21 ม.ค. 2019 เวลา 11:32 • ประวัติศาสตร์
EP.8-6 เมื่อปรัสเซียเข้ามาแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่กับอังกฤษและฝรั่งเศส
ภาพลักษณ์ของเยอรมนีเป็นภาพลักษณ์ที่ได้รับการส่งเสริม และผลักดันนโยบายโดยผู้นำที่มีความสามารถซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ของไทย ผู้นำปรัสเซียในระยะที่ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันได้ก่อตัวขึ้นนี้ ยังได้รับการกระตุ้นจากกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปเป็นกระแสหลัก
The battle of Mars le Tour เป็นการต่อสู้ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1870 ในระหว่างสงคราม Franco-Prussian ใกล้หมู่บ้าน Mars-La-Tour ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ผลคือความปราชัยอย่างย่อยยับของกองทัพฝรั่งเศส
ในปี ค.ศ. 1861 เมื่อคณะราชทูตจากปรัสเซียเดินทางมาสยามนั้น เป็นปีแรกของรัชกาลใหม่ และนโยบายใหม่ๆของปรัสเซีย ซึ่งเป็นรัฐผู้นำของสมาพันธรัฐเยอรมัน โดยมีประมุของค์ใหม่ คือไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 (บางที่ก็เรียกวิลเลียมที่ 1) เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ปรัสเซียองค์ใหม่
ในต้นปีเดียวกันนี้เองก็เป็นระยะที่กระแสผู้นำประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกอัน ได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศสแผ่ขยายเข้าไปสู่ทวีปเอเชียจนเลยเถิดไปเป็นสงครามฝิ่นซึ่งอังกฤษ และฝรั่งเศสกระทำต่อจีน
ปรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจจากยุโรปอันดับ 3 รองจากอังกฤษและฝรั่งเศสไม่รอให้นาทีทองเช่นนี้ผ่านเลยไป
ก่อนหน้านี้เล็กน้อยกระแสของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของ ปรัสเซียขยายตัวอย่างกว้างขวางขึ้น อุตสาหกรรมได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำให้ปรัสเซียเติบโตแบบก้าวกระโดดไล่ตามหลังอังกฤษ โดยเฉพาะภายหลังการรวมชาติเป็นประเทศเยอรมนีภายหลังชัยชนะในสงครามฟรังโก-ปรัสเซียแล้ว ทำให้เยอรมนีได้ครอบครองแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ในทวีปยุโรปที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กและถ่านหิน ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในแคว้นอัลซาซ-ลอเรน (Alsace Lorraine) แคว้นซาร์ (Saar) อัพเปอร์ไซลีเซีย (Upper Silesia) และโดยเฉพาะในเขตแม่น้ำรูว์ (Ruhr) ซึ่งเยอรมนีได้เข้ามาครอบครองไว้
1
ภูมิทัศน์เมืองของประเทศอังกฤษในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยศิลปินชาวอังกฤษชื่อ Trevor Grimshaw
การขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อให้เกิดนโยบายการค้าเสรี การปฎิรูประบบภาษีอากร และการตั้งกำแพงภาษี ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของปรัสเซีย เริ่มมีผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศด้วยรัฐบาลของไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 1 ถูกประชาชนกดดันให้ดำเนินนโยบายแสวงหาอาณานิคมโดยแข่งขันกับมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ อันได้แก่ อังกฤษ-ฝรั่งเศส ในการยึดครองดินแดนโพ้นทะเลตามกระแสจักรวรรดินิยมใหม่ ซึ่งอังกฤษเป็นผู้บุกเบิกไว้
การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เจริญก้าวหน้าของปรัสเซีย ทำให้การผลิตสินค้ามีปริมาณมากเกินความต้องการสำหรับใช้ภายในประเทศ และก่อให้เกิดความจำเป็นในการแสวงหาตลาดการค้า และแหล่งลงทุนใหม่ๆ นอกประเทศ การลงทุนในต่างประเทศจะนำมาซึ่งผลกำไรอันมหาศาล เนื่องจากมีวัตถุดิบจำนวนมากและแรงงานราคาถูก
ดังนั้น ธุรกิจ พ่อค้า และนายธนาคารเยอรมันจึงสนับสนุน (และกดดัน) ให้รัฐบาลแสวงหาอาณานิคมน อกทวีปยุโรป เพื่อจะได้ใช้เป็นตลาดใหม่ และแหล่งการลงทุนเพื่อผลกำไร ความคิดเกี่ยวกับการแสวงหาอาณานิคมจึงกลายเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของปรัสเซีย ตามอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
กองกำลังปรัสเซียนและบาวาเรียบุกยึดป้อมของกองทัพฝรั่งเศส ในสงคราม Franco-Prussian War
ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จักรวรรดินิยมตะวันตกมักจะมุ่งไปยังแอฟริกาก่อน เพราะอยู่ใกล้กัน จากนั้นจึงคืบคลานมายังทวีปเอเชีย จนกลายเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากการแสวงหาอาณานิคม เป็นการแข่งขันกันขายอิทธิพล และอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย และนอกจากการแข่งกันหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังหมายถึงการแย่งชิงจับจองดินแดนเพื่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติ
รวมถึงการใช้อาณานิคมเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับใช้เป็นฐานทัพเรือคุ้มครองเส้นทางเดินเรือ หรือใช้เป็นดินแดนกันชนเพื่อสกัดกั้นอำนาจของชาติคู่แข่งด้วย ก่อให้เกิดการแข่งขันกันสร้างแสนยานุภาพด้านกองทัพและอาวุธ ตลอดจนการปลุกระดมสร้างความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ประชาชนของตน ส่งผลให้มหาอำนาจตะวันตกขัดแย้ง และแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกันเองในที่สุด
1
Emperor Wilhelm I
นโยบายของปรัสเซียก็เช่นกัน ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยท่าทีที่เป็นมิตรกับคู่แข่งอย่างอังกฤษ แต่พลันต้องเปลี่ยนไปภายหลังที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 ทรงแต่งตั้ง บิสมาร์ค (Otto Von Bismarck) ให้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีพร้อมกับรับภาระในเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นนโยบายใหญ่ของพระองค์ให้สำเร็จ
บิสมาร์คมีความเชื่อว่าความสำเร็จในการรวมชาติเยอรมนีอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็ง และชัยชนะทางการทหาร เขาต้องการให้ปรัสเซียเป็นผู้นำในการรวมรัฐเยอรมันที่ยังแตกแยกเข้าด้วยกัน และการที่จะดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ นั่นคือ อาศัยการทูตที่ฉลาด การทหารที่เข้มแข็ง และต้องฉวยโอกาสโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์และคุณธรรมใดๆ
1
Otto von bismarck
ความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอันยอกย้อนของบิสมาร์ค เท่ากับเป็นความสำเร็จในฐานะผู้จัดการยุโรปของปรัสเซียด้วย โดยเริ่มต้นได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับปรัสเซีย เพื่อป้องกันพรมแดนตะวันออกให้ปลอดจากการถูกโจมตี จากนั้นก็นำปรัสเซียเข้าสู่สงครามถึง 3 ครั้ง เพื่อทำลายอุปสรรคในการรวมรัฐเยอรมันเข้าด้วยกัน คือ
1.ผนวกแคว้นซาลสวิก และโฮลชไตน์ จากเดนมาร์ก
2.กำจัดออสเตรียออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันได้สำเร็จ และในสงครามครั้งที่
3.เขาได้ใช้จุดอ่อนของฝรั่งเศสเกี่ยวกับสเปนเป็นชนวนให้เกิดสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) ในปี C.1870-1871
สงครามกับฝรั่งเศสทำให้ปรัสเซียสามารถโค่นล้มราชวงศ์โบนาปาร์ต ซึ่งเคยเป็นเจ้าอิทธิพลในยุโรปลงได้ ทำให้คนเยอรมันเกิดความภูมิใจในเชื้อชาติของตน ภายหลังสงครามจึงได้รวมตัวกันโดย ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 ได้ทรงประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้น ทำให้บิสมาร์คได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของเยอรมนี
กองทัพเยอรมนีในแอฟริกาเหนือ
หลังจากนี้บิสมาร์คก็ได้ตั้งตนเป็นผู้จัดระเบียบทวีปยุโรป โดยจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund) ขึ้นในปี C.1873 สมาชิกประกอบด้วย เยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี เพื่อป้องกันการล้างแค้นของฝรั่งเศส ทำให้เยอรมนีกลายเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดบนภาคพื้นยุโรป และมีคู่แข่งอยู่เพียงหนึ่งเดียว คือ อังกฤษเท่านั้น
เพื่อรองรับสถานะจักรวรรดินิยมใหม่ของตนเองในปี C.1884 เยอรมนีได้เข้าแย่งชิงดินแดนในแอฟริกากับมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ และสามารถครอบครองแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้, โตโกแลนด์ และแคเมอรูน รวมทั้งแอฟริกาตะวันออกด้วย
การแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมในแอฟริกาก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจยุโรป และเริ่มขัดแย้งกับอังกฤษซึ่งมีอาณานิคมอยู่ในแอฟริกา
ความเป็นนักการเมือง และนักการทูตที่มีแผนการยอกย้อนของบิสมาร์ค ทำให้ผู้นำมหาอำนาจยุโรประแวงท่าทีของเขา
พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนรถม้าของจักรพรรดิเยอรมนี ขณะเสด็จออกจากร้านเพชรในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี C.1907
แต่ในมุมกลับก็ได้ทำให้จักรวรรดิเยอรมันกลายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจยุโรปไปโดยปริยายและในระหว่างที่บทบาทของปรัสเซียมีไม่มากนักในเอเฃีย แต่ก็ยังสามารถสร้างฐานะให้ตนเองโดยประกาศความสัมพันธ์กับสยามเป็นใบเบิกทาง
เมื่อได้สร้างฐานอำนาจให้ตนเองแข็งแกร่งขึ้นในยุโรปแล้ว บทบาทใหม่ของปรัสเซียในชื่อใหม่ว่า "เยอรมนี" ยังได้ส่งเสริมความกลมเกลียวให้ความสัมพันธ์กับสยามแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก ทั้งชาวสยามก็มั่นใจยิ่งขึ้นที่มีคนเยอรมันเป็นมิตร แต่ก็กลายเป็นความหวาดระแวง ของชาติตะวันตกที่เห็นอิทธิพลของเยอรมนีในสยามเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
Reference
โฆษณา