15 มี.ค. 2019 เวลา 21:16 • ประวัติศาสตร์
พระราชประวัติ "พญายอดเชียงราย"
(พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา)
ราชวงศ์มังรายลำดับที่ : ๑๐
พญายอดเชียงราย หรือ ท้าวยอดเมือง ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2030 - 2038) เป็นกษัตริย์ล้านนาพระองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย พระโอรสในท้าวบุญเรืองซึ่งเป็นพระโอรสในพระเจ้าติโลกราช
พระราชประวัติ
พญายอดเชียงรายประสูติที่เมืองน้อย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพระโอรสในท้าวบุญเรือง และเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าติโลกราช ท้าวยอดเมืองเคยร่วมทำสงครามกับท้าวบุญเรือง และพระเจ้าติโลกราชหลายครั้ง ท้าวยอดเมืองเคยครองเมืองแช่สัก ขณะที่ท้าวบุญเรืองผู้เป็นบิดาครองเมืองเชียงรายในฐานะเจ้าราชบุตรซึ่งเป็นอุปราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2005 ท้าวยอดเมืองได้รับคำสั่งให้ขยายอำนาจไปสู่ดินแดนไทใหญ่ โดยเฉพาะเมืองนายและเมืองใกล้เคียงและท้าวยอดเมืองก็มีบทบาทร่วมรบกับท้าวบุญเรืองผู้เป็นบิดาเสมอมา
ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชได้การประหารชีวิตบุคคลสำคัญหลายคนที่เคยร่วมศึกกันมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือท้าวบุญเรืองที่ถูกประหารชีวิตโดยมีความผิด โทษฐานคิดการก่อกบฏกับพระบิดา โดยถูกแม่ท้าวหอมุกมเหสีองค์หนึ่งในพระเจ้าติโลกราชใส่ความ ผู้ที่เสียใจมากที่สุดคือท้าวยอดเมือง ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงได้สร้างวัดบริเวณตำแหน่งกาลกิณีเมือง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่
ครองราชย์
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าติโลกราช ท้าวยอดเมืองจึงสืบราชสมบัติต่อมา ในช่วงดังกล่าวได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง โดยหลักฐานของจีนทำให้สันนิษฐานได้ว่าพญายอดเมืองทรงตอบสนองความต้องการของจีนหรือกรมการเมืองของยูนนานมาก จนไม่สนใจความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานท้องถิ่นคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานพื้นเมืองลำพูน ที่กล่าวถึงท้าวยอดเมืองไม่รักเจ้าแก้ว ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดจากนางโป่งน้อย แต่กลับเอาใจใส่ลูกฮ่อ ซึ่งเลี้ยงเป็นลูกและให้ไปครองเมืองพร้าว ทั้งยังมีการกล่าวถึงเจ้าแก้วที่ถูกบังคับให้ไหว้ลูกฮ่ออีกด้วย ด้วยการที่พระองค์สนิทสนมกับฮ่อมากเกินไป จึงสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าขุนนางเนื่องจากพระองค์ไม่ทรงรับฟังขุนนาง ท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกขุนนางปลดออก หลังจากครองราชย์ได้ 8 ปี โดยพระองค์ให้ไปครองเมืองซะมาดในเขตแม่ฮ่องสอน พร้อมกับยกเจ้าแก้วขึ้นครองราชย์สืบมา
ขณะที่มีการยกเจ้าแก้วขึ้นครองราชย์ ก็พบว่านางโป่งน้อย มีอำนาจสูงมาก เนื่องจากมีบทบาทในการปกครองร่วมกับพระโอรส โดยในหลักฐานมีการเรียกมหาเทวีและกษัตริย์ว่า "พระเป็นเจ้าสองพระองค์" และ "พระเป็นเจ้าแม่ลูกทั้งสอง" ขณะเดียวกันบทบาทของขุนนางได้เพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ ส่วนกษัตริย์กลับถูกลิดรอนอำนาจ
โฆษณา