18 มี.ค. 2019 เวลา 02:45 • ประวัติศาสตร์
"รวันดา"
***
"เวลานี้ไม่มีปีศาจเหลืออยู่ในนรกแล้ว พวกมันทั้งหมดมาอยู่ที่รวันดา"
นั่นคือคำกล่าวของมิชชันนารีผู้หนึ่งที่นิตยสารไทม์นำมาลงเป็นปกหน้าฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 1994 แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายน่ากลัวของเหตุการณ์ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก
มันเกิดอะไรขึ้นที่นั่นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน...?
รวันดา เป็นประเทศเล็ก ๆ ในทวีปแอฟริกา มีประชากรประมาณ 8 ล้านคนเศษ เคยเป็นอาณานิคมของ เบลเยียมมาก่อน ภาษาที่ใช้คือ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ และภาษากินยาร์วันดา
ประชาชนของรวันดา ประกอบด้วยคนสองเผ่าคือ เผ่าทุตซี่ (Tutsi) ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ คือมีประมาณร้อยละ 15 เผ่านี้เป็นผู้อพยพถิ่นฐานมาจากเอธิโอเปีย กับ อีกเผ่าหนึ่งซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี มีการศึกษาดีและส่วนใหญ่เป็นพวกนักรบ
4
อีกเผ่าหนึ่งคือ เผ่าฮูตู (Hutu) ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีอาชีพทางด้านกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ ชนทั้งสองเผ่าจะมีรูปร่างลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก โดยทั่วไปชาวทุตซีจะผอมกว่าและสูงกว่าเล็กน้อย
.
.
.
ระหว่างที่เบลเยี่ยม มีอิทธิพลเหนือการปกครองที่รวันดาทหารเบลเยียมได้แบ่งแยกชาวเผ่าทั้งสองเป็นลายลักษณ์อักษรในบัตรประชาชน และสนับสนุนให้เผ่าทุตซีขึ้นเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ ซึ่งรัฐบาลทุตซีสมัยนั้นก็กดขี่ข่มเหงชาวฮูตูอยู่ไม่น้อย ทำให้ชาวฮูตูต้องทนลำบากยากแค้น
จนในที่สุดได้ก่อการปฏิวัติขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของเบลเยียมและชนเผ่าทุตซี และจบลงด้วยชัยชนะของชนเผ่าฮูตู ชาวทุตซีจำนวนมากได้หนีไปประเทศอูกันดา และตั้งกลุ่มกองกำลังแนวหน้ารักชาติรวันดา (RPF) ขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจชาวเผ่าฮูตู
จากนั้นประธานาธิบดี "จูเวนัล ฮับยาริมานา" ของรัฐบาลฮูตู ได้เลือกการเจรจาสันติภาพกับชาวเผ่ารวันดาเพื่อยุติความรุนแรงระหว่างเผ่า แต่ทางเลือกของประธานาธิบดีดูจะไม่เป็นที่พอใจของคนใหญ่คนโตในรัฐบาลหลายคน และหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกนั่นเอง ก็มีจรวดมิซไซล์ลึกลับพุ่งตรงไปยังเครื่องบินของท่านประธานาธิบดีที่กำลังร่อนลงจอดที่สนามบินคิกาลิ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1994 แรงระเบิดปลิดชีวิตของท่านผู้นำทันที
พวกฮูตูพุ่งเป้าไปที่หัวหน้ากบฎชาวทุตซี "พอล คากาเม" ว่าเป็นผู้สั่งให้ยิงจรวดลูกนั้น แต่คากาเม ปฏิเสธ และบอกว่าน่าจะเป็นฝีมือลูกน้องของท่านเอง ผู้ซึ่งไม่พอใจกับการเซ็นสัญญาสันติภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากชาวฮูตูที่โกรธแค้น จากนั้นไม่กี่ชั่วโมง การปลุกระดมชาวฮูตูก็เกิดขึ้นทั่วประเทศและต่อเนื่องไปนานถึงสามเดือน
ทันทีที่ประธานาธิบดีเสียชีวิต บรรดาทหารองครักษ์ก็ใช้สื่อป่าวประกาศไปทั่วประเทศให้ชาวฮูตูรวมตัวกันจัดการกับชาวทุตซี นอกจากนั้นพวกทหารยังจัดตั้งกองกำลังพิเศษขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เรียกว่า "อินเทราฮัมวี" กองทหารนี้จะเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งในช่วงที่ระดมพลได้เต็มที่ เทราฮัมวี มีกำลังพลสูงถึง 30,000 นาย
.
.
.
ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ของมนุษย์ชาติก็เกิดขึ้น ทหารฮูตูรวมถึงประชาชนบางส่วนออกมาไล่ฆ่าชนเผ่าทุตซี ซึ่งการฆ่านั้นมุ่งเน้นไปที่ชายชาวทุตซีทุกคนตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆถึงชายชรา ด้วยเหตุผลว่าคนพวกนี้อาจกลายไปเป็นกลุ่มกบฏ RPF
การฆ่ากันตายของคนทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นทุกหนแห่งทั่วรวันดา จากคนที่เคยรักใคร่เป็นเจ้านายลูกน้องกัน เป็นเพื่อนรักกัน จากที่เป็นเพื่อนบ้านกัน ที่เป็นญาติพี่น้องกันก็จับอาวุธขึ้นมาเข่นฆ่ากันตาย ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดเหตุจลาจล ปล้นสดมภ์
1
ส่วนผู้หญิงถูกนำมาข่มขืนจำนวนนับไม่ถ้วน บางครั้งแม้ว่าชาวฮูตูจะไม่อยากฆ่าเพื่อนบ้านที่เป็นชาวทุตซีก็ตาม แต่ก็ถูกทหารตำรวจบังคับให้ลงมือ หรือไม่ก็ได้รับรางวัลจากการฆ่า เช่น เงิน หรือ อาหาร บางคนก็ได้รับคำสัญญาว่าถ้าฆ่าชาวทุตซีแล้วก็จะได้ครอบครองที่ดินของคนที่เขาฆ่าด้วย
หลังจากการเข่นฆ่าเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่วัน ทหารเบลเยี่ยมที่รักษาเหตุการณ์ในนามของUN ก็ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังพลออกไป นายทหารคนหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านที่เป็นทุตซีเข้าไปถามเขาว่า พวกทหารจะถอนกำลังออกไปจริงหรือ เขาตอบว่าใช่ ชาวบ้านคนนั้นบอกว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้ใช้ปืนกลยิงพวกเขาให้ตายดีกว่า เขาไม่อยากถูกฆ่าตายด้วยมีด
และเมื่อขบวนรถเคลื่อนที่ออกจากค่าย ชาวบ้านก็พากันวิ่งไปดักที่หน้ารถกันเต็มไปหมด เพื่อไม่ให้ขบวนรถแล่นไปได้ จนทหารต้องยิงปืนขึ้นฟ้าไล่ให้เปิดทาง ที่น่าเศร้ายิ่งนักคือ พอทหารถอนกำลังออกไปไม่นาน ปีศาจกระหายเลือดชาวฮูตูก็บุกเข้าไปจัดการทันที
มีเรื่องเล่าที่เป็นโศกนาฎกรรมคือ บางครอบครัวหัวหน้าครอบครัวต้องลงมือสังหารบุตร และภรรยาของตนเอง เพียงเพื่อให้ลูกๆ และภรรยาไม่ต้องตายอย่างทรมาณ เพราะหากปล่อยให้พวก ทหารบ้าน (อาสาสมัคร) ฮูตูฆ่าเอง พวกนั้นจะตัดมือตัดแขน และปล่อยให้ตายเองอย่างทรมาน หลายครอบครัวจึงขอลงมือสังหารเอง เนื่องจากไม่มีทางรอดแล้ว
ศพชาวทุตซีจำนวนมากถูกทิ้งลงแม่น้ำคาเกราและไหลไปรวมกันอยู่ในทะเลสาปวิคตอเรีย ทำให้น้ำในทะเลสาปเน่าเสียและเกิดโรคระบาดต่อมาในประเทศอูกานดา เฉพาะศพที่ลอยตามแม่น้ำไปไกลกว่า 100 ไมล์มีมากกว่า 11,000 ศพ
เด็กนักเรียนชาวทุตซีถูกฆ่าตายเกลื่อนกลาดในโรงเรียนต่างๆ ส่วนมากถูกฟันด้วยมีดขนาดใหญ่หรือท่อนไม้ตีจนตาย นอกจากนั้นฆาตกรชาวฮูตูยังตามฆ่าไม่เว้นแม้แต่ในโบสถ์คริสต์ต่างๆ
.
.
.
"พอล รูสซาบาจิน่า" ทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรมในเมืองคิกาลี ตัวเขาเองเป็นชาวฮูตู แต่มีภรรยาชาวทุตซี่ชื่อ "ทาเทียน่า" กับลูก 4 คน ชีวิตของเขาจึงเป็นเหมือนการเชื่อมโยงของสองชนเผ่า
ในช่วงก่อนที่เกิดการสังหารหมู่ รูสซาบาจิน่า ได้เปลี่ยนโรงแรมสี่ดาวที่เขาทำงานอยู่ชื่อ "มิลล์คอลลินส์" ให้กลายเป็นที่หลบภัยสำหรับชาวทุตซี่ และผู้อพยพชาวฮูตูกว่า 1,200 คน ตลอดระยะเวลาสามเดือน เขานำเบียร์ ไวน์ และเงินไปเป็นสินบนมอบให้กับมือสังหารชาวฮูตู เพื่อต่อรองไม่ให้บุกเข้ามาที่โรงแรม และนั่นทำให้ไม่มีใครในโรงแรมสักคนถูกฆ่าตาย ทั้งๆ ที่บนถนนด้านนอกโรงแรมนั้นกลาดเกลื่อนไปด้วยซากศพ
พอลพยายามขอความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ตั้งแต่ชาวตะวันตกที่มีฐานะ ทหารท้องถิ่น ไปจนถึงกลุ่มกบฏ แต่ก็ไร้ผล เพราะสหประชาชาติไม่อนุญาตให้จัดการกับเรื่องนี้ พอลจึงกลายเป็นวีรบุรุษจำเป็น
1
ในที่สุดวีระกรรมของเขาถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาและนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Hotel Rwanda
.
.
.
ในเดือนกรกฎาคม กองกำลังกบฎทุตซี (RPF) เข้ายึดเมืองคิกาลิได้ ทำให้รัฐบาลฮูตูต้องสลายตัวไป และประชากรชาวฮูตูก็รีบอพยพหนีไปที่ประเทศซาอีร์ หรือ คองโกในปัจจุบัน เพราะกลัวการฆ่าล้างแค้นจากชาวทุตซีที่ยึดอำนาจสำเร็จ
พอล คากามิ หัวหน้ากบฎทุตซีได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นโดยให้คนฮูตูชื่อ "บิซิมูอุนกู" เป็นประธานาธิบดี และตัวเขาเป็นรองประธานาธิบดี
แต่ภายหลัง บิซิมูอุนกู ถูกตัดสินว่ามีส่วนร่วมในการสังหารล้างเผ่าพันุ์ชาวทุตซี และถูกจับขังคุก คากามิจึงขึ้นเป็นประธาธิบดีแทน
ในช่วงเวลา 100 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมในปี ค.ศ.1994 ชาวรวันดาต่างเผ่าฆ่ากันเองไปเป็นจำนวนมากถึง 800,000 คน (บางข้อมูลว่ามากกว่าหนึ่งล้านคน) โดยเป็นชาวทุตซีประมาณ 750,000 คน ซึ่งมากถึง 80 % ของประชากรทุตซีในรวันดาเวลานั้น และเป็นชาวฮูตูที่ถูกฆ่าตายประมาณ 50,000 คน เด็กประมาณ 500,000 คนกำพร้าพ่อแม่ และผู้หญิงที่ถูกข่มขืนก็ติดโรคเอดส์อีกจำนวนหลายหมื่นคน
1
สิ่งที่น่าตกใจยิ่ง คือในเวลานั้น องค์กรสันติภาพต่างๆได้รับการพัฒนาจนรุ่งเรืองแล้ว และน่าจะหยุดเหตุการณ์นี้ได้ แต่ก็ไม่มีองค์กรใดๆ หรือประเทศอะไรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการยุติเหตุการณ์ครั้งนั้นเลย
ในช่วงแรกๆประเทศมหาอำนาจอย่าง อเมริกา, ฝรั่งเศส, เบลเยียม และทางสหประชาชาติต่างหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ในการบรรยายสถานการณ์ แต่สิ่งที่พวกเขาทำในขณะที่สามารถยับยั้งเหตุการณ์นี้ได้ กลับเป็นการอพยพเฉพาะคนของตัวเองออกจากประเทศ และปฏิเสธการให้ความช่วยเหลืออื่นใด
ทหารของสหประชาชาติไม่สามารถยิงใครได้เพราะไม่ได้รับคำสั่ง และทำหน้าที่ได้แค่เพียงยิงสุนัขที่จะมากัดกินศพของชาวรวันดาเท่านั้น และถอนกำลังทหารออกไปหลังจากมีทหารถูกฆ่าตายไปสิบนาย
การฆ่าล้างเผาพันธุ์ในรวันดาสาเหตุหนึ่งเกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นคนต่างเผ่ากัน แต่ความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองที่ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องหลายปี
.
.
โฆษณา