6 ก.พ. 2019 เวลา 07:30 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรอย 8 ตุลาคม พ.ศ.2513
มิตร ชัยบัญชาตกเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต
มิตร ชัยบัญชาตายเพราะประมาทจริงหรือ? (Rerun)
บทความนี้จะเป็นบทความรีรันนะครับ บทความนี้ผมเขียนไว้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เหตุที่ยกกลับมารีรันอีก เพราะนี่เป็นหนึ่งในบทความที่ผมเขียนเองในตอนนั้น ต้องยอมรับตามตรงว่าในช่วงแรกนั้น ผมยังไม่ค่อยได้เขียนเอง เป็นการหยิบยกบทความจากที่ต่างๆ รวบรวมนำมาลงให้อ่านโดยไม่ได้กลั่นกรอง แต่ปัจจุบันทุกบทความนั้นผมเขียนเองหมดแล้วครับ ผมจึงอยากหยิบยกบทความนี้ขึ้นมาให้ท่านผู้อ่านได้ลองอ่านอีกครั้ง โดยผมได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วนเข้าไปด้วยครับ ส่วนซีรีย์ชุดชาวยิวและค่ายกักกันที่ผมเพิ่งลงไปวันนี้ ตอนที่ 2 จะตามมาไม่วันพรุ่งนี้ก็มะรืนนี้แน่นอนครับ และโปรแกรมซีรีย์ถัดจากชาวยิวและค่ายกักกัน ก็คือวิกฤตการณ์ร.ศ.112 ครับ ฝากติดตามด้วยนะครับ
เชิญอ่านบทความนี้ได้เลยครับ
ปีพ.ศ.2513 นั้น เป็นปีที่เข้าสู่ยุค 70 มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในสังคมโลกและสังคมไทยมากมาย ข่าวดังในเวลานั้นคงจะหนีไม่พ้นการจัดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จนถึงช่วงปลายปี วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2513 ก็เกิดข่าวใหญ่ที่ดังไปทั่วประเทศและน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ดังที่สุดในปีพ.ศ.2513 คือมิตร ชัยบัญชา พระเอกภาพยนตร์ไทยอันดับหนึ่ง ประสบอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต
ขอย้อนอดีตไปดูเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดในวันนั้น ตามข่าวที่ออกมานั้น มิตร ชัยบัญชาเป็นทั้งพระเอกและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง และตัวเขาเองก็เป็นผู้ที่ให้แก้บท จากฉากจบของเรื่องคือพระเอกนางเอกกอดกันที่ริมชายหาด เปลี่ยนมาให้นางเอกขับเฮลิคอปเตอร์มารับพระเอกโหนหนีตำรวจไปในอากาศ และคุณมิตรก็แสดงเจตนาที่จะแสดงฉากนี้ด้วยตนเอง
แต่จากหนังสือของคุณอิงคศักย์ เกตุหอม(ปัจจุบันคือหลวงพี่อิงคศักย์) ซึ่งเป็นผู้รวบรวมประวัติมิตร ชัยบัญชาที่มีข้อมูลเยอะและน่าเชื่อถือที่สุด รวมถึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ สรุปได้ดังนี้ อินทรีทอง เป็นภาพยนตร์ของสมนึกภาพยนตร์ โดยมีคุณสมนึก เหมบุตรเป็นผู้อำนวยการสร้าง มิตร ชัยบัญชาเป็นผู้กำกับการแสดงและแสดงนำ สร้างจากบทประพันธ์เรื่องอินทรีคืนรัง ของเศก ดุสิต
ตามแผนงานที่คุณมิตรวางแผนไว้นั้น คุณมิตรได้แก้ฉากสุดท้าย จากเดิมที่พระเอกและนางเอกยืนกอดกันที่ริมหาด แก้เป็นนางเอกขับเฮลิคอปเตอร์มารับพระเอก โดยหย่อนบันไดมาให้พระเอกห้อยโหนไปในอากาศ หนีตำรวจไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งคุณมิตรวางแผนการถ่ายทำฉากนี้เป็น 2 คัท คัทแรกนั้นคุณมิตรจะแสดงด้วยตนเอง โดยเกาะบันไดเฮลิคอปเตอร์ห้อยโหนไปในอากาศ เท้าไม่เหยียบบันได โดยจะเป็นการถ่ายทำสั้นๆ เฮลิคอปเตอร์บินเตี้ยๆเพียงผ่านหน้ากล้องเท่านั้นและต้องรีบนำเครื่องลงทันทีเพราะคุณมิตรโหนบันไดเท้าเปล่าอยู่ คัทนี้ไม่มีอันตรายอะไร เนื่องจากคุณมิตรเพียงแค่โหนเตี้ยๆและเพียงผ่านหน้ากล้องเท่านั้น คัทที่ 2 นั้น จะถ่ายเฮลิคอปเตอร์ที่บินสูงไปในระยะไกล โดยฉากนี้คุณมิตรไม่ได้แสดงเอง อาจจะใช้สตั๊นท์แมนหรือผูกหุ่นไว้กับบันไดก็ได้ เนื่องจากเป็นการถ่ายระยะไกล ไม่สามารถเห็นหน้าผู้แสดงได้ และเมื่อนำทั้งสองคัทนี้มาตัดต่อรวมกัน ก็จะเห็นเหมือนคุณมิตรโหนเฮลิคอปเตอร์ไปในอากาศสูงๆด้วยตนเอง
การถ่ายทำดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยถ่ายทำไปได้ประมาณ 90% เหลือเพียงฉากจบของเรื่อง ซึ่งมีกำหนดถ่ายทำไว้ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2513 โดยในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2513 นั้น คุณมิตรได้ไปเข้าฉากภาพยนตร์เรื่องน้องนางบ้านนา ในฉากชกต่อยกันในสลัม ข้อมือซ้ายของคุณมิตรได้ไปฟาดโดนขอบสังกะสี เป็นแผล ต้องหยุดการถ่ายทำเพื่อทำแผล โดยคุณมิตรเพียงแต่ใช้ผ้ามาพันห้ามเลือดไว้ ไม่ได้ไปให้หมอรักษา และบาดแผลก็ไม่ได้ใหญ่นัก คุณมิตรจึงถ่ายหนังต่อจนถึงเช้า ได้กลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้าน และเดินทางไปศรีราชา จังหวัดชลบุรีเพื่อถ่ายฉากจบของอินทรีทอง
2
การถ่ายทำในวันที่8 นั้นดำเนินไปตั้งแต่เช้า จนถึงช่วงเย็น เวลาประมาณ16.00 ได้เกิดเหตุบางอย่างในกองถ่ายที่คุณมิตรก็ไม่อาจทราบ ฟิล์มในกล้องถ่ายภาพยนตร์เหลือไม่พอที่จะถ่าย2คัท มีพอถ่ายได้เพียงคัทเดียวเท่านั้น ทีมงานไม่มีใครกล้าไปบอกมิตร ชัยบัญชา เพราะหากมิตร ชัยบัญชาทราบ คงต้องสั่งยกเลิกการถ่ายทำและโมโหอย่างแน่นอน ทีมงานจึงตัดสินใจรวบการถ่ายทำ จาก2คัท เหลือเพียงคัทเดียว คือแทนที่เฮลิคอปเตอร์บินผ่านหน้ากล้องแล้วจะลง เปลี่ยนเป็นให้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นสูงทันทีและถ่ายจนฟิล์มหมด ให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งเรื่องนี้มิตร ชัยบัญชาเองก็ไม่ทราบ
4
เมื่อเวลาถ่ายทำจริงมาถึง มิตร ชัยบัญชาใส่ชุดอินทรีแดง หน้ากากสีแดง ยืนรออยู่ตรงพุ่มไม้ตามจุดที่กำหนดไว้ ในเวลานี้มิตร ชัยบัญชาลงไปแสดง จึงต้องมีผู้กำกับการแสดงแทนชั่วคราวขึ้นมา ผู้กำกับชั่วคราวคนนี้มีอำนาจที่จะสั่งคัทหรือสั่งให้ทีมงานทำอย่างใดก็ได้ ในเวลาที่มิตร ชัยบัญชากำลังแสดงอยู่
เฮลิคอปเตอร์บินมาถึงจุดรับตัว มิตร ชัยบัญชากระโดดเกาะบันไดเชือก มือขวาอยู่บนบันไดขั้นที่ 4 มือซ้ายอยู่บนบันไดขั้นที่ 3 บันไดนั้นสิ้นสุดอยู่ที่เอวของมิตร ชัยบัญชา
ภาพที่ถ่ายขณะถ่ายทำจริง กลับซ้ายไปขวา ทำให้เห็นมือขวากับมือซ้ายสลับกัน
เฮลิคอปเตอร์ค่อยๆบินผ่านหน้ากล้อง และก็บินขึ้นสูงทันทีตามสัญญาณการโบกธงของคนเบื้องล่าง มิตร ชัยบัญชาซึ่งโหนบันไดสลิงอยู่ ก็คงงงๆว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่นำเครื่องลง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ต้องอดทนโหนอยู่อย่างนั้น
1
มิตร ชัยบัญชาได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองตกลงมาตาย คือใช้ข้อมือซ้ายไปม้วนพันกับเส้นสลิงของบันได เพื่อเป็นตัวล็อกไม่ให้เขาตกลงมาในกรณีที่หมดแรง แต่หากยังจำกันได้ เมื่อคืนนั้นข้อมือซ้ายของคุณมิตรมีบาดแผลจากการถ่ายทำภาพยนตร์ เมื่อเส้นสลิงที่แบนและคมพันอยู่ที่ข้อมือของคุณมิตรที่เป็นแผลอยู่แล้ว ก็ทำให้บาดข้อมือของคุณมิตรและบาดลึกจนเส้นเอ็นข้อมือซ้ายขาด เลือดกระเด็นสะบัดไปทั่วเสื้อของคุณมิตร เส้นสลิงฝังลงไปยังข้อมือของคุณมิตร
คนที่อยู่บนพื้นดินเบื้องล่างนั้นเห็นคุณมิตรใช้ขาทั้งสองข้างตบเข้าหากันหลายครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกได้ว่าคุณมิตรไม่ไหวแล้ว ในเวลานั้นมือขวาของคุณมิตรหลุดออกจากการเกาะกุมแล้ว แต่ร่างของเขายังไม่ตกลงมาเนื่องจากเส้นบันไดสลิงม้วนพันข้อมือซ้ายของเขา แต่สุดท้าย คุณมิตรก็ตัดสินใจแกะเส้นสลิงที่รัดมือซ้ายและปล่อยตัวเองตกสู่พื้นเบื้องล่าง ซึ่งหมายถึง คุณมิตรคงจะทนความเจ็บปวดไม่ไหว
บริเวณที่คุณมิตรปล่อยตัวลงมาเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่าบึงบัวขาว สันนิษฐานว่าคุณมิตรเห็นบึงบัวขาว เลยตั้งใจจะปล่อยตัวลงสู่บึงน้ำ เพื่อเอาชีวิตรอด แต่เนื่องจากลมพัดแรง ตีร่างคุณมิตรให้ออกห่างจากบึงบัวขาว
ร่างคุณมิตรร่วงลงมาในความสูง 300 ฟุต(90เมตร) กระแทกกับจอมปลวกและกระเด็นออกไปเกือบ10เมตร
1
คนในกองถ่ายต่างรีบวิ่งมายังจุดที่มิตร ชัยบัญชาตกและรับร่างของคุณมิตร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลำที่คุณมิตรเพิ่งตกลงมา นำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ว่าสายไปแล้ว ผลการชันสูตรศพระบุว่าคุณมิตรเสียชีวิตทันที เนื่องจากร่างกายแหลกเหลว กระดูกหักเกือบทั้งร่าง
- ฐานกะโหลกศรีษะด้านหน้าร้าว เลือดไหลออกไม่หยุด
- กรามและขากรรไกรหัก
- ซี่โครงขวาหักสามซี่
- ข้อมือขวาหัก
- ข้อมือซ้ายมีรอยบาด แผลยาว 6 ซ.ม. ลึก 2 ซ.ม. ตัดเส้นเอ็น
ภายหลังจากคุณมิตรเสียชีวิตนั้น เนื่องจากคุณมิตรเป็นผู้กำกับ จึงไม่แปลกที่คดีจะสรุปว่าเป็นความประมาทของคุณมิตรเอง เหล่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่างก็แยกย้ายกันไป ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบัน ผ่านไปเกือบ50ปี คนเหล่านั้นก็ล้มตายกันไปเกือบหมดแล้ว มีเพียงหลักฐาน การรวบรวมข้อมูลจากคุณอิงคศักย์ เกตุหอมที่ได้ทำการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆและเก็บหลักฐานและนำมาเขียนเป็นหนังสือเกี่ยวกับมิตร ชัยบัญชาอีกหลายเล่ม
References : หนังสือความหมายแห่งชีวิต มิตร ชัยบัญชา เขียนโดยอิงคศักย์ เกตุหอม
โฆษณา