18 ม.ค. 2019 เวลา 02:44 • ความคิดเห็น
•Framing effect ทุกการสื่อสารมีการตีกรอบเสมอ•
เวลาที่เราทำงานจนเหนื่อย แล้วจู่ๆมีคนเสนอยาบ้าให้เรากิน เราคงบอกปัดในทันที แต่ถ้าเขาเปลี่ยนเป็นเสนอ "ยาเพิ่มพลัง" ให้เรากินล่ะ คราวนี้เราอาจจะเกิดความสนใจขึ้นมาก็ได้
สารสังเคราะห์ที่ประกอบด้วยเมทแอมเฟตามีนและคาเฟอีนนอกจากจะเรียกว่ายาบ้าแล้วสมัยก่อนมันยังมีชื่อเล่นอื่นๆด้วย เช่น ยาเพิ่มพลัง ยาขยัน ยาแก้ง่วง ยาโด๊ป และยาม้า (ที่กลายเป็นชื่อที่ใช้อย่างแพร่หลาย)
แล้วทำไมชื่อพวกนี้ถึงหายไป
ปี พ.ศ. 2539 นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นได้ใช้กลวิธีทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง
โดยเสนอให้เปลี่ยนชื่อ "ยาม้า" ให้เป็น "ยาบ้า" เพราะชื่อยาม้าทำให้ผู้เสพคิดว่ามันเป็นยาที่กินแล้วให้กำลังวังชา มีเรี่ยวแรง คึกคักเหมือนม้า
การเปลี่ยนชื่อเป็นยาบ้าจะทำให้ผู้เสพตระหนักถึงโทษของยา เกิดความรังเกียจ ทำให้ไม่อยากเสพ
และนอกจากนั้นยังเปลี่ยนประเภทจากสิ่งเสพติดประเภทที่ 3 ให้กลายเป็นสิ่งเสพติดประเภทที่ 1 ซึ่งห้ามจำหน่าย
นับแต่นั้นมาเราจึงไม่ได้ยินชื่อยาม้าอีก
อย่างไรก็ตามยาม้าไม่ได้หายไปไหน มันแค่ถูกเปลี่ยนชื่อเท่านั้น มันยังคงเป็นสิ่งๆเดียวกัน แต่ด้วยการนำเสนอที่เปลี่ยนไปจึงสามารถส่งผลต่อมุมมองของเราและเราก็จะตอบสนองต่างกันไปตามวิธีที่นำเสนอด้วย
เทคนิคที่นายเสนาะ เทียนทองใช้ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า การตีกรอบ (Framing)
เมื่อได้ยินคำว่ายาบ้า เราจะรู้ว่ามันเป็นสิ่งไม่ดีทันที แต่ถ้ามันยังใช้ชื่ออย่าง ยาเพิ่มพลัง ยาม้า หรืออะไรเทือกนี้ เราคงมีโอกาสที่จะคิดว่ามันเป็นของที่ทานได้เป็นแน่
การที่มนุษย์ทำการสื่อสารกันทำให้การตีกรอบมีการใช้กันอย่างแพร่หลายและบางครั้งมันยังทำให้เราตัดสินใจแปลกๆอีกต่างหาก
.
อย่างเช่นผลการทดลองที่พบในการทดลองของนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง
ทีมนักวิจัยขอให้ผู้เข้าทดลองเลือกว่าเนื้อแบบไหนที่ดีต่อสุขภาพมากกว่ากัน ระหว่าง
เนื้อที่ "ไร้ไขมัน 99%" กับ เนื้อที่ "มีไขมัน 1%"
จากการทดลองพบว่าผู้เข้าทดลองมองว่าเนื้อแบบแรกดีต่อสุขภาพมากกว่า แต่ถ้าอ่านดีๆเราก็จะพบว่าเนื้อทั้งสองคุณภาพก็เหมือนกันเป๊ะ
จากนั้นนักวิจัยทำการทดลองต่อโดยให้เลือกระหว่าง
เนื้อที่ "ไร้ไขมัน 98%" กับ เนื้อที่ "มีไขมัน 1%"
ปรากฎว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกเนื้อแบบแรกอยู่ดี ทั้งๆที่แบบแรกมีปริมาณไขมันมากกว่าถึงสองเท่า
แสดงว่าทุกครั้งที่เราทำการสื่อสาร เราอาจจะถูกบีบให้ตัดสินใจแปลกๆภายในกรอบโดยที่ไม่รู้ตัวและตรงจุดนี้เองเราอาจตกเป็นเหยื่อพวกที่จ้องฉวยโอกาสได้ทุกเมื่อ
พวกจ้องฉวยโอกาสที่เราเจอตามข่าวบ่อยๆคือพวกแชร์ลูกโซ่ คนพวกนี้จะตีกรอบให้เราเห็นแต่ผลกำไรมหาศาลที่จะได้รับมาได้ง่ายๆ ไร้ความเสี่ยง No risk, High return
แต่ถ้าเราตั้งสติแล้วคิดดีๆก็จะพบว่าของแบบนั้นมันไม่มีที่ไหนในโลก
ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ก็ย่อมต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกายกันทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่ถูกต้องที่ควรจะเป็น ฉะนั้นเวลาเจอใครเสนอผลประโยชน์ที่ได้มาโดยง่ายจนเราอยากจะตอบรับจนคุมอาการไม่อยู่ เราก็ควรพึงระวังไว้เสมอว่านี่คือกับดัก
อย่างไรก็ตาม การตีกรอบก็ไม่ได้เอาไว้สำหรับเปลี่ยนมุมมองของผู้อื่นเท่านั้น เรายังสามารถใช้การตีกรอบเพื่อเปลี่ยนมุมมองของเราเองด้วย เราสามารถเอาการตีกรอบไปใช้ในการพัฒนาตนเอง
เราพัฒนาตนเองก็เพื่อให้เราเติบโตเป็นคนที่ดีกว่าเดิมและการพัฒนานั้นก็ทำได้ด้วยการฝึกฝน
การฝึกฝนที่ดีไม่ได้วัดกันที่ระยะเวลาในการฝึก แต่เป็นจำนวนครั้งที่คุณได้ดิ้นรนและทำซ้ำอย่างถูกต้อง อย่างเช่น
แทนที่จะคิดว่า "ฉันจะซ้อมเปียโน 20 นาที" ควรจะเปลี่ยนมาคิดว่า "ฉันตั้งใจจะเล่นเพลงใหม่ให้ได้ 5 รอบ" จะได้ผลดีกว่า
ในหนังสือ The Little Book of Talent ของ Daniel Coyle มีบทหนึ่งที่บอกให้เราฝึกฝนแบบเต่าคลาน
โดยปกติเมื่อเราเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เรามักอยากที่จะทำให้เร็วขึ้นกว่าเดิม และการที่เราทำเร็วขึ้นมันก็ตามมาด้วยความสะเพร่า แต่การฝึกฝนแบบเต่าคลานจะทำหน้าที่เหมือนแว่นขยายซึ่งช่วยให้เราเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองได้อย่างชัดขึ้นเพื่อให้ลงมือแก้ไขได้ตรงจุด
Daniel Coyle กล่าวว่าทุกครั้งก่อนที่จะทำการฝึกฝนมีสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำการตัดสินใจก่อนคือ
จดจ่ออยู่กับเป้าหมาย (สิ่งที่อยากทำให้ได้) หรือจดจ่อกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น (สิ่งที่อยากหลีกเลี่ยง)
การฝึกฝนแบบเต่าคลานอาจจะช่วยให้เราเห็นข้อผิดพลาดก็จริง แต่มันก็อาจทำให้เราจอจ่ออยู่กับข้อผิดพลาดมากเกินไป ดังนั้นจุดนี้เราควรเอาการตีกรอบมาใช้
อย่างเช่น นักกอล์ฟที่กำลังจะพัตต์ลูกควรจะคิดว่า "ตีให้เป็นเส้นตรงนะ" ไม่ใช่คิดว่า "อย่าตีเบี้ยวไปทางซ้าย" ซึ่งการตีกรอบแบบนี้เราเรียกว่า การตีกรอบในแง่บวก (Positive Framing)
การมองแบบนี้ไม่ใช่การละทิ้งข้อผิดพลาด เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน เราตีกรอบแง่บวกก็เพื่อให้เราปรับมุมมองและตอบสนองต่อการฝึกฝนอย่างถูกต้อง มันเป็นเรื่องก่อนการฝึกฝน ส่วนการแก้ไขจุดผิดพลาดเป็นเรื่องระหว่างการฝึก
การตีกรอบที่ควรระวังคือการตีกรอบจากคนอื่น และหนึ่งในการตีกรอบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การบิดคำ (glossing) อย่างเช่น
เวลาที่หุ้นร่วงลงเรียกว่า "การปรับฐาน"
ทหารที่ตายในสนามรบจะถูกเรียกว่า "วีรบุรุษสงคราม"
การแล่นเครื่องบินลงจอดในกรณีฉุกเฉินได้สำเร็จ (ไม่ว่าจะเป็นเพราะอุบัติเหตุหรือความบกพร่องของนักบิน) จะถูกเรียกว่า "ชัยชนะของวิชาการบิน"
และน้ำท่วม (ที่ไม่ว่ามองยังไงถ้าเราเอาเท้าจุ่มก็เปียกอยู่ดี) ก็จะถูกเรียกว่า "น้ำรอการระบาย" ส่วนยาม้าที่กลายเป็นยาบ้าก็เป็นกรณีเดียวกัน
สมัยนี้เราอาจจะเจอการตีกรอบกันบ่อยครั้ง จุดประสงค์ของคนที่ใช้ก็มีเพียงอย่างเดียวคือต้องการเปลี่ยนมุมมองของเรา
ถึงแม้คำที่เปลี่ยนไปจะทำให้มองแง่บวกได้แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าสิ่งๆนั้นยังคงเป็นสิ่งเดิม
การตีกรอบอาจจะช่วยให้มุมมองเราเปลี่ยนไปก็จริง แต่ถ้ามัวแต่ใช้การตีกรอบแล้วยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ซักที ซักวันหนึ่งการตีกรอบที่ว่าได้ผลอาจจะเสื่อมพลังเข้าก็เป็นได้
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ The Art of Thinking Clearly
หนังสือ The Little Book of Talent
โฆษณา