20 ก.พ. 2019 เวลา 23:47 • ปรัชญา
“Stillness Speaks”
“เสียงแห่งความสงบ”
113 หน้า
ผู้เขียน: เอ็คฮาร์ท โทลเล่
สนพ: ต้นไม้
หมวด: จิตวิญญาณ
เหมาะกับ: ผู้สนใจแนวจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง แต่ควรมีพื้นฐาน และเคยอ่านหนังสือประเภทนี้มาบ้างแล้ว
.
=============
.
เมื่อเรามีสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลา….
.
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สังคม ทั้งผู้คนที่อยู่รอบกาย (หรือในเฟส) มักปลูกฝังทัศนคติของความก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ มีเป้าหมายที่สุดยอด เป็นที่ยอมรับนับถือของคนอื่นทั่วไป
หลายครั้ง การมุ่งหน้าทำตาม “ความฝัน” จนไม่มีแม้เวลากลับมาถามตนเองว่า ตกลงแล้ว สิ่งที่กำลังทำอยู่ เป็น “ฝันของเรา หรือสิ่งที่สังคมชี้นำให้เราทำ” กันแน่?…
.
“เอ็คฮาร์ท โทลเล” นักคิด นักเขียนคนสำคัญ ผู้เคยทำให้หนังสือ “The Power of Now” (พลังแห่งจิตปัจจุบัน) เป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลก กลับมาอีกครั้งกับงานเขียนลำดับที่ 3 ของเขา
.
Stillness Speaks เล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องของ “ความเงียบ” และการ “ตั้งคำถาม” กับตนเองครับผม
เนื่องจากหนังสือมีความเป็นอภิปรัชญาที่สูงมาก เรียกว่าอ่านไม่ง่ายเลยล่ะครับ ดังนั้นผมจะลองถ่ายทอดเท่าที่เข้าใจนะครับ...
.
.
=================
1.ความเงียบ และความสงบ
.
.
บทที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของความเงียบ ที่เป็นแก่นของหนังสือเล่มนี้ เพียงแค่คุณเข้าใจว่า….
เมื่อไหร่ที่เงียบ คุณจะได้ความสงบ เมื่อไหร่ที่สงบ คุณจะได้รับปัญญา ก็เพียงพอที่จะครอบคลุมเนื้อหาทั้งเล่มเรียบร้อยแล้ว
.
.
หากลองดูพฤติกรรมของตนเอง คุณอาจพอสังเกตได้ว่า ในแต่ละวัน โอกาสที่เราจะได้แพ้วพานกับ “ความเงียบ” บางครั้งก็น้อยเหลือเกินครับ...
ตั้งแต่ตื่นนอน เราหลายคนจะหยิบโทรศัพท์ทันที เมื่อเราอ่าน “เสียงในหัว” ก็จะเริ่มคิด วิจารณ์และตัดสินว่าชอบสิ่งที่เห็นหรือไม่ จากนั้น เราจะเปิดทีวี ไม่ก็ยูทูป หรือ เสียบสมอลทอร์คเพื่อฟังอะไรๆ อยู่แทบตลอดเวลา ทั้งหมดทั้งมวล เป็นการใช้เสียงจากภายนอก เพื่อกลบความเงียบทั้งสิ้น
หากไม่มีอุปกรณ์ใดๆ เราจะเริ่มพูดคุยกับตนเอง ตกไปในอ่างของความคิดถึงสิ่งที่ต้องทำในอนาคต ไม่ก็วนเวียนกลับไปอดีต และการคุยกับตนเองที่ว่า ก็มักไม่ค่อยเกิดประโยชน์ใดๆ
เราฝึกตัวเองให้ออกห่างจากความเงียบอยู่เสมอ….
.
.
ในความเป็นจริง การปิดเสียงจากความคิด และเสียงจากภายนอก เป็นการกลับมาอยู่กับตนเองอย่างแท้จริง ที่ง่ายที่สุดคือการหลับตา และฝึกสมาธิ หรือมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น
เมื่อเสียงทั้งหมดเงียบแล้ว เราจะเกิดความว่าง
ในสภาวะแห่งความว่าง หากบังเอิญมีเสียงมาจากที่ใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือ เพียงแค่ “รับรู้” และปล่อยผ่านไป ไม่ตีความ ไม่ต่อต้าน ไม่เข้าร่วม ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็น
.
แล้วสันติจะเกิดจากภายใน คือ “ความสงบ” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “ปัญญา” นั่นเองครับ
.
.
====================
.
2. เหนือจากจิตแห่งความคิด
.
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะ “เสพติดความคิด” เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์เรา “กลัวความไม่รู้”
เมื่อไม่รู้ ก็จะเกิดความไม่แน่นอน ซึ่งในครั้งบรรพกาล ความไม่แน่นอนมีอันตรายถึงชีวิต
เราปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรู้ เข้าใจ เพื่อจะได้ควบคุมทุกสิ่ง...
เมื่อหมกมุ่นกับความคิดบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นความ “ฟุ้งซ่าน” เป็นการไม่รับรู้ และใช้ชีวิตอยู่ในช่วงแห่งปัจจุบันขณะ ในขณะที่ร่างกายทำงานอยู่ แต่ความคิดฟุ้งไปที่อื่นตลอดเวลา
ในความเป็นจริง เราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรอกครับ การพยายามจึงเป็นที่มาของ “ความทุกข์” นั่นเอง...
.
.
วิธีที่จะช่วยให้คุณเป็นนายเหนือความคิด ก็คือ ปล่อยสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวออกไป ไม่จำเป็นต้องคิดตลอดเวลา ผ่อนคลาย รู้สึกสบายใจที่ไม่จำเป็นต้องรู้ไปซะทุกเรื่องก็ได้ เพราะเราไม่ได้มีชีวิตที่เสี่ยงอันตรายเท่าในอดีตอีกแล้ว
อีกอย่าง ระหว่างทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ให้คุณหมั่นกลับมารับรู้ และรู้สึกถึงพลังงานที่อยู่ภายในร่างกายของคุณให้บ่อยครั้งแทน รู้ถึงพลังงานที่ไหลเวียนในฝ่ามือ เท้า ท้อง หน้าอก และอวัยวะทั่วร่างกาย รับรู้ถึงพลังงานชีวิตที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในร่างกาย
.
เรื่องง่ายๆ อย่างการรู้สึกตัววันละนิดวันละหน่อยนี้เอง จะกล่อมเกลาให้คุณกลายเป็น “นายเหนือความคิด” ที่วนเวียน แล้วค่อยๆ พาไปสู่ “การตื่นรู้” นั่นเองครับ
.
.
=================
.
3.อัตตาแห่งตน
.
“อัตตา” หรือ “อีโก้” คือ จิตที่มีความรู้สึกของความไม่สมบูรณ์ ไม่มั่นคง เต็มไปด้วยความหวาดกลัว และความกระหายอยากเป็น ไม่อยากเป็น
หากไม่ฝึกในการละไปบ้าง อัตตาจะทำงานจนมีพลัง มีอำนาจเหนือความรู้สึกอื่นๆ ทั้งมวล
อัตตา คือ สภาวะของการ “ยึดติด” ใน “ฉัน”
“ฉัน” ในที่นี้ คือ “ตัวฉัน” และ “เรื่องราวของฉัน” ที่คิดเข้าข้างตนเองว่า มีบางอย่างที่ “มากกว่า” หรือ “น้อยกว่า” คนอื่นๆ เสมอ เช่น ฉันดีกว่า ฉันเก่งกว่า ฉันไม่ดีเท่า ฉันไม่เก่งเท่า… ไม่ว่าจะเป็นด้านบวก หรือลบ หากมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น ล้วนเป็นเหตุแห่งอัตตาทั้งสิ้น
.
อาหารที่หล่อเลี้ยงอัตตาก็มีหลายอย่าง เช่น การพร่ำบ่น อิจฉาริษยา กระทั่งความรู้สึกผิด หรือการยึดว่าตัวเองเป็นใหญ่ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณหยุดอยู่กับที่ ไม่เติบโต ไม่ก้าวหน้า และไม่มีความสุข
.
.
==================
.
4.ปัจจุบัน
.
สิ่งที่เรียกว่า “อดีต” และ “อนาคต” ไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงคำที่ใช้เรียกสิ่งที่ความคิดใช้สร้างสถานที่ให้อัตตาใช้อาศัยอยู่เท่านั้น
เมื่อเราไม่รับรู้อดีตและอนาคต แต่หันมาอยู่กับปัจจุบัน ใส่ใจ วางใจ ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ตัดสิน ยึดติด เราจึงจะมีชีวิตได้แท้จริง เพราะคุณมีชีวิตอยู่แค่เพียงชั่วเวลาในขณะนี้เท่านั้น
.
จึงไม่จำเป็นต้องกลัว สับสน หดหู่ หรือใช้ความคิดกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว หรือยังไม่เกิดขึ้นให้มากเกินไป หากทำได้ อัตตาก็ค่อยๆ ไร้ที่อยู่ และความทุกข์ใจก็จะเบาบางลงไปมาก
.
.
===================
.
5. คุณเป็นใครจริงๆ
.
คุณคือ “สติ”
คุณจำเป็นต้อง “ตระหนักรู้” สิ่งต่างๆ ผ่านประสบการณ์ตรงหน้าเท่านั้น
คุณเป็น “หนึ่งเดียว” กับธรรมชาติ จักรวาล ทุกสรรพสิ่ง และมาอยู่ที่นี่เพียงแค่ชั่วคราว
ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความร่ำรวย ยากจน หรือสถานะทางโลก ไม่ใช่ตัวคุณที่แท้ เป็นเพียงภาพลวงตา เป็นสภาวะชั่วคราวที่คุณและผู้อื่น ให้คำนิยามและเรียกขานเท่านั้น
.
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหวาดกลัว หรือปรารถนาจนเกินไป เนื่องจากคุณไม่ได้บกพร่องใดๆ
คุณสมบูรณ์แบบตั้งแต่มาอยู่ที่นี่แล้ว
.
.
===================
.
6. การยอมรับ และการยอมจำนน
.
“การยอมรับ” และ “การยอมจำนน” ในเหตุการณ์ หรือสภาวะบางอย่างที่ไม่ต้องการ จะช่วยให้คุณก้าวผ่านความคาดหวังที่ก่อให้เกิดทุกข์ได้อย่างแท้จริง
ยอมจำนนในที่นี้ หมายถึง การทำทุกอย่างเต็มที่อย่างถึงที่สุด หากมีสิ่งใดที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น ก็เพียงแค่ยอมรับ และหาวิธีเพื่อให้ปรับปรุง แก้ไข และทำให้ดีกว่าเดิมเท่านั้น ไม่หลง ไม่ยึด ไม่ดราม่า
เพราะ “จิตแห่งความคิด” นั้นมีจำกัด
เมื่อคุณยอมรับอย่างเต็มที่ว่าคุณไม่รู้ เลิกที่จะดิ้นรนค้นหาคำตอบ เมื่อนั้น “จิตแห่งสติปัญญา” ที่ยิ่งใหญ่จึงจะทำงานผ่านตัวคุณได้
เมื่อคุณยอมจำนน คุณจะเลิกตั้งคำถามว่า “ทำไมสิ่งนี้ต้องเกิดกับฉันด้วย” เพราะแม้แต่สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะยอมรับไม่ได้ และเจ็บปวดที่สุดก็ยังมีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่เสมอ
.
ไม่ว่าอะไรที่คุณยอมรับ ยอมจำนนอย่างเต็มที่ จะพาให้คุณไปสู่ความสงบแท้อย่างแน่นอน
.
.
==================
.
7. ธรรมชาติ
.
ทุกครั้งที่มีโอกาสได้อยู่ในธรรมชาติ สิ่งที่ควรทำ คือแค่มองเห็น ใส่ใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่ต้องมีคำนิยาม เรียกขาน แปะป้าย ไม่ต้องใช้ความคิดใดๆ
“ไม่จำเป็นต้องเรียกขาน” ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร ถึงความคิดจะเคยจดจำได้ว่าสิ่งนั้นคือ ดอกไม้ ต้นไม้ นก ก้อนหิน ก็ไม่ต้องเรียกชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ทำเพียงแค่เฝ้ามอง รับรู้ อยู่ที่นั่นอย่างแท้จริง
.
แล้วจะทำให้คุณกลับไปเชื่อมต่อ ได้ของขวัญจากธรรมชาติ เป็นความสงบเงียบ และกลับไปเป็น “หนึ่งเดียว” กับทุกสิ่งรอบกายคุณอีกครั้งนั่นเอง
บทส่งท้าย…
.
หากสรุปสั้นๆ เนื้อหาในเล่มทั้งหมดก็ว่าด้วยเรื่องของ “3 ลดละ" ได้แก่
1. ลดละ "ความคิด” ที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ และส่วนใหญ่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์
2. ลดละ "อัตตา” ที่ทั้งหลงทาง ยึดติด ความรู้สึกที่เหนือ และด้อยกว่าผู้อื่น
3. ลดละ "การแปะป้าย” คือ เปรียบเทียบ ตัดสิน พิพากษาทุกสิ่ง หรือทุกคน
.
.
และว่าด้วยการ “3 รับรู้” ได้แก่
1. รับรู้ “ความเงียบ” โดยไม่พึ่งพาอุปกรณ์ หรือความคิดที่วนเวียน
2. รับรู้ “สิ่งที่เกิดขึ้น” ไม่ต่อต้าน ยอมรับ และปรับปรุง
3. รับรู้ “ธรรมชาติ” และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะรอบกาย
.
.
เอาล่ะครับ อันที่จริงทั้ง 3 ลดละ และ 3 รับรู้ ข้างบนนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ ผมเองก็กำลังฝึกอยู่เสมอ ก็พบว่าจริงๆ แล้วต้องใช้เวลาในการปฏิบัติสักพักครับ
แค่ปิดความคิด วางอัตตา ก็ไม่ง่ายแล้วครับ ก็ทำได้เพียงบางช่วง และรู้สึกดีมากๆ
.
.
หนังสือของเอ็คฮาร์ท โทลเล่ เล่มนี้ หนาเพียง 100 กว่าหน้า อ่านไม่กี่ชั่วโมงก็จบแล้วล่ะครับ แต่บอกเลยว่า สามารถทำความเข้าใจได้เพียงแค่ภาพรวมๆ เท่านั้น ยังรู้สึกว่าเข้าไม่ถึงอีกหลายส่วน ซึ่งก็เกิดขึ้นกับผมเป็นประจำกับหนังสือรูปแบบนี้ล่ะครับ
 
ไม่รู้เป็นเพราะออริจินอลในภาษาอังกฤษ หรือ การถ่ายทอดเป็นภาษาไทยกันแน่ที่ทำให้เนื้อหาบางช่วงในเล่ม ดูงงๆ แบบบอกไม่ถูก….
หรือบางที ก็อาจเป็นผมเองที่ยังเข้าไม่ค่อยถึงก็ได้นะ 55555
.
.
ไม่เป็นไรครับ หนังสือแบบนี้ ควรใช้ใจอ่านและเอ็คฮาร์ทผู้เขียนเองก็บอกแล้วล่ะเนอะ….
“อย่าคิดเยอะ!”
แล้วพบกันใหม่เล่มต่อไปค้าบ...
.
.
ซิม
21 ก.พ. 62
โฆษณา