรอบข้างเป็นหลัก
แต่ เราไม่มีทางทำให้ผู้อื่นมีความสุขได้ตลอดเวลาหรอกครับ ถ้าทำไปเรื่อยๆ เราจะเหนื่อย และรู้สึกกลวงเปล่าในจิตใจ ดังนั้น ฟังเสียงความสุขของตนเองบ้าง จะดีกว่านะครับ
บทเรียนที่ 6: ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครูให้คุณได้
.
สิทธารณะมีครูอยู่ทุกที่ พ่อ เพื่อน คนรัก ลูก ต้นไม้ ก้อนหิน แม่น้ำ ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นครูให้เขาได้ตลอดเวลา และเช่นเดียวกัน เขาเองก็เป็นครูให้กับผู้คนเยอะแยะ โดยที่ไม่ต้องพูด ต้องสอนอะไรมากมายเลยด้วยซ้ำ
.
ในชีวิตเรา…
มีครู มีความรู้ที่ทรงคุณค่าอยู่ทุกที่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่รัก คนที่ไม่ชอบ หรือจะเป็นธรรมชาติรอบกาย อยากให้เราหมั่นเฝ้ามองแบบเปิดใจ ไม่รีบตัดสินใดๆ
แล้วเมื่อนั้นเราจะได้ “ปัญญา” กลับมาอย่างมากมาย
บทเรียนที่ 7: เรื่องราวในเล่มนี้ คือชีวิตของคุณเอง
.
เรื่องราวของสิทธารธะ แท้จริงก็คล้ายชีวิตของเราทุกคน มีความสุข มีคำถาม มีการค้นหา มีความผิดหวัง มีการตื่นรู้ และเติบโตขึ้นตลอดเวลา
.
ในชีวิตเรา...
บางครั้งอาจคิดว่าชีวิตกำลังเล่นตลก บางครั้งก็พุ่งขึ้นสูง และพาให้ถอยหลัง ล้มเหลว
แท้จริงแล้ว เราไม่เคยล้มเหลว
ความผิดพลาด คือ “ของขวัญที่ยังไม่ได้ถูกแกะ” และเมื่อเราสามารถเปิดออกได้ เมื่อนั้นของขวัญชิ้นนี้จะพาให้เราไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้น หากปฏิเสธ หนี ก่นด่า ท้อแท้ ท้อถอย เราจะไม่ได้ของขวัญอันทรงคุณค่านี้แต่จะได้ความทุกข์มาแทน
บทเรียนที่ 8: การรับฟัง คือสิ่งดีที่สุดที่คนเราสามารถมอบให้แก่กันได้
.
สิทธารธะ เป็นผู้ที่รับฟัง และได้รับการฟังที่ยอดเยี่ยมทั้งจากคนรัก พ่อค้า เพื่อนสนิท ชายแจวเรือ แม่น้ำ เสียงจากธรรมชาติ เขามักได้ปัญญาจากการฟังเสียงเหล่านั้นอยู่เสมอ
.
ในชีวิตเรา…
นอกไปจากเสียงตนเอง เรายังสามารถให้ของขวัญอันทรงคุณค่าแก่ผู้อื่นได้ ด้วยการรับฟัง (แบบไม่ตัดสิน) แบบตั้งใจ แบบเอาใจใส่
เพราะเกือบทุกครั้ง คนที่มาคุย มาปรึกษาเรื่องบางอย่างกับเรามักมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือ ช่วยให้เขาได้ยินเสียงของตนเอง ก็เพียงพอแล้วครับ
บทเรียนที่ 9: ชีวิตที่มีความสุข คืออยู่กับปัจจุบัน
.
เมื่อไหร่ก็ตามที่สิทธารธะเกิดความกลัว ความยึดติด ชีวิตจะพาให้เขาได้รับบทเรียนบางอย่างเสมอ ต่อเมื่อลองปล่อยวาง ไม่คิดอะไรทั้งนั้น และทำงานไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน เขาพบว่าชีวิตกลับง่ายขึ้นอย่างน่าประหลาด
.
ในชีวิตเรา…
ย่อมมีทั้งความกลัว ความกังวล มีความหลง ความคิดมาก ความอิจฉา เป็นของธรรมดา สิ่งเหล่านี้จะยิ่งส่งอิทธิพลแก่ชีวิตมากขึ้น เมื่อเราใช้เวลาคิดวนเวียนอยู่แบบเดิม
ในความเป็นจริง การอยู่ตรงนี้ของเรานั้นดีที่สุดอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าตนเองกำลังเกิดความคิดเชิงลบ ก็ไม่เป็นไร เฝ้ามองเฉยๆ กลับไปยอมรับ ให้อภัยตนเอง ยิ้มกับตนเอง บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร และ “เลือกมองในมุมใหม่” ก็พอแล้ว
บทเรียนที่ 10: เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร แต่อย่าล้มเลิกเร็ว
.
สิทธารณะ เรียนรู้กับอาจารย์หลายคน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เขา “เลือก” ที่จะใช้เวลาเรียนรู้อย่างจริงจังด้วยตนเอง จนเกิดภูมิปัญญาของตนเอง ที่ไม่สามารถอธิบายได้
.
ในชีวิตเรา…
ผมขอบอกว่า “ความรู้” ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้ว ทุกคนสามารถหาความรู้ต่างๆ ได้เพียงแค่เสี้ยววินาที
แต่ความรู้เพียงอย่างเดียว ที่ไม่สามารถลอกเลียนกันได้ คือ “ปัญญา” นั่นเอง
.
ความรู้ที่ปราศจากการลงมือทำนั้น อาจมีคุณค่าที่น้อยกว่า “ประสบการณ์ตรง” เสียด้วยซ้ำ
ในโลกยุคปัจจุบันมีผู้ที่ “รู้กว้าง” คือ รู้หลายเรื่องมากๆ แต่ผู้ที่ “รู้ลึก” ยังมีคุณค่าสูง ไม่ได้แตกต่างไปจากอดีตเท่าไหร่เลย
ดังนั้น การจะรู้ลึกได้ ต้องใช้การลงทุน ลงแรง ลงเวลา จนเมื่อผ่านไปสักระยะ คุณจึงจะกลายเป็น “ของจริง” นั่นล่ะครับ
ท้ายนี้…
หนังสือเล่มนี้ นอกไปจากเรื่องราวที่แสนงดงามแล้ว ยังช่วย “สะท้อน” สิ่งที่อยู่ในใจเราออกมาได้แบบน่าทึ่งมากๆ
ไม่ว่าตอนนี้คุณกำลังครุ่นคิดเรื่องอะไร หรือติดปัญหาใดๆ อยากเชิญชวนให้อ่านวรรณกรรมเล่มนี้
.
คุณน่าจะได้คำตอบกับเรื่องนั้นๆ อย่างแน่นอน
ย้ำอีกครั้ง ว่าสิ่งที่คุณได้ อาจจะไม่เหมือนผมเลยก็ได้นะครับ
แล้วพบกันใหม่เล่มหน้า ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายในปี 2018 นี้นะครับ
.
.
ซิม
18 ม.ค. 62
2 บันทึก
7
1
1
2
7
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย