10 ก.พ. 2019 เวลา 01:41 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
10 กุมภาพันธ์ 2009 ดาวเทียมชนกัน!
#สาระความรู้จากGistda
(เรียบเรียง กันต์ดนัย วิสุทธิ์สิริ) , (ภาพ : ณัฐกานต์ รัตนารังสรรค์)
ระบบการสื่อสารที่ก้าวไกลในวันนี้เป็นผลมาจากดาวเทียมสื่อสารจำนวนมากที่โคจรอยู่รอบโลก
 
แต่ในสมัยก่อน เราคิดว่าพื้นที่นอกโลกนั้นกว้างใหญ่ไพศาลเพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้ไม่ได้วางแผนการควบคุมปริมาณวัตถุอวกาศ ส่งผลให้จำนวนวัตถุอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มส่งผลกระทบกับดาวเทียมที่ปฏิบัติภารกิจอยู่
ตัวอย่างเช่น
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2009 ดาวเทียม Iridium 33 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารของประเทศสหรัฐอเมริกา ชนเข้ากับดาวเทียม Kosmos-2251 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารของรัสเซียที่ถูกปลดระวางแล้ว โดยทั้งคู่ชนกันที่ระดับความสูง 789 กิโลเมตร เหนือไซบีเรีย ด้วยความเร็วสูงถึง 42,120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ไบรอัน วีเดน(Brian Weeden)ที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิคของ Secure World Foundation ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานด้านนโยบายเกี่ยวกับอวกาศ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ได้รับข้อมูลแจ้งเตือนว่าดาวเทียมสองดวงมีโอกาสจะชนกัน เพียงแต่การโคจรเฉียดกันของดาวเทียมนั้นเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
ที่มารูป.www.dailymail.co.uk
ทุกกรณีที่แจ้งเตือนไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวัตถุทั้ง 2 ชนกันจริง ข้อมูลแจ้งเพียงแต่ความน่าจะเป็นที่จะชนกันและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น
วีเดนยังเสริมอีกว่าองค์กรของเขาเองก็พยายามทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆเพื่อพัฒนากระบวนการสร้างระบบควบคุมการจราจรทางอวกาศ
ตอนแรกก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดดาวเทียมทั้งสองชนกัน แต่เมื่อสังเกตเห็นการขาดหายของระบบการสื่อสารก็พอจะรู้ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทาง Space Surveillance Network (SSN) ของสหรัฐอเมริกาก็ตรวจพบวัตถุชิ้นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากในเส้นทางของดาวเทียมทั้งสองดวง
ที่มารูป.http://scienews.com/space/2977-in-japan-create-a-radar-to-detect-space-debris.html
จนมาถึงสิ้นเดือนมีนาคมหลังเกิดเหตุการณ์นี้ ก็พบว่ามีขยะอวกาศชิ้นใหญ่ๆมากถึง 823 ชิ้น นี่ยังไม่นับเศษชิ้นเล็กๆ ที่ไม่สามารถตรวจจับได้อีกมากมาย
ดาวเทียม Iridium 33 หนักถึง 560 กิโลกรัม ส่วน Kosmos-2251 หนักถึง 900 กิโลกรัม ชนด้วยความเร็วสูง 11 กิโลเมตรต่อวินาที ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนขยะอวกาศที่แผ่กระจายออกเป็นส่วนหนึ่งของผิวทรงกลมโค้งๆ
ที่มารูป.www.prozesa.com/2017/11/04/basura-espacial-podria-poner-en-riesgo-futuras-expediciones/
ส่วนของเศษขยะที่เล็กเกินกว่า SSN จะตรวจสอบได้ก็ตกเป็นหน้าที่ของเรดาร์ Haystack, Haystack Auxiliary และเรดาร์ Goldstone ซึ่งเรดาร์ Haystack กับ Haystack Auxiliary สามารถตรวจจับวัตถุขนาดเล็กระดับ 1 เซนติเมตรได้ ส่วนเรดาร์ Goldstone มี 2 ตัว โดยตัวหนึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปหาวัตถุ และอีกตัวจะคอยสัญญาณที่สะท้อนจากวัตถุนั้นกลับมา ซึ่งมันสามารถตรวจจับวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรที่โคจรในระดับความสูงไม่มากได้
ผลการตรวจจับพบว่าบริเวณวงโคจรของดาวเทียมในเครือ Iridium นั้น มีขยะอวกาศที่ถูกลงบันทึกเพิ่มเติมประมาณ 3,300 ชิ้นเลยทีเดียว
ที่มารูป.www.howitworksdaily.com/five-biggest-satellite-crashes/
โชคดีที่เหตุการณ์นี้ไม่ส่งผลต่อสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งโคจรอยู่ต่ำกว่าบริเวณที่ดาวเทียมชนกัน ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าขยะอวกาศเหล่านี้จะตกสู่บรรยากาศของโลกแล้วถูกเผาไหม้ไป
ลองคิดดูว่ามีดาวเทียมอีกกี่ดวงที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการชนกับเศษเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มนุษย์เราต้องวางแผนเรื่องการส่งดาวเทียมอย่างละเอียดรอบครอบมากขึ้น รวมทั้งในอนาคต เราคงต้องหาทางกำจัดและควบคุมปริมาณขยะอวกาศเหล่านี้ให้ได้อย่างจริงจัง
ที่มารูป.www.express.co.uk/news/world/899408/SpaceX-Satellite-US-government-top-secret-Falcon-9-rocket-Elon-Musk-Tesla-Mars-space
ใครสนใจเทคโนโลยีด้านอวกาศและดาวเทียม
กดติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้ที่ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
โฆษณา