Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Chariot
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2019 เวลา 06:30 • ประวัติศาสตร์
เปิดกรุตำรามวย...พระเจ้าเสือ!!!
หมัดหนักโคราช! ฉลาดลพบุรี! ท่าดีไชยา! ไวกว่าท่าเสา
ค้นคลังลับตำรับมวยโบราณ ที่นับวันจะเหลือเพียงตำนานเล่าขาน เพราะไร้ลูกหลานสืบทอด!!!
http://thaimonument.com/portfolio/รูปปั้น-พระบรมราชานุสาว/
ใครที่ได้ติดตาม "ตำรามวยไทย...ตำรับพระเจ้าเสือ!"
ซึ่งได้โพสต์ไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมานั้น
คงได้อิ่มหนำสำราญกัน กับลีลาการต่อสู้อันเป็น
"ตำนานกึ่งพงศาวดาร"
ที่ผู้เขียนได้นำมาเรียบเรียงให้อ่านง่าย
และเร้าใจมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คงมีผู้สงสัยเป็นจำนวนไม่น้อยอยู่ว่า
ความแตกต่างระหว่างมวยไชยา มวยท่าเสา มวยโคราช
และมวยไทยสายตรงของพระเจ้าเสือเป็นเช่นไร
ในวันนี้ผู้เขียนจะได้กล่าวถึง "เกร็ด" อันเป็นเอกลักษณ์ของมวยไทยสายโคราชซึ่งหาชมได้ยาก
เพราะตั้งแต่มีกติกาห้ามการพันหมัดคาดเชือก
มาตั้งแต่ในยุครัชกาลที่ 7
จากนั้นก็มีการออกกติกาบังคับให้นักมวยสวมนวม
สวมถุงเท้า (ในยุคหนึ่ง) และนำกติกาแบบตะวันตก
เข้ามาใช้นั้น
ความเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของมวยไทย
พื้นบ้านแต่ละสาย
ก็ได้อันตรธานไปอย่างน่าใจหายเช่นเดียวกัน
มวยไทยทุกวันนี้นั้น
แทบจะแยกกันไม่ออกว่าคนไหนมาจากสำนักไหน
เพราะต่างฝ่ายต่างก็เน้นสู้แบบ "เดินชน"
จนดูไปก็คล้ายๆ กันไปหมด!
ตำรามวยไทย : ชุบ นิวาสะวัต
ตามธรรมดาปกติของการ "คุมหลัก" แบบโคราชนั้น
นิยมเรียกกันว่าการคุมแบบ "ตัว ก" ดังเช่นที่เห็นในภาพ
ที่ว่าคล้ายตัว "ก" นั้นก็ด้วยว่าตัวพยัญชนะ "ก-ไก่"
จะมีส่วนของ "จงอยปาก" โผล่ออกมา
คล้ายกับมือที่ยื่นมาด้านหน้าลำตัวของนักมวยนั่นเอง
การ "คุมหลัก" ในลักษณะนี้บางทีก็เรียกว่า "หมัดประ"
คือการยื่นมือออกมาด้านหน้าพร้อมที่จะปะทะหรือผลักยันดันคู่ต่อสู้ไม่ยอมให้เข้าประชิดติดตัวได้
ซึ่งจะแตกต่างจากการจรดมวยแบบไชยา
ที่หมัดหนึ่งอยู่ตรงหน้าอีกหมัดลดต่ำลงมา
คุมอยู่แถวอกรวบเพื่อป้องกันหัวใจและชายโครง
ส่วนในมวยไทยสายท่าเสา / พระยาพิชัยดาบหัก
มักนิยมจรดมวยโดยหมัดสองข้างเกือบจะแนบชิดปิดปลายคาง ศอกทั้งสองวางปิดป้องซี่โครงไว้
การ "คุมหลัก" หรือ "จรดมวย" อันเป็น
"แม่ไม้" ที่ต่างกันไป
ก็จะทำให้ "ลูกไม้" และ "เกร็ดไม้" ของมวยทั้งหลาย
แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
ในบางครั้งมวยไทยสายโคราชอาจมีการ "คุม"
ในลักษณะที่สองมือชี้มาด้านหน้า
ขาหน้าตั้งตรงขาหลังเขย่งยืนบนปลายเท้าอันเป็นอาการของการเตรียม "เตะคอขาด"
ดังที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ มักบริภาษนักมวย
ในอุปการะที่มาจากนครราชสีมาว่า
"เอ็งจะง้างตีนมาแต่โคราช... ไปทำไมวะ!!!"
ตำรามวยไทย : ชุบ นิวาสะวัต
มวยโคราชนิยมการกันหมัดและเตะโดยใช้ท่อนแขน
วางขวางตลอดทั้งท่อน
ดังที่ปรากฎเห็นในภาพคือการใช้ท่อนแขนยกสกัด
การ "กุมตี" ทั้งบนทั้งล่างของมวยไทยสายโคราช
ท่านที่ได้อ่าน "ตำราพิชัยสงคราม...พระเจ้าตาก!"
โพสต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา
ย่อมจะรู้ว่ามวยไทย ใช้ประกอบในตำราพิชัยยุทธ
มีกลวิธีตีสกัดทั้งบนและล่าง ข้างและหลัง
เหมือนดั่งระลอกคลื่น!
ภาพที่ปรากฎเป็นการแสดงให้เห็นถึง "การทำ" และ "การแก้" อันเป็นเพียง "แม่บท" ที่แสดงไว้เป็นตัวอย่าง
หากใครจะเอาไปประยุกต์ใช้เป็นท่าใหม่
หรือใช้ประกอบในวิชา "กระบี่กระบอง"
หรือประยุกต์ใช้ในการประลองยุทธในสนามรบ
ก็จะปรากฎเป็นกลวิธี ตามที่ประสบการณ์ของนักรบแต่ละท่านจะนำไปคิดสร้างสรรค์ต่อไป
และหากใครที่ได้ติดตามงานของผู้เขียนมาตั้งแต่
"ศึกวันแรกพบ...ทหารเสือกรมหลวงชุมพร"
โพสต์เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2562
จะพบว่า "พ่อเสือไท" ได้ใช้ทางมวยสายโคราช
ปา "หมัดเหวี่ยงควาย" ผสมกับการปาดมีดเข้าที่ซอกคอเพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร่าย
ตำรามวยไทย : ชุบ นิวาสะวัต
ซึ่งหากว่าได้ทำการ "ถอดแบบ" ออกมาใน "รูปมวย"
ก็จะเป็นดังเช่นที่เห็นในภาพ
จะเห็นว่าในการปิดป้องการโจมตีในแทบทุกลักษณะของมวยโคราชนั้น
จะเน้นการใช้ท่อนแขนกันอันน่ามีมีความละม้าย
คล้ายรูปแบบการชกมวยเวทีสมัยนี้มากที่สุด
แต่ก็ยังมีข้อที่แตกต่างอย่างมากที่สุดในความคล้าย
ที่สุดแอบแฝงอยู่
นั่นก็คือในการ "เตะ" ของมวยไทยสายโคราชที่แทบไม่มีความคล้ายกับมวยไทยปัจจุบันเลย
ซึ่งจะเสยขึ้นตรงๆ คล้ายกับลีลาการเตะของนักตะกร้อดังที่ปรากฏในภาพด้านบน
หนทางในการปะทะเพื่อสร้างความเจ็บปวดจะมี
2 รูปแบบ
หากเป็นการเตะเสยคางหรือเครื่องเพศ
(สมัยก่อนสามารถทำได้เพราะเป็นการฝึก
ไว้ใช้งานจริงในสนามรบ)
ก็จะใช้หลังเท้าเป็นจุดเข้าปะทะ
คาราเต้ : มาซูทัทสุ โอยาม่า
อาศัยแรงดีดของหัวเข่า แรงสะบัดจากแข้ง และการ
"พลิกเหลี่ยม" เพื่อใส่น้ำหนักของทั้งตัวเข้าไปในลูกเตะ
แต่หากว่าเป็นการเตะเพื่อสร้างความเจ็บปวดให้กับอวัยวะส่วนอื่นๆ
ก็ยังคงการเคลื่อนไหวในลักษณะเดิมทุกประการ
จะแตกต่างก็แต่เพียงจุดที่ใช้ปะทะนั้นเป็นจุดเฉพาะที่เรียกว่า"จมูกเท้า" ในการ "เจาะ"
หรือที่เรียกว่า "Ball of the foot"
อันเป็นจุดถัดลงมาจากฐานนิ้วเท้าทั้งห้า
ที่มีความแข็งแรงกว่าฝ่าเท้า เพราะต้องรองรับน้ำหนักของร่างกายและสัมผัสพื้นเมื่อยืนอยู่ตลอดเวลา
อันเป็นตำราที่คล้ายคลึงกับของท่าน
ศาสตราจารย์มาซูทัทสุ โอยาม่า
ปรมาจารย์สายมวยคาราเต้ผู้โด่งดัง
คาราเต้ : มาซูทัทสุ โอยาม่า
แตกต่างกันเพียงแต่ว่า
มวยของชาวเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่นั้น
เน้นในเรื่องของความคล่องแคล่วว่องไว
จึงอาศัยแต่เพียง "แรงสะบัดของแข้ง /
แรงดีดของเข่า"
แต่มิได้มีการนำเอาองค์ความรู้อันเกี่ยวกับองคาพยพ
ในเรื่องของ "เหลี่ยม" เข้าช่วย
ส่วนมวยไทยไม่ว่าจะเป็นสายใด
จะต้องอาศัยการ "พลิกเหลี่ยม" ที่ว่านี้อยู่ตลอดเวลา
ถึงขนาดที่ว่าท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย
บรมครูมวยไทยสายไชยา
ท่านจะเริ่มหลักสูตรการศึกษา
ด้วยการสอนศิษย์ "พลิกเหลี่ยม / สองเส้น"
samkhum.com
ทำนองเดียวกับการ "เต้นโขน" เป็นพื้นฐานทุกคนไป
หากใครทนไม่ไหว ก็เป็นต้องร้างราสำนักไปทุกตัวคน
แต่ผู้ที่มีความอดทนหมั่นฝึกฝนตามที่ครูสอน
ก็จะได้รู้ในตอนท้ายว่าหัวใจของการฝึกฝนเช่นนั้น
เป็นอุบายในการฝึกผลักดันให้อวัยวะทุกส่วน
ทำงานอย่างมีความสัมพันธ์กันไป
หาไม่แล้วหมัดเท่าเข่าศอกที่ออก
ก็จะหาน้ำหนักไม่ได้เลย!
ในความเหมือนมีความต่าง...ในความต่างมีความคล้าย
แม้ว่า "หัวใจ" ของมวยไทยแต่ละสายจะเหมือนกัน
แต่เมื่อแตกแยกสาขาออกไปนั้นก็อาจจะดู
แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง!
เช่นว่าการเตะแบบโคราชกับไชยานั้น
ผิดแผกแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว!
มวยหนึ่งศีรษะตั้งตรงตามองตรงหน้า (โคราช)
อีกมวยม้วยมุดพื้นพสุธาพลิกหลบหน้า
กระดกแต่ขาฟาดมาเหมือนลม (ไชยา)
การเตะแบบมวยโคราช samkhum.com
ถ้าจะกล่าวถึงการฝึกมวยโคราชในปัจจุบัน
ที่นิยมกันก็จะเป็นในบรรดา "เหล่าทหารราบ"
เสียเป็นส่วนใหญ่
เพราะการเตะแบบมวยไทยทั่วๆไป
หรือแม้กระทั่งการเตะสะบัดแบบมวยท่าเสา
และการเตะเหวี่ยงแบบมวยไชยา
ก็มิได้นำพากับรูปแบบการรบของเหล่าทหารราบ
ด้วยว่าหากต้องเผชิญกับศัตรูในระยะประชิด!
การเอียงตัวตามแรงเตะอาจทำให้
ล้มคว่ำคะมำหน้าเอาได้ง่ายๆ
ที่เป็นดังนี้เพราะสัมภาระติดตัวเหล่าทหารราบนั้น
มีให้ต้องแบกมากกว่าทหารเหล่าอื่น!
ไหนจะปืนกลหนัก (ที่กระสุนชอบขัดอยู่บ่อยๆ!)
ไหนจะเป้สนาม หมวกสนาม วิทยุติดตาม
ปลาเค็มตากแห้ง มีดพก แม็กกาซีน และที่น่ากลัวคือระเบิดน้อยหน่าที่สะเอว!
ขืนล้มระหว่างสู้ขึ้นมาคงน่ากลัวใช่เล่น!!!
การเตะขึ้นเป็นเส้นตรงดังในภาพ!
จึงเป็นการรักษาการทรงตัวที่มั่นคงกว่า!!
ข้อได้เปรียบอีกประการคือโดยปกติของทหารราบนั้น
คือต้องสวมรองเท้า "คอมแบท"
ที่ออกจะ "หัวแข็ง" กว่าชาวบ้านธรรมดา!
การดีดแข้งปะทะด้วยหลังเท้าและจมูกเท้าก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าการเตะด้วยเท้าเปล่า
หรือการสวมรองเท้าแบบทั่วไป!
https://www.xn--12clj3dd0dc3c1a6ccc.com
ในวันนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึง "เกร็ด" ของมวยไทย
สายโคราชมาก็มากพอสมควรแล้ว
จะขอแจวกลับมาเล่าสู่กันฟังใหม่ในคราวหน้า
ทั้งมวยไชยา มวยโคราช มวยท่าเสา ฯลฯ
ยังมีให้บอกเล่าอีกยาวไกล!
ไหนจะตำรามวยลพบุรี ที่เป็นที่มาของชั้นเชิง
อันเป็นความ "ฉลาด" ของสมเด็จพระเจ้าเสือ
และ "ตำรามวย...กรมหลวงชุมพร" ที่ซ่อนคม
สมเชิงปัญญามหาแพทย์แห่งยุค!
นี่ยังไม่รวมถึง "ตำรามวย...ยามาดะ!"
ซามูไรแห่งอโยธยาที่นำเอาวิชาทุ่มทับจับหัก
แดนอาทิตย์อุทัยมาประสานกับวิชามวยไทย
ก่อเกิดเป็น "ศาสตร์ลับ" ตำรับไทย-ญี่ปุ่น
ที่กลายมาเป็นต้นตำรับของวิชาต่อสู้ป้องกันตัว
รร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในปัจจุบัน
ซึ่งผู้เขียนจะได้ทยอยเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่าน
ได้ทราบถึง "ศิลปมวยไทย"
อันเป็น "มรดก" ที่น่าภาคภูมิใจของชาติต่อไป!
ขอให้ท่านผู้สนใจได้โปรดติดตามตอนต่อไปด้วยกัน!!
https://news.gimyong.com/article/479
แหล่งข้อมูล
คาราเต้ : มาซูทัทสุ โอยาม่า
ตำรามวยไทย : ชุบ นิวาสะวัต
ปริทรรศน์มวยไทย : เขตร ศรียาภัย
คู่มือการสอนมวยไทยเบื้องต้น : ชาญณรงค์ สุหงษา
ขอบพระคุณภาพดีๆจาก :
www.samkhum.com
เรียงเรียงใหม่โดย
//The Chariot
6 บันทึก
61
8
10
6
61
8
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย