22 ม.ค. 2019 เวลา 01:07 • การศึกษา
Blockdit เล่มที่ 6
“Leadership and Self-Deception Getting Out of the Box”
“วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก”
อ่านจบ: 16 ม.ค. 62 (229 หน้า)
 
.
ผู้เขียน: The Arbinger Institute
สนพ: We Learn
หมวด: จิตวิทยา / พัฒนาตนเอง
แท็กไลน์: “สะกิดความคิดได้มาก”
ผมเคยเห็นหนังสือเล่มนี้ในร้าน เมื่อนานมาแล้วครับ
 
ถึงหนังสือจะปกสวย (ในสายตาของผม) แต่กลับไม่ได้รู้สึกอยากหยิบขึ้นมาเปิดอ่านแม้แต่น้อย เพราะ….. เอ่อ...เข้าใจผิดครับ (แฮ่)
 
ดันไปคิดเองเออเองว่า หนังสือ “น่าจะ” เปรียบเปรยการอยู่ใน “กล่อง” เป็นเรื่องของ การออกจาก “พื้นที่ปลอดภัย" (Comfort Zone) ซึ่งผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่
 
ทั้งที่ความจริง กลับไม่ได้เกี่ยวแม้แต่น้อย
ที่ได้ เพราะ “ขวัญใจ” จากเพจ “Lifeflow with KWAN” ซึ่งเป็นน้องที่เก่ง และสุดยอดมากๆ แนะนำให้อ่าน (ตั้ง 2 ครั้ง)
 
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมได้รับการชี้ชวน 2 ครั้งแบบนี้ ผมจะตัดสินใจทันที!
 
เลยไปขวยขวายจนพบว่า ซีรีย์เรื่องกล่องนี่มีอยู่ 2 เล่ม อย่ากระนั้นเลย สั่งมาทั้งหมดแล้วกัน จะได้ไม่เสียเวลา...
 
พอได้อ่านเท่านั้นแหละ ตลกตัวเอง ที่ผ่านไป 80 หน้า ก็น้ำตาคลอ (ช่วงอยู่นอกบ้านด้วย) เพราะโดนจี้ใจดำ สมแล้ว ที่ขายในต่างประเทศได้ไปล้านกว่าเล่ม
 
มาครับ ผมจะเล่าให้อ่านว่าหนังสือเกี่ยวกับอะไร
เรื่องย่อ...
 
แนวหนังสือ เป็นนิยายแฝงฮาวทูแบบกลมกล่อม
 
เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วย “ทอม” ผู้บริหารระดับสูงที่เคยมีประสบการณ์ทำงานจากที่เดิมเป็น 10 ปี และ เขาเพิ่งได้โอกาสมาเริ่มงานในบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า “แซกกรัม”
 
แซกกรัม เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยมติดต่อกันหลายปี หน้าที่หลักๆ ของทอม คือ ดูแลหนึ่งในผลิตภัณฑ์ และทำให้ผลประกอบการของแผนกให้คงความดีงามต่อไป
 
.
เมื่อผ่านการทำงานที่ใหม่เพียง 1 เดือน สิ่งเขาไม่เคยพบมาก่อนก็เกิดขึ้น
วันหนึ่ง เขาถูกเรียกตัวให้เข้าประชุมแบบ “ตัวต่อตัว” กับหัวหน้าตนเองที่ชื่อว่า “บัด”
 
ทอมได้ยินจากเพื่อนร่วมงานว่า การประชุมนี้เป็น “สูตรลับ” ที่ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้มาโดยตลอด
 
ทว่า ในวันประชุม คำแรกๆ ที่ทอมได้ยินจากปากของบัด กลับเป็นชี้เป้าบอกว่า...
 
“ทอมกำลังมีปัญหา และคนใกล้ชิด ทั้งเพื่อนร่วมงานก็รู้ด้วยว่าปัญหาของทอมคืออะไร มีเพียงตัวเขาเท่านั้นแหละ ที่ยังไม่รู้ สิ่งนี้จำเป็นต้องถูกใส่ใจ และแก้ไข หากอยากประสบความสำเร็จที่แซกกรัม”
 
ถ้าเป็นเรา โดนหัวหน้าชี้ชัดขนาดนี้ จะรู้สึกยังไงบ้างครับ?
 
แน่นอนว่า ทอมย่อมไม่พอใจอยู่แล้ว...
แต่เมื่อผู้พูดดันเป็นหัวหน้าตัวเอง เขาก็เลยจำเป็นต้องฟัง และสิ่งนี้ก็กำลังจะเปลี่ยนชีวิตของทอมไปตลอดกาล
****SPOILER ALERT****
.
เนื้อหาต่อไปนี้ เปิดเผยส่วนสำคัญของเรื่อง
หากอยากได้รับประสบการณ์เอง ไม่ควรอ่านนะครับ
เตือนแล้วน้า ^^
เอาล่ะครับ สำหรับผู้ที่อ่านต่อ
 
บัดแจ้งอ้อมๆ ผ่านการตั้งคำถาม เพื่อให้ทอมได้ทราบว่า อันที่จริง ปัญหาที่ทอมไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ เขามีปัญหาเรื่อง “ทัศนคติต่อผู้คน” และเป็นการ “หลอกตัวเอง” ครับผม
 
ฟังดูเหมือนรุนแรง แต่ในหนังสือใช้วิธีสื่อสารที่นุ่มนวลกว่าผมเยอะ ผมขอยกประเด็นกว้างๆ ดังนี้ครับ
1) เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณ “ทรยศตัวเอง” จะนำไปสู่ “การหลอกตัวเอง” และ “กล่อง”
.
.
“การทรยศตัวเอง” หมายถึง การกระทำที่ “ตรงกันข้าม” กับสิ่งที่คุณรู้สึกว่าควรทำเพื่อ “คนอื่น”
 
เช่น เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการกดลิฟท์รอคนอื่น รู้ดีว่าคุณสามารถทำบางอย่าง ช่วยเพื่อน ลูก ภรรยาสามี พ่อแม่ของตนเอง แต่กลับไม่ได้ทำ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เมื่อทำไปสักพักจะกลายเป็นการปลูกฝังนิสัยถาวร ซึ่งไม่ดีสำหรับใครเอาซะเลย
 
เมื่อทรยศตนเอง จากการไม่ยอมทำสิ่งที่ “ควรทำ” ก็จะนำไปสู่ “การหลอกตัวเอง”
หลายถึง “การหาเหตุผลอะไรก็ได้” (ไม่ว่าจะงี่เง่าแค่ไหน) เพื่อใช้เข้าข้างตัวเอง มารองรับไม่ให้รู้สึกผิดในพฤติกรรมที่ได้ทำลงไป
.
.
และนำไปสู่ “การเข้าไปอยู่ในกล่อง”
 
หมายถึง การที่คุณเข้าไปอยู่ในโลกของคุณคนเดียว ปิดทึบ และไม่สนใจว่าใครจะคิด หรือรู้สึกยังไงกับคุณ เพียงเพราะคุณจะเชื่อว่า “ตนเองถูกเสมอ”
 
เป็นการมองไม่เห็น ไม่รู้สึกว่าผู้อื่นก็เป็น “คน” หรือเป็น “เพื่อนร่วมโลก” เหมือนกัน กลายเป็นมองเห็นแต่ความสำคัญของตนเองเท่านั้น โดยใช้ “ตรรกะวิบัติ” เพื่อช่วยในการรู้สึกดีอีกด้วย!
2) เมื่ออยู่ในกล่อง คุณจะไม่สามารถจดจ่อกับผลลัพธ์ได้
.
.
เมื่ออยู่ในกล่อง หรือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คุณจะคิดเข้าข้างตนเอง ทั้งใช้วิธีกล่าวโทษผู้อื่นอยู่เสมอ คุณจะชี้นิ้วไปหาผู้อื่น และสาธยายความผิดของคนๆ นั้นได้อย่างเป็นวรรคเป็นเวร
 
การโทษคนอื่น มีแนวโน้มที่จะ “ผลัก” ให้คนที่คุณกำลังต่อว่า เข้าไปอยู่ใน “กล่อง” เพื่อใช้ตอบโต้คุณกลับด้วยเช่นเดียวกัน
 
เมื่อเอาแต่โทษกันไปมา ย่อมไม่เกิดการศึกษา การเรียนรู้ พัฒนา และปรับปรุง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในอนาคตได้เลย
3)อิทธิพล และความสำเร็จของคุณจะขึ้นอยู่กับการอยู่นอกกล่อง
.
.
คุณจะออกมานอกกล่อง ก็ต่อเมื่อคุณเลิกต่อต้านคนอื่น และมองว่าใครก็ตามที่อยู่ตรงหน้า เป็น “มนุษย์ที่ไม่แตกต่างไปจากคุณ” พวกเขาเหล่านั้นล้วนมีความคิด ความรู้สึก มีความเจ็บปวด มีความกลัว มีความสุข ความหวัง เหมือนๆ กับคุณ
 
เมื่อคุณให้ใจแก่ผู้อื่น คุณย่อมได้ใจกลับมา
 
หากพวกเขาทำผิดพลาด ให้คุณตักเตือนเขาโดยใช้ความเด็ดขาด แต่ “เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตา” โฟกัสที่การแก้ไขงาน อย่าโฟกัสว่าเป็นความผิดพลาดของคนมากเกินไป
4)การนำหลักการเรื่องกล่องมาใช้กับชีวิต
.
.
-อย่าพยายามทำตัวให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ แค่พยายามทำให้ดีกว่าเดิมก็พอ
 
.
-อย่ามองหา หรือสนใจเรื่อง “กล่องของคนอื่น” ให้มองหาว่าตัวเองอยู่ในกล่องรึเปล่า ก็พอ
 
.
-ไม่กล่าวหาว่าใครอยู่ในกล่อง แต่จงพยายามทำตัวเองให้อยู่นอกกล่อง และอย่ายอมแพ้เมื่อพบว่าตัวเองอยู่ในกล่อง จงพยายามต่อไป
 
.
-อย่าเสียเวลาปฏิเสธว่าคุณไม่เคยอยู่ในกล่องเมื่อในอดีต จงขอโทษ จากนั้นก็เดินหน้าต่อ และช่วยเหลือผู้อื่นให้มากขึ้นในอนาคต
 
.
-อย่ากังวลจะมีใครมาช่วยคุณหรือไม่ อย่าจดจ่อในสิ่งที่คนอื่นทำผิด เลือกช่วยผู้อื่นแทนจะดีกว่า
5) กล่องในความคิดของผม
 
หลังอ่านจบ ผมสังเกตเองว่า “กล่อง” ที่ผู้เขียนต้องการบอก ช่างไปละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่า “อัตตา” หรือ “อีโก้” มากๆ เลยครับ
 
ในแง่นึง การอยู่ในกล่องก็อาจเป็นความเห็นแก่ตัว ตัดสินผู้อื่น โลกแคบ ทั้งทำตนเองให้เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง โดยอาจมีความคิดข้างในว่า เรา หรืองานของเรานี่ช่างสำคัญเสียเหลือเกิน
 
ถึงการอยู่ในกล่อง จะไม่เหมือนสำนวนไทย “กบในกะลา” แต่ผมว่ามันก็คล้ายกันอยู่เล็กๆ เหมือนกันนะ
บทสรุป...
 
การอยู่ในกล่องแบบเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด คือ เวลาที่คุณกำลังขับรถอยู่บนท้องถนนนั่นเองครับ
 
ผมพบว่า หลายครั้งเรามักหลงลืม และให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าเพื่อนร่วมถนน เรามองเห็นเพียงรถยนต์ที่วิ่งไปมา โดยลืมฉุกคิดไปว่า ในรถนั้น ก็มีเพื่อนมนุษย์อยู่ข้างใน มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีเพื่อนของใครคนหนึ่ง คนที่มีความสำคัญกับใครอีกหลายๆ คน กำลังใช้ชีวิตของเขาอยู่ในนั้น
 
เรามักเผลอคิดไปเองว่า ธุระของเรา ช่างเร่งด่วน และสำคัญกว่าผู้อื่นมากมายซะเหลือเกิน
 
ดังนั้น เพื่อให้ฝึกกลับมาสำรวจตนเองแบบง่ายๆ ทุกครั้งที่คุณขับรถ ลองพิจารณาใจของตนเองดูครับ และออกจากกล่องให้บ่อยๆ โดยใช้ความเมตตากับเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น ก็พอแล้ว
.
.
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาโดย “The Arbinger Institute” เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เรื่องราวในหนังสือ แม้จะมีบทพูดที่ยาวเฟื้อย แต่ก็อ่านได้สนุก เห็นภาพ และเพลิดเพลินมากๆ ครับ ให้แง่คิดเหมือนเป็นกระจกสะท้อนได้อย่างดีทีเดียว
 
ที่สำคัญ เล่มไม่หนาเกินไปด้วย ผมใช้เวลาอ่านระหว่างรอทำธุระ ไม่ถึงครึ่งวันก็จบ
 
เนื้อหาเหมาะสำหรับ การปรับ mindset ของการทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะคุณจะเป็นผู้นำ เป็นลูกน้อง ทั้งในองค์กร หรือในครอบครัว เพราะย่อมมีหลายครั้ง ที่เราเองมักจะ “เผลอ” คิดไปเองว่า “งาน” หรือ “สิ่งที่เรากำลังมุ่งมั่นทำอยู่” นั้น ช่างสำคัญ “กว่า” ของผู้อื่นซะเหลือเกิน
 
และ….
หากคุณกำลังมีปัญหาในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย คนในครอบครัว คู่ชีวิต แฟน หรือมนุษย์คนไหนในโลก
.
.
ยังไม่สายเกินไปนะครับ...
 
บางที คุณอาจกำลังอยู่ในกล่องแบบไม่รู้ตัวก็ได้ ลองเสาะหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะครับ (เพจผมไม่มีขายน้า)...
 
คุณอาจเสียน้ำตา (แบบผม) แต่ได้ตื่นรู้ เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าทีเดียว
 
แล้วพบกันใหม่ เล่มต่อไป….
 
ขอบคุณขวัญใจอีกครั้ง ที่แนะนำหนังสือเล่มเยี่ยมนี้
และ ขอบคุณทุกๆ คนที่ตั้งใจอ่านมาถึงบรรทัดนี้เช่นเดียวกันนะครับ
.
.
ซิม
22 ม.ค. 62
โฆษณา