10 ก.พ. 2019 เวลา 01:46 • การเมือง
แผ่นดินนี้เป็นของใคร?
หลายคนเคยสงสัยไหมครับ ว่าแผ่นดินไทยที่เราเหยียบนี้ เป็นของใคร บ้านที่เราซื้อมามีโฉนดชื่อเราอย่างถูกต้อง เป็นของเราจริงเหรอ?
.
.
คุณเคยรู้ไหมครับ ว่าเมื่อพ.ศ.๒๔๓๖ เกิดเหตุการณ์ที่เราเรียกกันว่า วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ไทยเราถูกกองเรือฝรั่งเศสรุกเข้าสู่พระนคร นำปืนเรือจ่อพระบรมมหาราชวัง โดยสั่งให้ไทยชำระเงินค่าเสียหาย๓ล้านฟรัง(ราว ๑,๕๖๐,๐๐๐ บาท)ภายใน๔๘ชม. มิฉะนั้น ฝรั่งเศสจะยึดไทยเป็นเมืองขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่เป็นอันเสวยหรือบรรทม จนประชวรหนัก เพราะเหตุทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัย ขมขื่นและระทมทุกข์ จากชาติฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม จนท้อพระทัยว่า พระนามของพระองค์จะถูกลูกหลานในอนาคตติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น
"เงินถุงแดง"มรดกจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ ๓ จึงถูกนำมาเป็น"ค่าไถ่แผ่นดิน"คืนจากฝรั่งเศสโดยนำไปสมทบกับเงินในท้องพระคลังหลวงที่มีอยู่ก็ยังไม่พอกับเงิน ๓ ล้านฟรังก์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์
ตลอดจนข้าราชการ จึงช่วยกันถวายเงิน ทองและสร้อย เพชรนิลจินดาไปแลกเป็นเงินเหรียญ รวบรวมใส่ถุงขนออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูต้นสนไปยังท่าราชวรดิษฐ์กันตลอดทั้งวันทั้งคืนออกไปหลายเที่ยว
เนื่องจากมีเวลาจำกัดเพียง ๔๘ ชั่วโมง กล่าวกันว่าน้ำหนักของเงินเหรียญที่ใส่รถออกไปหลายเที่ยว ทำให้ถนนเป็นรอยสึกเพราะน้ำหนักของเงินเหรียญจำนวนมากมายมีน้ำหนักถึง ๒๑ ตัน
สุดท้ายสยามก็ชดใช้เงินให้ฝรั่งเศส๓ล้านฟรัง พร้อมกับต้องแลกกับการเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และยึดเอาจันทบุรีกับตราดไว้เป็นประกัน
ทีนี้คุณรู้หรือยังครับ ว่าแผ่นดินไทยที่เรายืนอยู่นี้ เป็นของใคร?
.....................................................................
เงินถุงแดง มรดกจากรัชกาลที่ ๓ ที่ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ ในเวลาต่อมา
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นคนเก่งหลายด้าน จนแทบไม่น่าเชื่อว่าคนคนเดียวจะมีคุณสมบัติได้มากมายถึงขนาดนี้ แต่ก็เป็นความจริง ทรงเป็นทั้งกวี นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการทหาร นักการศึกษา ภูมิสถาปนิก อุบาสกผู้ทะนุบำรุงพุทธศาสนา ผู้อุปถัมภ์ศิลปะไทย
1
และเป็นนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จดีเลิศ อย่างหลังสุดนี้คือ ทรงค้าสำเภา ส่งของไปค้าขายกับเมืองจีนตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ ๒ ถึงขั้นร่ำรวยจนพระราชบิดาทรงเรียกว่า "เจ้าสัว"
สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ได้เสด็จออกไปเมืองจีนเอง แต่ทรงมอบให้ขุนนางไทยเชื้อสายจีนที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้จัดการบริหารงานค้าขายให้แทน ขุนนางผู้นั้นก็ได้ทำงานถวายด้วยความซื่อสัตย์ตลอดุุ จนบั้นปลายได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นเป็น " เจ้าพระยานิกรบดินทร์" ต่อมาในรัชกาลที่ ๖
เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล ลูกหลานเจ้าพระยานิกรบดินทร์จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า " กัลยาณมิตร" ด้วยเหตุที่ต้นสกุลได้รับพระกรุณายกย่องเป็น "มิตรที่ดีงาม" ในรัชกาลที่ ๓ ส่วนเงินกำไรที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้มาเป็นเงินส่วนพระองค์นี้ มิได้ทรงใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงใดๆ หรือยกให้พระราชโอรสธิดาตามพระทัยชอบทั้งที่มีสิทธิ์ทำได้ แต่ทรงนำมาใส่ถุงแดง
แยกเป็นถุง ถุงละ ๑๐ ชั่ง ตีตราปิดปากถุง เก็บไว้ในหีบกำปั่นข้างห้องพระบรรทม ส่วนหนึ่งทรงเก็บไว้เพื่อสร้าง และทะนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในพระนครและภายนอก อีกส่วนหนึ่งก็ทรงยกให้แผ่นดิน มีพระราชดำรัสว่า "เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง" หมายถึงว่าถ้าต้องเพลี่ยงพล้ำกับข้าศึกศัตรูแล้ว จะได้นำเงินนี้ออกมาใช้กอบกู้บ้านเมือง
พระราชดำรัสนี้น่าประหลาดตรงที่เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี จนถึง ร.ศ. ๑๑๒ ก็เกิดเป็นความจริงขึ้นมา เมื่อไทยถูกฝรั่งเศสปรับโทษเป็นเงิน ๓ ล้านฟรัง จนท้องพระคลังมีไม่พอ ก็ได้ ‘ เงินถุงแดง ‘ ส่วนนี้ไปสมทบ ไถ่บ้านเมืองเอาไว้ได้จริงๆ แสดงว่าเงินถุงแดงที่ทรงสะสมไว้ มีจำนวนมากมายทีเดียว
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยบ้านเมืองยิ่งกว่าเรื่องส่วนพระองค์จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เมื่อประชวรหนักใกล้เสด็จสวรรคต ก็มิได้ทรงพะวงกับเรื่องอื่นนอกจากความสงบสุขของแผ่นดิน ถึงกับพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ขุนนางข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้า ไว้เป็นครั้งสุดท้ายว่า
"การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว"
น่าประหลาดอีกเช่นกัน ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลในเรื่องนี้อย่างแม่นยำเช่นเดียวกับเรื่อง ‘ เงินถุงแดง ‘ เพราะถ้าเรานึกถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยประสบอยู่ในปัจจุบัน แม้เวลาล่วงเลยหลังจากเสด็จสวรรคตมาแล้วถึง ๑๔๙ ปี
พระบรมราโชวาทเรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งทันสมัย
ควรแก่การนำมาทบทวนและเตือนใจคนไทยอีกครั้งหนึ่ง
ที่มาเฟซบุ๊ก วิรังรอง ทัพพะรังสี
ขอบคุณผู้เขียนบทความที่ไม่ปรากฎนาม
ขอบคุณภาพโดยผู้จัดนิทรรศรัตนโกสินทร์จากคุณ เจตน์ ตันติวณิชชานนท์
.
อ่านจบแล้วสุดแล้วแต่ท่านว่าสมควรจะเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยหรือไม่..
โฆษณา