21 ม.ค. 2019 เวลา 04:58 • ความคิดเห็น
หนทางแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน/ แนะนำหนังหนีวิกฤตฝุ่นที่ชื่อ “IO” บน Netflix
เครดิตภาพ: https://www.whats-on-netflix.com/news/io-netflix-movie-ending-explained/
เช้านี้ผมตื่นขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันอย่างนึงคือ เปิดแอป “AirVisual” เพื่อตรวจค่าคุณภาพอากาศ และ "เลขที่ออก" ให้ดูรูปด้านล่างครับ
“171 US AQI” = เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ผลที่ออกมาไม่ต่างกับค่าที่ผมวัดได้ในอาทิตย์ก่อนเลย
“เมื่อไหร่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะดีขึ้น แล้วเราต้องใส่หน้ากากกันฝุ่นกันไปอีกนานแค่ไหน” ผมนึกในใจ
มาถึงตรงนี้ เพลง “ฝุ่น” ของบิ๊กแอสก็ลอยขึ้นมาในหัวผม
ในขณะที่ผมเล่น facebook อยู่นั้น มีฟีดนึงของใครไม่รู้เด้งขึ้นมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับรายการพอดแคสต์ในแอป Spotify ของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร (งดดราม่าการเมืองนะครับ ผมชวนคุยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับวิกฤตฝุ่นเท่านั้น)
ซึ่งได้พูดถึง Ep. นึงที่มีชื่อหัวข้อว่า “แก้วิกฤตฝุ่น ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง”
ผมเลยลองเปิดฟังดู และสรุปเนื้อหาได้ตามนี้ครับ
1. โรดแมปการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในปักกิ่ง
ในปัจจุบัน กรุงปักกิ่งของจีนมีการจราจรหนาแน่น และมีรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลวิ่งกันเยอะ รวมถึงในอดีตเคยมีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหลายโรงตั้งอยู่ในบริเวณรอบๆเมือง
แต่ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้สั่งย้ายโรงงานพวกนี้ออกไปเกือบหมดแล้ว
ปักกิ่งมีโรดแมปเกี่ยวกับการจัดการการใช้รถใน5ปีข้างหน้าว่ารถทุกชนิดที่วิ่งตามท้องถนนจะต้องเป็นรถที่ใช้พลังานไฟฟ้าเท่านั้น
รวมถึงการออกแบบสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมกับปริมาณรถพลังงานไฟฟ้าที่มีทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทที่ผลิตไดร์เป่า​ผมยี่ห้อ "Dyson" กำลังจะไปตั้งโรงงานผลิตรถพลังงานไฟฟ้าที่สิงคโปร์ด้วย
ในขณะที่ไทยเรายังไม่มีโรดแมปในเรื่องนี้ที่ชัดเจน
2. การเผาชีวมวลในประเทศไทย
ตามปกติ เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรไทยมักจะเผาตอข้าวทิ้ง ส่งผลให้จุลินทรีย์ในดินถูกทำลาย
แต่ที่เวียดนาม เขาใช้วิธีขังเอาน้ำไว้เพื่อทำให้ตอข้าวเน่าจนกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นสารอาหารของพืชที่อยู่ในดิน
ในขณะที่เมืองดูไบที่ฝุ่นเยอะติดอันดับ top 10 ของโลกเพราะภูมิประเทศเป็นทะเลทราย ใช้วิธีซื้อต้นไม้มาปลูกทดแทน
3. การพยากรณ์หายนะของสิ่งแวดล้อมโลกมีมานานแล้ว
หนังสือของ “อัลวิน ทอฟเลอร์” นักอนาคตศาสตร์ ที่มีชื่อว่า “Future Shock The Third Wave” ที่ถูกเขียนในปี1970 เล่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันสั้นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ผู้เขียนพูดถึงยุคของ "คลื่น" ทั้งสามลูก ดังนี้
1st wave คือ ยุคเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อมยังดีอยู่
2nd wave คือ ยุคอุตสาหกรรม มีการแข่งขันสูงและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
3rd wave เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร และเป็นยุคที่คนห่วงใยในเรื่องสุขภาพ เป็นยุคที่คนมีเงินแต่กลัวตายจากสภาพอากาศเป็นพิษ
น่าสนใจที่ว่าเรื่องนี้ถูกทำนายมาตั้งแต่50ปีก่อนแล้ว และทำนายถูกด้วย
หลังจากฟังจบ ส่วนตัวผมคิดว่าหนทางแก้วิกฤตฝุ่นของไทยน่าจะมีทางเลือกตามนี้ครับ (ต้องออกตัวก่อนว่าผมอาจจะคิดถูก หรือผิดก็ได้ ถือเป็นการชวนคุยกันครับ)​
ในระยะยาว รัฐบาลควรมีโรดแมปที่จะเปลี่ยนรถทุกชนิดในประเทศไทยให้ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
รวมถึงการออกแบบสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมการใช้งานทั้งประเทศ เพราะระยะทางที่รถพลังงานไฟฟ้าวิ่งได้นั้นถือว่าสั้นมากเทียบกับรถดีเซล เบนซิน และ LPG/NGV
ลองคิดดูครับว่าถ้าคุณใช้รถพลังงานไฟฟ้าวิ่งจากกทม.ไปเชียงใหม่ คุณต้องจอดรถเพื่อชาร์จไฟกี่รอบ? รอชาร์จกี่ชม.? แล้วสถานีชาร์จไฟในระหว่างทางมีพอเหรอ?
หลายประเทศที่พัฒนาแล้วมีโรดแมปที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตรงนี้ผมคิดว่าโรดแมปนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ตรงประเด็นที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากไอเสียของรถดีเซล
สำหรับในระยะกลางและระยะสั้น ควรมีการควบคุมปริมาณรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน
เฉพาะใน “ตัวเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น” อาจต้องแบ่งเป็น “วันคู่” ให้รถวิ่งได้ และ “วันคี่” ห้ามรถวิ่ง
หรือจะใช้วิธีเก็บค่าทางด่วนขาเข้าเมืองให้ “สูง” ขึ้นในวันทำงาน อย่างที่บางประเทศทำกัน
หรือจะใช้วิธีประมูลใบอนุญาตในการครอบครองรถยนต์แบบที่สิงคโปร์ทำ คือ คุณต้องเข้าประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวถึงจะมีสิทธิ์ครอบครองรถยนต์ได้ เหตุผลที่สิงคโปร์ใช้มาตรการนี้เพราะพื้นที่ในประเทศเขามีจำกัด
สำหรับเมืองไทยผมไม่แน่ใจว่า เราจะเอาคอนเซปท์นี้มาประยุกต์ใช้ได้ไหม
หรือจะใช้วิธีทำลายรถเก่าทิ้ง และออกมาตรการชดเชยและให้ส่วนลดในการออกรถพลังงานไฟฟ้าคันใหม่มาแทนคันเก่า
มาถึงตรงนี้ มีการถกเถียงกันพอสมควรในสื่อโซเซียลว่า “ระบบขนส่งสาธารณะของไทย” ดีพอแล้วหรือที่รัฐจะมาห้ามรถยนต์วิ่ง?
คนที่บ้านอยู่ในซอยลึก หรือไม่มีรถเมล์ผ่านหน้าบ้าน บ้านที่วินมอเตอร์ไซค์กับรถสองแถวเข้าไปไม่ถึง หรือคนที่บอบช้ำจากการที่บีทีเอสขัดข้องรายวัน (ในช่วงก่อนหน้านี้) มักจะไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะถ้าโรดแมปนี้ออกมา คนกลุ่มนี้อาจต้องเจอแท็กซี่บางคันที่ปฏิเสธผู้โดยสารด้วย
รวมถึงความจุของบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับคนจำนวนมากที่จะหยุดขับรถแล้วมาใช้ขนส่งสาธารณะชนิดนี้ทั้งหมดได้
และรถเมล์บางสายกว่าจะผ่านหน้าบ้านอาจต้องใช้เวลารอเป็นชม.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลักๆจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับความจำเป็นในการบังคับให้คนใช้รถยนต์น้อยลง และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม
รัฐบาลควรทำอะไรสักอย่าง เพราะสถานการ์ฝุ่น PM 2.5 ของไทยเข้าขั้นวิกฤตแล้วครับ
สุดท้ายนี้ ผมขอทิ้งท้ายด้วยการแนะนำหนังหนีวิกฤตฝุ่นที่ชื่อ “IO” ครับ
หนังเรื่องนี้เพิ่งเข้าฉายใน Netflix เมื่อวาน ผมเลยลองเปิดขึ้นมาดู ปรากฏว่าผมคุ้นหน้านางเอกมากแต่จำไม่ได้ว่าเคยเห็นหน้าเธอจากที่ไหน
พอลองค้นข้อมูลดูผมก็ถึงบางอ้อ ที่แท้เธอเคยแสดงในซีรีส์เรื่อง “The Leftovers” นี่เอง
ด้วยความสวยของนางเอกทำให้ผมรู้สึกอยากดูหนังเรื่องนี้ แต่พอผมดูไป5นาที..10นาที…15นาที ปรากฏว่าผมมีอาการง่วงนอนอย่างรุนแรง จนต้องหยุดดู
“นี่มันหนังชวนหลับชัดๆ” ผมนึกในใจ
มาดูสรุปเนื้อหาของหนังกันบ้างครับ
เรื่องย่อที่โชว์บนหน้าจอของ Netflix คือ มีนักวิทยาศาสตร์​สาวคนหนึ่ง​พยายาม​หาวิธีกอบ​กู้โลก​ที่​กำลัง​จะถูกทำลาย​ลงด้วยมลพิษทางอากาศ​ เธอเลยพยายามที่จะติดต่อ​กับ​ชายคนหนึ่งที่กำลังจะ​เดิน​ทางออกนอกโลกโดย​ยานอวกาศ​เที่ยวสุดท้ายของโลก
สรุป ผมไม่ให้คะแนนครับ เพราะดูไป15นาทีแล้วง่วง แม้ผมจะลองเปิดขึ้นมาดูอีกครั้งต่อจากจุดที่ดูค้างไว้ ผมก็ต้องกดปิดอีกรอบภายใน5นาที
ผมอาจจะไม่ถูกจริตกับหนังเรื่องนี้ก็ได้ครับ ต้องลองเปิดดูเองครับ
สุดท้ายนี้ อย่าลืมกด “Follow” กด “Like” หรือกด “Share” เพจนี้เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความดีๆ ต่อไปด้วยครับ
ติดตาม​ Netflix Addict จากช่องทางอื่นและแวะมาพูดคุยกันได้ที่​ Facebook: https://www.facebook.com/netflixaddict1
โฆษณา