14 มี.ค. 2019 เวลา 13:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ท้องไม่มีพ่อ? (Parthenogenesis)
จะเป็นอย่างไรถ้าคุณตื่นมาตอนเช้าแล้วพบว่าตัวเองท้อง โดยที่ก่อนหน้านี้คุณไม่เคยมีความสัมพันธ์กับผู้ชายคนไหนมาก่อนเลย?
คุณว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ลองมาอ่านเรื่องนี้ดูกัน
Parthenogenesis คือ การที่ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับสเปิร์ม แต่สามารถพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนและเจริญต่อไปเป็นสิ่งมีชีวิตได้ โดยลูกที่ออกมาจะได้รับสารพันธุกรรมจากแม่ 100% แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องออกมาเป็นตัวเมียเท่านั้น เช่น ในสัตว์บางกลุ่ม เช่น กลุ่มของมด ผึ้ง ต่อ แตน ที่ลูกที่ออกมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะออกมาเป็นตัวผู้ได้
ผึ้งหลวงก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างลูกแบบ Parthenogenesis ได้
ภาวะเช่นนี้สามารถพบได้ในสัตว์หลายประเภท เช่น ผึ้ง มด (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5c7d18e7b3ea8c63916d7ecf) เพลี้ยอ่อน ไส้เดือนฝอย ไรน้ำ ฯลฯ และทั้งในกลุ่มของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยพบมากในกลุ่มของกิ้งก่า จิ้งเหลน (Lizard) และงู ปลา และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบน้อยมากในนก และไม่มีรายงานว่าพบกระบวนการนี้ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในธรรมชาติ
แปลว่าไม่มีทางพบกระบวนการนี้ในคนได้?
น่าจะเป็นอย่างนั้น
แต่มีรายงานในยุค 1950 โดยหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขอให้ผู้หญิงที่เชื่อว่าตัวเองมีลูกโดยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายให้ออกมาแสดงตัวกับหนังสือพิมพ์ แล้วทางหนังสือพิมพ์จะพิสูจน์ให้ และมีผู้หญิง 19 คนที่มีความเชื่อเช่นนั้นได้ออกมาแสดงตัวว่า ตัวเองนั้นมีลูกสาวโดยไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายคนใดเลย
11 จาก 19 คนยอมรับว่าเข้าใจเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ผิด และไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ
8 คนที่เหลือยังมั่นใจในการอ้างถึงการท้องโดยบริสุทธิ์ของตัวเอง และดำเนินการตรวจทางวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยเริ่มต้นจากการตรวจหมู่เลือด โดยพบว่า 6 จาก 8 คู่แม่ลูกมีหมู่เลือดที่ไม่ตรงกัน และสรุปได้ว่าลูกไม่ได้เกิดจากการมีลูกโดยกระบวนการ Parthenogenesis
เหลือแม่ลูกอีก 2 คู่ที่ผ่านการทดสอบที่หนึ่ง แต่หนึ่งคู่มีสีตาที่แตกต่างกัน ทำให้เชื่อว่าลักษณะทางพันธุกรรมอื่นๆ ของแม่ลูกก็แตกต่างกันเช่นกัน
ดังนั้นจึงเหลือเพียงแม่ลูกคู่เดียวที่จะต้องได้รับการทดสอบต่อไป โดยการทดสอบพบว่าแม่ลูกคู่สุดท้ายนี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกันมาก จนลูกสาวไม่น่าจะเกิดจากการที่แม่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายคนไหน (โอกาสที่ลูกสาวไม่ได้เกิดจาก Parthenogenesis แต่เกิดจากการผสมพันธ์ุปกติน้อยกว่า 1%)
1
การทดสอบสุดท้ายคือ การปลูกถ่ายผิวหนังระหว่างแม่ลูก ผลปรากฏว่า ผิวหนังของแม่ที่ปลูกไปยังลูกถูกยอมรับโดยร่างกายของลูก แต่ผิวหนังของลูกที่ปลูกไปยังแม่ถูกปฏิเสธหลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า แม่ลูกอาจจะมีพันธุกรรมที่ต่างกัน
จริงๆ แล้วเทคนิคทางพันธุกรรมสมัยใหม่ เช่น การตรวจรอยพิมพ์ DNA (DNA fingerprinting) อาจจะให้คำตอบที่ชัดเจนกว่าได้ว่า แม่คนนี้มีลูกโดยกระบวนการ Parthenogenesis จริงหรือไม่ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดมากว่า 60 ปีแล้ว จึงยังไม่มีการติดตามไปตรวจและมีข้อสรุปแต่อย่างใด เรื่องนี้จึงยังเป็นหนึ่งในตำนานและเรื่องลึกลับทางวิทยาศาสตร์ต่อไปว่า มนุษย์เราสามารถมีลูกโดยกระบวนการ Parthenogenesis ได้หรือไม่
เอกสารอ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา