19 ม.ค. 2019 เวลา 10:34 • ธุรกิจ
เรื่องเล่าชีวิตที่สุดแสนจะรันทดของ VINCENT VAN GOGH ชายผู้เคยตัดหูซ้ายเพื่อโสเภณี
สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการศิลปะหรือคนทั่วไป แวนโก๊ะนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินชายผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะกว่า 2,100 ชิ้น และงานของเขาที่ขึ้นชื่อเรื่องราคาแพงและความดังอย่าง Sunflowers หรือ ภาพราตรีประดับดาว The Starry Night แต่กว่าที่เขาจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะสุดยอดศิลปิน เขาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโรคซึมเศร้า คำครหา ความขัดแย้งกับเพื่อน รักที่ไม่สมหวัง รวมถึงหูซ้ายที่หายไป
ฟินเซนต์ วิลเลียม ฟัน โกะ (Vincent Willem van Gogh) หรือที่คนไทยเรียกเขาในชื่อ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ศิลปินชื่อดังในช่วงลัทธิ Post-Impressionism ที่ศิลปินในลัทธินี้จะเน้นการใช้สีสันที่จัดจ้าน เส้นหนา เน้นรูปทรงเรขาคณิต และความเหนือจริง ซึ่งผลงานของแวนโก๊ะนั้นมีหลากหลายสไตล์ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์ ภาพนิ่ง ภาพเหมือน รวมถึงวาดภาพตัวเองด้วย แต่ผลงานทั้งหมดของเขานั้นจะมีจุดเด่นที่เหมือนกันคือความจัดจ้านของสี และลายเส้นของพู่กันที่เต็มไปด้วยอารมณ์
3
ถึงปัจจุบันชื่อของแวนโก๊ะจะโด่งดัง แต่ช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตของเขานั้นช่างน่าเศร้า แวนโก๊ะเกิดในครอบครัวที่มีฐานะดี แต่กลับเป็นเด็กที่เงียบขรึม พูดไม่เก่ง มีท่าทางเงอะงะ และมีปมด้อยเรื่องอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย แต่ถึงอย่างไรก็ตามจิตใจที่แท้จริงของเขานั้นอ่อนโยนและตรงไปตรงมา เขาเคยสร้างวีรกรรมตั้งแต่อายุ 18 ปี ทำงานอยู่ในร้านขายภาพที่ปารีส ซึ่งบริษัทนี้ชอบเอารูปภาพชั้นเลวมาหลอกขายคนที่ไม่มีความรู้เรื่องศิลปะในราคาสูง ด้วยความเป็นคนตรงไปตรงมานี้ทำให้ครั้งหนึ่งแวนโก๊ะเคยบอกกับลูกค้าว่าอย่าซื้อภาพ จนทำให้เขาถูกไล่ออกทันที
1
หลังจากโดนไล่ออก แวนโก๊ะทำงานเป็นนายหน้าขายผลงานศิลปะทำให้เขาต้องเดินทางคนเดียวบ่อยครั้ง และต้องไปใช้ชีวิตคนเดียวอยู่ที่ลอนดอน ในช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้แวนโก๊ะเริ่มมีอาการเครียดเพิ่มขึ้น เขารู้สึกหดหู่ และเป็นโรคซึมเศร้า จึงทำให้เขาหันหน้าเข้าหาศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจในฐานะมิชชันนารีแห่งโปรเตสแตนต์ และย้ายไปอยู่ทางภาคใต้ของเบลเยียม แต่เหมือนเขาแก้ปัญหาได้ไม่ถูกจุด รวมถึงความสามารถในการเทศน์ของเขาไม่สามารถกินใจผู้ฟังได้ เพราะเขาเป็นคนพูดไม่เก่ง ทำให้แวนโก๊ะตัดสินใจเลิกเรียนศาสนาและไปทำงานในเหมืองถ่านหินในเบลเยียม แต่ปัญหาทั้งเรื่องของสุขภาพจิตและร่างกายก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น แต่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของแวนโก๊ะได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาวาดผลงานชิ้นแรกในชื่อ คนกินมันฝรั่ง หรือ The Potato Eaters ที่ทำให้ค้นพบว่าสิ่งที่จะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของเขาได้ก็คือศิลปะ
4
ในปี ค.ศ. 1881 แวนโก๊ะตัดสินใจเลิกอยู่คนเดียวและกลับบ้านเกิดไปอยู่กับแม่ โดยมีน้องชายที่สนิทที่สุดอย่าง ธีโอ คอยช่วยเหลือเรื่องการเงิน เขามักส่งจดหมายโต้ตอบกับน้องอยู่เสมอ ซึ่งจดหมายก็ไม่ใช่การเขียนข้อความธรรมดา แวนโก๊ะมักวาดภาพทิวทัศน์ และบรรยากาศของชนชั้นแรงงาน โดยใช้สีซีด ๆ ซึ่งเขาเปลี่ยนแนวการวาดมาใช้สีสันจัดจ้านในภายหลัง
แม้อาการหดหู่ของเขาจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ในบางครั้งที่กำลังสร้างสรรค์ผลงาน แวนโก๊ะมักนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานโดยไม่กินข้าวและไม่นอน อีกทั้งยังติดเหล้าอย่างหนัก และสูบบุหรี่จัด รวมไปถึงเรื่องความขัดแย้งกับพ่อของตัวเองบ่อยครั้ง เพราะเขาเป็นชายที่มาจากครอบครัวที่ดีแต่กลับตกหลุมรักหญิงสาวที่เป็นโสเภณี ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่กินกับหญิงสาวโสเภณีขี้เมานามว่า Sien และถูกพ่อกดดันให้เลิกคบกับผู้หญิงคนนี้ ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างจึงทำโรคซึมเศร้าที่เคยเป็นนั้นก็กลับมาเยี่ยมเยียนเขาอีกครั้ง
ต่อมาในปี ค.ศ. 1886 เขาย้ายไปอยู่ที่ปารีสและพบเจอกับกลุ่มแวนการ์ด ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินที่ชื่นชอบการทดลองอะไรใหม่ ๆ และมักจะมีแนวความคิดที่ก้าวหน้ากว่าคนในยุคของตัวเอง ซึ่งหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแวนการ์ดที่ได้กลายมาเป็นเพื่อนกับแวนโก๊ะก็คือ ปอล โกแกง (Eugene Henri Paul Gauguin) ชายผู้จุดประกายความคิดเรื่องการใช้สีสันที่ฉูดฉาดในผลงานของแวนโก๊ะ
โสเภณี การวิวาท และหูซ้ายที่ถูกตัด
แวนโก๊ะและโกแกงเป็นเพื่อนที่คุยกันถูกคอ มีแนวคิดในด้านศิลปะที่คล้ายกัน แต่เมื่อพวกเขาทั้งสองคนตัดสินใจอาศัยอยู่ด้วยกันเพื่อร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยอาการโรคซึมเศร้าจึงทำให้เขามีปากเสียงกับเพื่อนรักอย่างโกแกงบ่อยครั้ง เพราะโกแกงนั้นมีอาชีพเป็นพ่อค้าที่ภูมิฐาน แต่เขาเป็นแค่ศิลปินไส้แห้งที่ต้องให้น้องชายช่วยเหลือเรื่องเงินอยู่เสมอ ทั้งคู่มักจะโต้เถียงกันเป็นประจำ ด้วยสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงก็ทำให้แวนโก๊ะคิดว่าโกแกงแอบดูถูกเขาอยู่นั่นเอง
จนเมื่อมาถึงการโต้เถียงกันครั้งสุดท้ายของทั้งสอง แวนโก๊ะควบคุมอารมณ์ของตัวเองไว้ไม่ได้ เขาได้คว้ามีดโกนที่วางอยู่ใกล้ตัวและไล่ฟันโกแกง ด้วยความแปรปรวนทางอารมณ์ที่แสดงออกมากขึ้นจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทำให้แวนโก๊ะต้องเสียเพื่อนรักอย่างโกแกงไป และต้องเข้า-ออก โรงพยาบาลจิตเวชอยู่บ่อยครั้ง
แวนโก๊ะและโกแกง
แต่อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานเรื่องหูซ้ายที่หายไปของแวนโก๊ะนั้นมีหลายทฤษฎี เช่น เกิดจากการโต้เถียงกับแฟนสาวที่เป็นโสเภณีกันอย่างรุนแรง เขาจึงตัดหูซ้ายของตัวเองเพื่อประชดหญิงสาวอันเป็นที่รัก บ้างก็ว่าเขาตัดหูซ้ายและนำหูที่เปื้อนเลือดห่อกระดาษส่งไปให้โสเภณีที่เขาแอบชอบ ซึ่งแน่นอนว่าผู้หญิงคนไหนเจอเรื่องแบบนี้ก็คงจะต้องโบกมือลา
ต่อมาในภายหลังนักประวัติศาสตร์ได้เพิ่มสันนิษฐานอีกหนึ่งทฤษฎีเกี่ยวกับหูซ้ายที่หายไปว่า คนที่ตัดหูอาจไม่ใช่ตัวแวนโก๊ะเอง แต่เป็นเพื่อนรักของเขาอย่างโกแกง ที่มีสาเหตุมาจากการทะเลาะแย่งหญิงสาวโสเภณีที่ชื่อว่า ราเชล (Rachel) จากสถานบริการที่ทั้งสองมักจะไปเที่ยวอยู่บ่อย ๆ และเมื่อตำรวจได้สอบปากคำเหตุทะเลาะวิวาทครั้งนี้ โกแกงบอกว่าไม่ได้เป็นคนทำ และแวนโก๊ะเป็นคนตัดหูตัวเอง ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นคนตัดหูของเขา แต่สิ่งที่ข้อสันนิษฐานต่างเห็นตรงกันก็คือหูซ้ายของแวนโก๊ะหายไป มีสาเหตุหลักคือโสเภณี
หลังจากที่ทะเลาะกับคู่หู แวนโก๊ะได้ไปรักษาสุขภาพจิตกับ Saint-Paul ในเมือง Saint-Remy ประเทศฝรั่งเศส เขาได้เขียนภาพชื่อว่า ราตรีประดับดาว หรือ The Starry Night อันโด่งดัง เป็นภาพสีน้ำมันที่แสดงให้เห็นถึงทิวทัศน์ตอนกลางคืน เป็นมุมองของแวนโก๊ะที่มองวิวผ่านหน้าต่างของสถานบำบัด แสดงให้เห็นถึงความสวยงามที่ซ่อนความรู้สึกอันแสนเจ็บปวดเอาไว้
1
ด้วยสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงทำให้ท้ายที่สุดหลังจากที่แวนโก๊ะเขียนภาพที่ชื่อว่า รูปทางสามแพร่ง หรือ Wheatfield with Crows ที่นักวิจารณ์ตีความหมายของภาพนี้ได้ว่า อาจเป็นการพยายามบอกให้ผู้คนที่เห็นภาพนี้รับรู้ว่าเขากำลังหาทางออกให้กับชีวิตของตัวเองอยู่ ซึ่งหนทางนั้นแบ่งออกเป็นสามแยก และเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหน เมื่อภาพนี้เสร็จสิ้น แวนโก๊ะตัดสินใจหยิบปืนลูกโม่มายิงเข้าที่ซี่โครงด้านซ้ายของตัวเอง เป็นเรื่องเศร้าที่เมื่อเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายแต่กลับไม่ตายในทันที แวนโก๊ะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล รับการรักษาตัวอยู่สามวันและสุดท้ายก็เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1890
ถึงแม้ในปัจจุบันแวนโก๊ะคือสุดยอดศิลปินที่ผู้คนนับถือในความสามารถ และเป็นผู้ที่มีส่วนในการพาศิลปะก้าวไปข้างหน้า แต่เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิต แวนโก๊ะกลับไม่ได้สัมผัสถึงความโด่งดังเลยแม้แต่น้อย ผู้คนในช่วงเวลานั้นมองว่าเขาเป็นคนที่ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นคนบ้า รวมถึงผลงานของเขาก็เพิ่งจะมาโด่งดังเอาในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิตจากการเป็นจิตรกรตลอด 10 ปี
ซึ่งหลังจากที่เสียชีวิต ผลงานของเขากลับโด่งดังเป็นอย่างมาก และถูกกล่าวขานว่า “where discourses on madness and creativity converge” ที่เปรียบว่าแวนโก๊ะเป็นศิลปินผู้ที่มีเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างความบ้าและความสร้างสรรค์ ที่ถึงแม้วิธีการใช้ชีวิตของเขาจะเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังไม่ได้เท่าไหร่นัก แต่ในเรื่องของความรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาพยายามและสู้ต่อจนมีผลงานมาให้โลกได้เห็นกว่า 2,100 ชิ้น ซึ่งสิ่งนี้เองที่สามารถสอนให้เรามุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อความฝันเหมือนอย่างแวนโก๊ะ
โฆษณา