Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สาระหลากด้าน ✅
•
ติดตาม
14 มี.ค. 2019 เวลา 23:06 • ประวัติศาสตร์
ไขปริศนา วาระสุดท้าย ‘พระเจ้าตาก’ : ประหารจริง หรือจัดฉาก?
3
เมื่อพูดถึง ‘พระเจ้าตาก’ หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สิ่งที่คนรับรู้โดยทั่วไปคือภาพของวีรกษัตริย์ ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง
2
ครั้นเวลาล่วงมาหลายร้อยปี ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากบางแง่มุมที่คลุมเครือ โดยเฉพาะชุดเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันว่า พระเจ้าตากสติวิปลาสและถูกประหารชีวิตจริงหรือไม่?
1
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 เรื่อง “250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา – สถาปนากรุงธนบุรี” จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอีกครั้ง ในวงเสวนาย่อย หัวข้อ ‘อวสานพระเจ้าตาก : The End of King Taksin’ โดยผู้ร่วมเสวนา 4 ท่านคือ ปรามินทร์ เครือทอง, สุเจน กรรพฤทธิ์, ภิกษุณีธัมมนันทา และปฐมพงษ์ สุขเล็ก
1
ในรายงานชิ้นนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกเฉพาะประเด็นที่คิดว่าเป็นไฮไลต์ของวงนี้มาบอกเล่า คือการบรรยายของ ปฐมพงษ์ สุขเล็ก ผู้เขียนหนังสือ ‘การเมือง เรื่องเล่า พระเจ้าตาก หลัง 2475’ ในหัวข้อ ‘อวสานพระเจ้าตาก : จากพงศาวดารถึงวรรณกรรมปัจจุบัน’ นำเสนอที่มาที่ไปของ ‘เรื่องเล่าและการสร้างความหมาย’ เกี่ยวกับ ‘พระเจ้าตาก’ ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะฉากสำคัญในบั้นปลายชีวิต
บันทึกจากพงศาวดาร : พระเจ้าตากถูกประหาร
ทุกวันนี้ หากเราลองสุ่มถามผู้คนทั่วไป ให้เล่าเรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้ฟัง เชื่อว่าเนื้อหาที่แต่ละคนบอกเล่าก็คงแตกต่างกันออกไป และคงมีน้อยคนที่จะทราบถึงที่มาที่ไปของเรื่องเล่านั้นๆ อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ ปฐมพงษ์ จึงพยายามศึกษาที่มาที่ไปของเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าตากแต่ละชุด ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากไหน และถูกผลิตซ้ำอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา โดยเริ่มต้นจากคำถามสำคัญที่ว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงมีชุดความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินแบบนี้–แบบที่เชื่อว่าพระองค์ไม่ได้ถูกประหารชีวิต
จากการศึกษา ปฐมพงศ์พบว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระเจ้าตากนั้น ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ได้รับการชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะถูกคัดลอก ตัดทอน เพิ่มเติม และผลิตซ้ำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ปฐมพงศ์ได้แบ่งงานเขียนที่นำเสนอเรื่องราวของพระเจ้าตากออกเป็นสองช่วงเวลา คือก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างเรื่องเล่าทั้งสองชุด อย่างมีนัยยะสำคัญ
สำหรับหลักฐานที่ปรากฏในช่วงแรก คือช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารที่เขียนขึ้นช่วงต้นรัตนโกสินทร์ รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม, พระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
นอกจากนี้ยังมีเอกสารทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าตาก และถูกนำมาอ้างอิงในเวลาต่อมา เช่น หนังสือตำนานอภินิหารบรรพบุรุษ จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี และจดหมายเหตุชาวต่างชาติ
เอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ล้วนมีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน คือการบอกเล่าว่าพระเจ้าตากเป็นขุนนางสมัยกรุงศรีฯ ต่อมาเมื่อกรุงแตกจึงฝ่าทัพพม่าไปตั้งหลักที่เมืองจันท์ รวบรวมไพร่พลกลับเข้ากรุง ขับไล่พม่า ปราบก๊กเหล่าต่างๆ จนกระทั่งสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี และในเวลาต่อมาพระองค์เกิดสติวิปลาส จนกระทั่งถูกรัชกาลที่ 1 สั่งประหารชีวิตในที่สุด
เรียกได้ว่าเป็นชุดเรื่องเล่าที่หลายคนคุ้นเคย แต่หลายคนก็เลือกที่จะปฏิเสธ
จุดที่น่าสนใจก็คือ การนำเสนอวีรกรรมของพระเจ้าตากในการกู้ชาติที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ไม่ได้มีลักษณะของการยกย่องเชิดชูแบบ ‘วีรกษัตริย์’ อย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันแต่อย่างใด เป็นเพียงการจดบันทึกเหตุการณ์แบบทั่วๆ ไปเท่านั้น “ก่อนหน้านั้น พระเจ้าตากสินถูกมองในฐานะขุนศึกธรรมดา มากกว่าในฐานะกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่”
ที่สำคัญคือยังไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่เสนอว่าการประหารชีวิตพระเจ้าตากนั้น ‘เป็นการจัดฉาก’ ขึ้นมา
คำถามที่ตามมาก็คือว่า แล้วเรื่องเล่าที่หลายคนคุ้นเคยและยึดถือกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีที่มาจากไหน
เรื่องเล่าจากวรรณกรรม : การประหารคือการจัดฉาก
จากการศึกษา ปฐมพงศ์พบว่าจุดเริ่มต้นของการเชิดชูพระเจ้าตากในฐานะวีรกษัตริย์ รวมถึงเรื่องเล่าที่เสนอว่าการประหารชีวิตพระเจ้าตากนั้นเป็นการจัดฉากขึ้นมา เริ่มปรากฏขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างความสามัคคีและสำนึกรักชาติในหมู่ประชาชน
ปฐมพงศ์เล่าว่า ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ชนชั้นนำได้นำเรื่องราวของพระเจ้าตากมาผลิตซ้ำ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีรากมาจากสามัญชน ซึ่งสอดคล้องอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็มีการสร้างความหมายใหม่ ในฐานะที่เป็นวีรกษัตริย์ผู้กอบกู้ชาติ มีการอนุมัติให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ เปิดอย่างทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2497 พร้อมกำหนดพระนามอย่างเป็นทางการว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี” ก่อนจะมีการถวายสร้อยพระนาม “มหาราช” ให้ในเวลาต่อมา
1
ทว่าสิ่งที่บ่งบอกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากได้ชัดยิ่งกว่า ก็คือเรื่องราวที่ปรากฏในหลักฐานที่เป็นงานเขียน
ปฐมพงศ์พบว่างานเขียนเกี่ยวกับพระเจ้าตากช่วงหลัง 2475 จนถึงปัจจุบัน มีลักษณะเนื้อหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การคัดลอกและอ้างอิงจากพงศาวดาร ไปจนถึงการประกอบสร้างเรื่องราวใหม่โดยไม่ได้ยึดโยงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ
ทั้งนี้ ปฐมพงศ์ชี้ว่าหมุดหมายสำคัญของการสร้าง ‘เรื่องเล่าและความหมายใหม่’ เกี่ยวกับพระเจ้าตากในยุคหลัง 2475 คือเรื่อง ‘ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน’ รวมเรื่องสั้นอิงประวัติศาสตร์ โดย หลวงวิจิตรวาทการ เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2492
จุดสำคัญของเรื่องนี้ คือการบอกเล่ามุมมองใหม่เกี่ยวกับวาระสุดท้ายของพระเจ้าตาก ว่าแท้ที่จริงแล้วพระองค์มิได้ถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร แต่ได้ลักลอบเสด็จออกไปประทับที่อื่น โดยสับเปลี่ยนตัวกับพระญาติ ชื่อนายมั่น ซึ่งมีรูปพรรณใกล้เคียงกับพระองค์ ให้เป็นผู้ถูกสำเร็จโทษแทน
นอกจากนี้ ปฐมพงษ์ยังได้ศึกษาวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ในยุคนี้อีก 9 เรื่องที่กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตาก คือ ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน, แผ่นดินพระเจ้าตาก, ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข, ตากสินมหาราชชาตินักรบ, ความหลงในสงสาร, พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร, ตามรอยเลือดพระเจ้าตาก, จอมกษัตริย์แห่งนักรบ และ ดวงพระเจ้าตากไม่ถูกประหาร ซึ่งทำให้พบข้อสังเกตที่สำคัญดังนี้
ประการแรก ในบรรดางานเขียนทั้ง 10 เรื่อง มี 8 เรื่องที่สร้างเรื่องเล่าขึ้นมาใหม่ โดยมีเพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่เขียนว่าพระเจ้าตากถูกประหารจริง โดยอ้างอิงกับข้อมูลในพระราชพงศาวดาร คือเรื่อง ‘แผ่นดินพระเจ้าตาก’ เขียนโดย นายแพทย์วิบูลย์ วิจิตรวาทการ และเรื่อง ‘ตามรอยพระเจ้าตาก’ เขียนโดย ชานันท์ ท. โดยในสองเรื่องนี้ มีเรื่องเดียวเท่านั้นที่ระบุว่า พระเจ้าตากถูกประหารชีวิต โดยการตัดศีรษะ ตามพระราชพงศาวดาร คือเรื่อง ‘แผ่นดินพระเจ้าตาก’ ขณะที่เรื่อง ‘ตามรอยพระเจ้าตาก’ นั้น บอกว่าถูกประหารชีวิตจริง แต่ละส่วนที่บอกว่า ตัดศีรษะ ออกไป
1
ประการที่สอง ปฐมพงศ์ชี้ว่ายังมีวรรณกรรมอื่นๆ ที่เขียนถึงพระราชประวัติของพระเจ้าตากอีกหลายเล่ม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนตัดตอนจบที่การขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์
ประการสุดท้าย พบว่าหลายเล่มมีการอ้างอิงข้อมูลที่ไม่ได้ยึดโยงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น การใช้ ‘ฌาณ และ ญาน’ เพื่อสื่อสารกับผู้ล่วงลับ ดังที่ปรากฏในเรื่อง ‘ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน’ เขียนโดย ภิกษุณีโพธิสัตว์ วรมัย กบิลสิงห์ หรือ ‘หลวงย่า’ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญคือแต่ละเรื่องที่อยู่ในข่ายนี้ ล้วนมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป ไม่ใช่เรื่องเล่าที่สอดคล้องกันอย่างที่ปรากฏในงานเขียนช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ปริศนาที่ยากจะคลี่คลาย : การช่วงชิงความหมายของชนชั้นนำ
เมื่อเปรียบเทียบงานเขียนจากทั้งสองยุค จะเห็นได้ชัดว่า เรื่องเล่าและการสร้างความหมายเกี่ยวกับพระเจ้าตากที่แพร่หลายในปัจจุบันนี้ มีอิทธิพลมาจากงานเขียนยุคหลัง 2475 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าที่มุ่งนำเสนอภาพแทนของ ‘พระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์พร้อม’ สำหรับสังคมไทย
แต่ในทางกลับกัน การนำเสนอภาพความเป็นวีรกษัตริย์ที่ถูกผลิตซ้ำอย่างแพร่หลายนี้ ก็มีผลให้ชุดเรื่องเล่าจากพระราชพงศาวดารที่ระบุว่าพระเจ้าตากเกิดสติวิปลาสและนำไปสู่การสั่งประหารชีวิตโดยรัชกาลที่ 1 ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปด้วย
“เมื่อคนปัจจุบันได้รับการบอกเล่าซ้ำๆ ถึงวีรกรรมการกู้ชาติและความเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เราจึงนึกภาพไม่ออกว่าพระองค์จะสติวิปลาสและถูกประหารชีวิตได้อย่างไร คนปัจจุบันรับไม่ได้กับการที่พระองค์ถูกประหารชีวิต”
ข้อสังเกตที่ว่านี้ สอดคล้องกับการบรรยายของ ภิกษุณีธัมมนันทา ในวงเสวนาเดียวกัน ซึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหนังสือ ‘ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน’ ของ ภิกษุณีโพธิสัตว์ วรมัย กบิลสิงห์ ไว้ว่่า “นี่เป็นเวอร์ชั่นที่ทำให้คนไทยรู้สึกสบายใจ แต่จะเป็นจริงตามหน้าประวัติศาสตร์แค่ไหนอย่างไรนั้น ไม่สามารถให้คำตอบได้”
1
ในมุมของปฐมพงศ์ เขามองว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าตากทั้งสองชุดที่ได้นำเสนอไปนั้น มีความแตกต่างกันไปตาม ‘จุดประสงค์ของชนชั้นนำ’ และ ‘จุดประสงค์ของผู้เขียน’ ในเวลานั้นๆ กล่าวคือในยุคที่มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การนำเสนอเรื่องเล่าของพระเจ้าตาก (ผ่านพระราชพงศาวดาร) โดยชนชั้นนำนั้นก็เป็นการช่วงชิงความหมายแบบหนึ่ง ขณะที่การนำเรื่องราวพระเจ้าตากมาผลิตซ้ำอีกครั้งในยุคที่เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็มีนัยยะของการพยายามสร้างความหมายใหม่อยู่ด้วยเช่นกัน ทั้งจากชนชั้นนำและคนทั่วๆ ไป
1
ช่วงท้ายของการเสวนา ปฐมพงศ์ทิ้งท้ายว่า การที่เรื่องราวของพระเจ้าตากในหลายๆ ด้านยังคลุมเครือและเป็นปริศนา คือ ‘เสน่ห์’ ที่ทำให้เรื่องราวของพระองค์ได้รับการพูดถึง ผลิตซ้ำ กระทั่งเป็นข้อถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจกว่าการค้นหาว่าอะไรคือข้อเท็จจริงนั้น อาจเป็นการศึกษาว่าเรื่องเล่าของ ‘พระเจ้าตาก’ ในแต่ละช่วงเวลา สัมพันธ์กับบริบทและปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงเวลานั้นๆ อย่างไร ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้มองเห็นการประกอบสร้างเรื่องเล่าของพระเจ้าตากได้ชัดเจนขึ้น แต่ยังรวมไปถึงการประกอบสร้างเรื่องเล่าอื่นๆ ในทำนองเดียวกันด้วย
2
ที่มา :
https://www.the101.world
2 บันทึก
1
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
"รวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย"
2
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย