3 มี.ค. 2019 เวลา 06:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว (Chilades lajus)
ตอนย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่ ผมได้ต้นมะนาวมาจากงานเกษตรสามต้น ตอนคนขายขายเค้าก็บอกว่าเป็นพันธุ์ลูกดกทุกต้น แต่ผ่านมาสามปี มีต้นที่ออกลูกอยู่ต้นเดียว ในขณะที่ต้นอื่นนั้นไม่ออกลูกแต่เป็นอาหารโปรดของหนอนผีเสื้อหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือ ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว
หนอนของผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว ( Chilades lajus)
ทุกปีที่บ้านผมจะมีหนอนของผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาวมาเยี่ยม ลักษณะเป็นหนอนสีเขียวขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ไม่มีลาย ตัวจะดูนูนๆ แต่ว่าไม่เคยเจอในระยะตัวเต็มวัยซะที ปีนี้โชคดีกว่าปีอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะตอนเจอตอนที่หนอนนั้นเข้าดักแด้แล้ว ก็เลยเอาถุงพลาสติกใสเจาะรูให้ระบายความชื้นและความร้อนครอบดักแด้เอาไว้ พอเย็นวันต่อมาจากดักแด้ก็กลายเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยแล้ว
ดักแด้ของผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว (Chilades lajus) จุดสีน้ำตาลคือตำแหน่งของตาของผีเสื้อตัวเต็มวัย
ตัวเต็มวัยของผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว (Chilades lajus)
ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาวตัวเต็มวัยจะวางไข่บนใบพืชอาหารเช่น มะนาว ส้มโอ และไข่จะฟักหลังจากนั้นประมาณ 2 วัน และจะอยู่ในระยะหนอนประมาณ 27 วัน ซึ่งกินใบของพืชอาหารเป็นอาหาร หนอนในรูปข้างบนคือ หนอนระยะที่ 5 ก่อนที่จะเข้าดักแด้แล้ว และจะอยู่ในระยะดักแด้ประมาณ 18 วันก่อนจะออกมาเป็นตัวเต็มวัย ในดักแด้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเช่น มีหนวด ตาขยายขนาดใหญ่ขึ้น ปากเปลี่ยนจากปากกัดเป็นปากดูดกิน ตัวเต็มวัยมีลักษณะเด่นคือขอบปีกไม่มีหาง ปีกด้านหลังเป็นสีม่วง-น้ำเงิน ของปีกสีดำ ปีกด้านท้องสีเทา มีจุดสีดำ
มดกำลังดูแลหนอนของผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาวอยู่
ในผีเสื้อกลุ่มของผีเสื้อฟ้าหลายชนิดมีการดำรงชีวิตที่น่าสนใจอย่างในรูปข้างบน คือ หนอนและดักแด้ของผีเสื้อเหล่านี้จะสร้างสารเคมีที่ดึงดูดมด หรือบางชนิดก็จะมีกลิ่น (Pheromone) คล้ายกับตัวอ่อนของมด (เช่น ผีเสื้อฟ้าใหญ่ (Large blue - [Phengaris arion]) ทำให้มดมาช่วยปกป้องตัวมันได้ เพราะฉะนั้นหนอนและดักแด้ของผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาวจะดูเหมือนมีมดรุมมันอยู่ตลอดเวลา
เอกสารอ้างอิง
1. Ek-Amnuay, P. 2012. Butterflies of Thailand. 2nd Edition. Baan Lae Suan Amarin Printing Publishing, Bangkok.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา