6 มี.ค. 2019 เวลา 09:11 • ไลฟ์สไตล์
Spotlight :: 5 กูรูแฟชั่นแบรนด์ไทยเผยกลยุทธ์สร้างแบรนด์ฮิตติดลมบน
ท่ามกลางความมาไวไปไวของวงการแฟชั่นไทย ที่เจอทั้งพายุเศรษฐกิจถาโถมอย่างหนัก ประกอบกับมีความผันผวนตลอดเวลา ทำให้หลายแบรนด์ไทยสู้ไม่ไหวต้องปิดตัวไป แต่ก็ยังมีแฟชั่นแบรนด์ไทยอีกหลายแบรนด์ที่ยืนหยัดต่อสู้มาอย่างสง่างาม และแต่ละแบรนด์นั้นก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ทศวรรษ แต่จะมีแบรนด์ไหนบ้าง และใช้กลยุทธ์ใดยืนหยัดอยู่บนรันเวย์อย่างสวยงาม รีบตามมาเลยค่ะ
วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
วินาทีนี้ในวงการแฟชั่นเมืองไทยไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์ไทย อย่าง Vatanika ซึ่งฮอตฮิตเป็นขวัญใจเซเลบเมืองไทย และซุป'ตาร์ดังระดับโลก ภายใต้การบริหารและออกแบบเองทุกชุด โดยแฟชั่นดีไซเนอร์ตัวแม่สุดเปรี้ยวจี๊ด “แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา” ความปังเริ่มมาจาก ญาญ่า ญิ๋ง-รฐา หยิบชุดเกาะอกแบบโอริกามิสีขาว ออกมาเฉิดฉายบนพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อปี 2013 แบรนด์ Vatanika ก็เริ่มมีกระแสให้ชวนจับตามอง ถึงฝีมือการออกแบบที่โดดเด่นทันสมัย เรียบหรู ดูแพง และเน้นสัดส่วนของผู้หญิงให้สวยเฉียบ โดนใจเหล่าซุป'ตาร์เมืองไทยหลายคนต่างเลือกใส่ชุดของ Vatanika ออกโชว์ตัวตามงานต่างๆ อย่างคึกคัก
ล่าสุดสาวแพรยังลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการแฟชั่นเมืองไทย ด้วยการทำรายการ This is me Vatanika ผ่านช่องยูทูปที่เผยถึงเบื้องลึกและเบื้องหลังของการทำแฟชั่น และการใช้ชีวิตสไตล์ วทานิกา จนมียอดวิวเป็นล้านๆ วิว เพียงแค่ออกอากาศไม่กี่ตอน
ส่วนที่มาของความสำเร็จ แพรบอกว่ามาจากการใส่ใจกับรายละเอียด และให้ความสำคัญต่อการแต่งกายที่ติดตัวเธอมา และนำมาออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
“แพรไม่ได้คิดแค่ว่าจะทำเสื้อผ้าให้แขวนอยู่บนราวแล้วดูสวย แต่อยากทำเสื้อผ้าที่คนใส่รู้สึกดีค่ะ พอเสื้อผ้าขายหมดเราก็คิดสร้างงานใหม่ๆ โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ไม่ใช่เราคิดว่าสวยอย่างเดียว”
สำหรับความภูมิใจสูงสุดในการเป็นดีไซเนอร์ แพรบอกว่า “การที่เราดูแลทีมที่เป็นผู้หญิงให้มีอาชีพ ทีมช่างครึ่งหนึ่งของเราเป็นซิงเกิลมัมที่ต้องดูแลตัวเอง และต้องดูแลลูก หลายคนส่งลูกเรียนหนังสือได้เพราะทำงานกับเรา เวลาเขามานั่งคุยกับแพรแล้วเล่าว่าลูกเรียนจบแล้วนะ นี่คือความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ แพรเลยคิดเรื่องความเป็นอยู่ของทีมมากกว่า มันทำให้เราต้องตั้งเป้าหมายว่าต้องขายเสื้อผ้าให้ได้ ต้องขยายธุรกิจให้โต เพราะเราต้องดูแลพวกเขา แพรไม่ได้คิดถึงคำว่ายั่งยืน คิดถึงแต่คำว่าพัฒนา ตราบใดที่เราพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา มันจะยั่งยืนได้เอง ซึ่งเกิดจากแพสชันที่เราใส่ใจในสิ่งที่ทำ”
พลพัฒน์ อัศวะประภา
ตลอดกว่า 1 ทศวรรษในวงการแฟชั่น คงไม่มีใครไม่รู้จัก “หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา” ผู้ที่นำพา Asava แฟชั่นแบรนด์ไทยโด่งดังไกลข้ามทวีป แถมความปังของแบรนด์นี้ยังทำให้ทุกคนรู้จักแฟชั่นดีไซเนอร์ในนาม “หมู อาซาว่า” อีกด้วย ที่ผ่านมาหมูเคยผ่านการออกแบบชุดราตรีให้กับตัวแทนสาวไทยไปประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์สมาแล้ว รวมถึงสไตล์การออกแบบชุดอันมีเอกลักษณ์จึงทำให้แบรนด์นี้เข้ามานั่งในหัวใจของคนไทย สมดังปณิธานที่เขาเคยตั้งไว้ตั้งแต่แรกก่อตั้ง
หมูเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จว่า “วงการแฟชั่นเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง กดดันสูง มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง แต่เราทำงานกับมนุษย์ ซึ่งอยู่กับความไม่แน่นอน และเราดันบังเอิญอยู่กับความไม่แน่นอนที่มีสปอตไลต์ส่องมา เราถูกกล้องจุลทรรศน์ส่องเราทุกๆ อณูของสิ่งที่เราทำ ฉะนั้น ทุกอย่างมันก็จะถูกตีแผ่หมด เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะทำเสื้อสวยทุกตัว มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับพี่อาจโชคดีที่เริ่มทำแบรนด์ตอนอายุค่อนข้างเยอะแล้ว กลับมาอยู่เมืองไทยตอนอายุค่อนข้างเยอะ จึงทำให้เรานิ่งขึ้น อยู่เป็นมากขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น ก็อาจจะทำให้ความโหดร้ายต่างๆ ที่เข้ามาไม่ทำให้เราเจ็บมากนัก หรือเราอาจจะรู้จักวิธีดีลกับความเจ็บปวด แล้วก็สมานแผลเร็ว ก็อาจทำให้ชีวิตมันไม่ได้โหดร้ายมาก”
“การที่แบรนด์ ASAVA เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะเราทำการตลาดหลายช่องทางขึ้น ASAVA ถูกเปลี่ยนเป็น ASAVA Group มีสินค้ามากมาย แต่ละตัวมีทาร์เกต และช่องทางการตลาดที่ไม่เหมือนกัน และเรายังทำ CSR เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับสังคม ดังนั้น แบรนด์เราอาจจะไม่ได้รู้จักในฐานะ ASAVA อีกต่อไป แต่รู้จักเราในฐานะนักออกแบบ ทำให้กลุ่มอื่นรู้จักเราเพิ่มขึ้น เขาอาจซื้อ ASAVA ผ่านร้านภูฟ้า มูลนิธิรามาฯ และยูนิโคล่ ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวแบรนด์ที่จะแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจอื่น”
หมูเล่าต่อว่า ทุกวันนี้เราทำธุรกิจต้องดูกำไรขาดทุนอยู่แล้ว แต่อันนั้นไม่ได้เป็นแฟกเตอร์เดียวในการตัดสินใจบริหารงาน “ผมไม่ได้วัดความสำเร็จของตัวเองด้วยชื่อเสียงเงินทองอีกต่อไปแล้ว เพราะรู้แล้วว่าพวกนี้ไม่ได้แปรผันโดยตรงกับความสุขของเรา ดังนั้น พยายามโฟกัสว่าตัวเราทำอะไรอยู่ คุณภาพของงานที่เราทำคือคุณค่า สนใจเนื้องานมากกว่าผลที่จะตามมา โดยไม่รู้ว่ามันจะเกิดหรือไม่เกิด ความสำเร็จพวกนี้มันเป็นสีสัน มันมาแล้วมันก็ไป”
ชวนล ไคสิริ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้ “โพเอม” (POEM) แบรนด์ไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถันในการตัดเย็บ คือแบรนด์เสื้อผ้าที่เหล่าเซเลบรวมทั้งผู้หญิงยุคใหม่ที่มองหาเสื้อผ้าที่จะมาช่วยเสริมทัพความสวยสง่างาม นึกถึงและเทใจให้เป็นอันดับต้นๆ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ต้องยกให้ “ฌอน-ชวนล ไคสิริ” ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ฝีมือเฉียบ อดีตสถาปนิกหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์โพเอมตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
ฌอนเผยถึงเคล็ดลับที่ทำให้แบรนด์นี้ยืนหยัดอย่างสง่างามในวงการแฟชั่นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นสถาปนิกหรือดีไซเนอร์ เราคือคนที่มีความเชื่อ หน้าที่ของเราคือพยายามทำความเชื่อนั้นออกมาเพื่อให้คนอื่นเห็น และเชื่อในสิ่งที่เราทำ นั่นแหละคือหัวใจของการสร้างแบรนด์ของเรา
“ทุกวันนี้โพเอมตอบโจทย์ลูกค้าด้วยสินค้าในกลุ่มเรดดีทูแวร์ที่มีการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ควบคู่กับบริการ Private Poem Couture ทำหน้าที่เสมือนเป็นช่างเสื้อส่วนตัวของสาวๆ ที่มองหาเสื้อผ้าที่เข้ากับสรีระของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชุดออกงานหรือชุดเจ้าสาว การผสมผสานทั้งการเป็นดีไซเนอร์ยุคใหม่เข้ากับเสน่ห์ของเดรสเมกเกอร์ยุคก่อนที่เหลือน้อยลงทุกทีนี้เอง คือส่วนผสมที่ลงตัวของแบรนด์โพเอมที่หาไม่ได้จากแบรนด์อื่น” ฌอนทิ้งท้าย
พิมพ์ดาว สุขุหุต
เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการพลิกโฉมหน้าแฟชั่นเมืองไทยให้ก้าวสู่ยุคการสร้างสรรค์กรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแฟชั่นตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับสามพี่น้องตระกูลสุขะหุต ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Sretsis “อิ๊บ-คล้ายเดือน, เอ๋ย-พิมพ์ดาว และ แอ้-มทินา” พวกเธอไม่เพียงจะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้มาเล่นๆ เพราะเอาจริงเอาจังกับการทำธุรกิจแฟชั่นจนประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้าง แต่ทั้ง 3 สาวยังลบล้างทฤษฎีเพื่อนพี่น้องทำธุรกิจร่วมกันมีแต่พังกับพัง แถมทั้ง 3 สาวยังทำให้แบรนด์นี้เข้าไปนั่งอยู่ในใจคนไทยอย่างสง่างามอีกด้วย
เอ๋ยเล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้แบรนด์ไม่ตกยุคว่า เราอยากมองว่าผู้หญิงของ Sretsis คือผู้หญิงที่ไร้กาลเวลา เพราะคุณยังสามารถใส่เสื้อผ้าของเราที่ทำเมื่อสิบปีก่อนได้ เสื้อผ้าแต่ละชิ้นมันมีความพิเศษในตัวมันเอง
“เราได้สร้างมุมมองในการแต่งตัวของผู้หญิงขึ้นใหม่ เสื้อผ้าที่ดูสนุกสนานและมีความเป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นเสื้อผ้าสำหรับเด็กเท่านั้น เราสามารถแต่งตัวหวานแต่ดูดีไปพร้อมๆ กัน ผู้หญิงเป็นเพศที่เก่ง มีความหรูหรา พวกเรามีหลายมิติ และไม่จำเป็นต้องแต่งตัวเฉพาะเวลามีงาน หรือโอกาสสำคัญเท่านั้น SRETSIS เป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ไม่ได้วิ่งตามเทรนด์ ความท้าทายของเราคือ ทำอย่างไรที่จะรักษากลุ่มลูกค้าเหล่านี้ไว้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ๆ ได้ พร้อมกับรักษาตัวตนของแบรนด์ คนสมัยนี้มีพฤติกรรมการบริโภคไม่เหมือนเดิม ทุกอย่างเร็วมาก ทำอย่างไรที่จะปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปโดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเรา รูปแบบการทำการตลาดก็เปลี่ยนไปจากเดิม ที่โปรโมตทางหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ลูกค้ายุคนี้บริโภคแต่โซเชียลมีเดีย ก็ต้องบุกตลาดด้านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก” เอ๋ยแจกแจง
ศิริชัย ทหรานนท์
ปิดท้ายที่ห้องเสื้อ เธียเตอร์ (Theatre) ที่ยืนหยัดมากว่า 3 ทศวรรษ ภายใต้การสยายปีกของ “จ๋อม-ศิริชัย ทหรานนท์” ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ ที่เน้นการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าอันมีเอกลักษณ์ จะมีความเป็นยูนีค ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนคือ ความเป็น Feminine Masculine หรือเสื้อผ้าที่ไม่มีเพศ ผู้หญิงอาจจะชอบใส่เสื้อในสไตล์ของผู้ชาย ผู้ชายก็อาจจะใส่เสื้อที่เป็นลูกไม้หรือเสื้อชีฟองบ้าง โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้สวมใส่
จ๋อมเผยถึงเทคนิคที่จะทำให้แบรนด์ที่ตัวเองรักไปนั่งอยู่ในใจของคนค่อนประเทศว่า “จริงอยู่ที่แฟชั่นเป็นการสร้างงานศิลปะอย่างหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งมันเป็นการสร้างผลงานสู่ตลาด เป็นการทำธุรกิจสู่ลูกค้าที่เดินเข้ามาซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เธียเตอร์ มีทั้งสองอย่างควบคู่กันมาเสมอ ทั้งการออกแบบที่มีจิตวิญญาณและธุรกิจการค้า แต่สำหรับแบรนด์เธียเตอร์ไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อขาย โดยไม่มีจิตวิญญาณของตัวดีไซเนอร์ เพราะแบบนั้นแฟชั่นของเราก็คงไม่มีค่าอะไร”
ติดตาม Celeb Online ได้เพิ่มเติมจากช่องทางต่อไปนี้
- นิตยสาร Celeb Online ฉบับ Free Copy
- และคอลัมน์ Celeb Online Journal ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา