Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Soccer life
•
ติดตาม
14 มี.ค. 2019 เวลา 03:58 • กีฬา
ประวัติ ความเป็นมาของกีฬาฟุตบอลในประเทศไทย (ตอนที่ 3)
นอกเหนือจากการแข่งขันฟุตบอลที่เริ่มต้นจัดการแข่งขันภายในโรงเรียนแล้ว ในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 6 ได้เริ่มมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลสำหรับประชาชนทั่วไป ระหว่างทหาร ตำรวจ และเสือป่าขึ้นในปี พ.ศ.2458 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า
เจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันดังกล่าวตลอดจนพระราชทานถ้วยทองเป็นรางวัล ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีชื่อว่า “การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง” และถือเป็นการจัดการแข่งขันฟุตบอลของประชาชนทั่วไป ที่พ้นจากการเป็นนักเรียนในโรงเรียน ในรูปแบบสโมสรขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย
ถ้วยทองของหลวง ถ้วยรางวัลพระราชทานสำหรับการแข่งขันฟุตบอลถ้วยรายการแรกของประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2458 Cr:http://www.vajiravudh.ac.th.
การแข่งขันนัดดังกล่าวนั้น มีการเก็บเงินค่าเข้าชมด้วย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บค่าเข้าชมกีฬาในสยาม โดยตั๋วเข้าชมจะแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ เก้าอี้ระหว่างกลางสนาม ราคา 1 บาท อัฒจันทร์ ระหว่างกลางสนาม ราคา 50 สตางค์ และ รอบเส้นข้างสนาม ราคา 10 สตางค์ ซึ่งสามารถเก็บค่าผ่านประตูได้ทั้งสิ้น 6,0499.95 บาท
โดยผู้ที่ชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนั้น ได้แก่ ทีมโรงเรียนนายเรือ และในเวลาต่อมาได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นอีกสามครั้ง คือ ปี พ.ศ.2459 พ.ศ.2460 และย้ายไปแข่งขัน ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ.2561
ในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยามขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2459 คือ “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์”ซึ่งถือเป็นสมาคมกีฬาแห่งแรกของประเทศไทยที่จดทะเบียนถูกต้องต่อกรมตำรวจนครบาล โดยได้มีการจดทะเบียน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2459 โดยมีพระองค์เป็นองค์อุปถัมภ์ และให้มีที่ตั้งสมาคม ณ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และทรงพระราชทานสภานายกคนแรกคือ พระยาประสิทธิ์ ศุภาการ (หม่อม หลวงเฟื่อ พุ่งบุญ ณ อยุธยา) และได้มีพระบรมราชโองการให้ตราข้อบังคับลักษณะปกครองคณะฟุตบอลสยามขึ้น โดยกำหนดให้มีการก่อตั้ง การดำเนินการจัดการแข่งขัน การกำหนดกฎกติกา และมีการเปิดโอกาสให้สโมสรฟุตบอลของกรมทหาร กรมในกระทรวงทบวงการ และบริษัทที่ทำการค้าขาย มีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกของคณะฟุตบอลสยามได้ แบบเดียวกันกับการบริหารจัดการของสมาคมฟุตบอลของประเทศอังกฤษ
โดยมีหน่วยงานต่างๆ จัดตั้งสโมสร และสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะฟุตบอลแห่งสยามเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น สโมสรฟุตบอลกรมวัง สโมสรกรมมหรสพ เป็นต้น และต่อมาคณะฟุตบอลฯ ก็ได้ดำเนินการจัดการแข่งขันชิงถ้วยระหว่างสมาชิกขึ้นในปี พ.ศ.2459 และจากการที่มีทีมสมาชิกเป็นจำนวนมากจึงได้ทำการแบ่งการแข่งขันออกเป็นสองถ้วย คือ การแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก.) สำหรับทีมที่มีความสามารถมาก และการแข่งขันฟุตบอลถ้วยน้อย (ถ้วย ข.) สำหรับทีมที่มีความสามารถน้อย และได้จัดการแข่งขันกันมาอย่างต่อเนื่อง (จะมีงดเว้นบ้างก็ในช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมือง และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2)
ถ้วยพระราชทานประเภท ก.Cr:https://th.m.wikipedia.org.
ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “คณะฟุตบอลสยาม” สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (The International Federation of Football Association หรือ F.I.F.A) ตามหนังสือเชิญของ จูล ริเมท์ ประธานฟีฟ่าชาวฝรั่งเศสในขณะนั้น ซึ่งนับเป็นชาติแรกของทวีปเอเชียที่เข้าร่วมองค์กรลูกหนังโลกและเป็นลำดับที่ 37 และต่อมาได้เข้าร่วมกับสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asian Football Confederation หรือ AFC) เมื่อปี พ.ศ. 2500
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2481 ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” จึงได้เปลี่ยนชื่อจากสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม เป็นสมาคม ฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์" พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อฟุตบอลทีมชาติสยามเป็นฟุตบอลทีมชาติไทย มาจนถึงปัจจุบัน
ในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 7 คณะราษฎร์ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงส่งผลต้องหยุดจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับฟุตบอลลงชั่วคราวในช่วงดังกล่าว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สมาคมฟุตบอลได้จัดการประชุมสภากรรมการฯ เพื่อแก้ไขข้อบังคับลักษณะปกครองฯ ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2499) ให้เหมาะสมกับสมัยนิยม และเปลี่ยนชื่อของสมาคมฯ เป็น “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ใน พระบรมราชูปถัมภ์” (THE FOOTBALL ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTIC THE KING) หรืออักษรย่อ F.A.T. โดยเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในช่วงนั้น คือ ทีมชาติไทยได้สิทธิ์ผ่านเข้าแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในการแข่งขันฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2499 และต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ ให้อดีตทีมชาติชุดเมลเบิร์น สำรวย ไชยยงค์ (พลตรีสำเริง ไชยยงค์) เดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมทีมและการเล่นฟุตบอล ณ เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2503 จนสำเร็จหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพชั้นสูง จนถือเป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอลที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย