18 มี.ค. 2019 เวลา 09:30 • ธุรกิจ
# 7 วิชาที่ควรสอนในโรงเรียนไทย หากต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น #
.
โลกนี้เต็มไปด้วยโอกาส เกินกว่าที่เด็กไทยจะทำได้แค่ “ตั้งใจเรียนให้เก่งๆ ทำงานให้หนักๆ จ่ายภาษีให้น้อยย เก็บเงิน ซื้อบ้าน และอย่าเป็นหนี้”
ฮาววาร์ด โจเซฟ รัฟ (Howard Joseph Ruff) นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนทางด้านเศรษฐกิจชื่อดังชาวสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่า “หากผมสอนลูกได้เพียงสิ่งเดียว สิ่งนั้นคงจะเป็นทักษะการตลาด ด้วยสิ่งนี้ ลูกๆ ของผมจะสามารถสำเร็จกับทุกอย่างในชีวิตที่พวกเขาเลือกได้”
ทำไมรัฟถึงพูดแบบนั้น?
จากการที่ผมเคยเป็นทั้งลูกจ้าง ข้าราชการ และเป็นผู้ประกอบการ
ผมพบว่าในทุกบทบาทที่ผมเล่น "ทักษะทางการตลาด” เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
และมันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในแวดวงธุรกิจเท่านั้น
1
“การตลาด” เป็นคำที่ครอบคลุมการขาย การสร้างแบรนด์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อคุณค่าที่ถูกสร้างจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง
.
เราต่างเคยเห็นคนเก่ง คนดี มีความสามารถแต่ไม่มีความก้าวหน้าผ่านตากันมาแล้วทั้งนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่คู่ควร  
 
แต่เป็นเพราะพวกเขาขาดทักษะทางการตลาด ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของชีวิต
 
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่
หากไม่มีทักษะนี้ แม้จะอยู่ในสาขาอาชีพใด เราจะไม่สามารถหาความก้าวหน้าในสายงานของเราได้เลย 
ไม่ใช่เพราะเราไม่เก่ง
แต่เพราะความเก่งของเรา ไม่ถูก “มองเห็น”
การตลาดคือศิลปะ 
ทุกอย่างในโลกเป็นเรื่องของการตลาด
ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการตลาด 
ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขาย 
 
และเราควรหูตาสว่างกันได้แล้วว่า
การขายไม่ใช่แค่เรื่องของ “สินค้า” 
เพราะผู้คนจำนวนมากมั่งคั่งขึ้นมาได้จากการขายสิ่งอื่น
ไม่จำกัดอยู่แค่สินค้าที่จับต้องได้เท่านั้น
 
การศึกษาในระบบโรงเรียนไทย ไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เลย 
 
สิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดก็คือ 
เรามีหลักสูตรปริญญาเกี่ยวกับธุรกิจ
แต่อาจารย์ในคณะบริหารธุรกิจ กลับไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจ  
พวกเขาต่างเป็นลูกจ้างที่ไม่เคยลิ้มรสชาติของความเป็นผู้ประกอบการ
มีบ้างที่อาจารย์เหล่านี้เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจ 
แต่พวกเขาก็ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจจริงๆ อยู่ดี 
ในฐานะที่ปรึกษา พวกเขาพร้อมที่จะถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา
 
แล้วทำไมเราจึงไม่สอนสิ่งนี้กันในการศึกษาตามระบบ?
อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาของเรามีไว้เพื่อผลิตคนป้อนเข้าอุตสาหกรรม 
มากกว่ามีไว้เพื่อผลิตคนออกมาสร้างอุตสาหกรรม (และสร้างงาน)
 
เราต่างต้องใช้เวลานานพอสมควรเพื่อที่จะเชี่ยวชาญในทักษะนี้ 
เศรษฐกิจของชาติจะดีกว่านี้มากผมเชื่อว่า
หากเด็กไทยทุกคนได้รับการปลูกฝังทักษะอย่างน้อย 7 เรื่องนี้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน
.
1.วิชาค้นหาปัญหา 
 
ทุกธุรกิจในโลก เกิดขึ้นจากความพยายามในการแก้ปัญหาบางอย่างให้ใครบางคนเสมอ
เพื่อนสมัยเด็กของเราอาจเคยทำสิ่งนี้โดยที่เราหรือแม้แต่เขาเองก็ไม่รู้ตัว
 
ผมเป็นคนที่ภาษาโบราณเรียกว่าเป็นพวก “มือร้อน” 
ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น 
ผมจึงมีปัญหามากกับวิชาเกษตร 
และแน่นอนว่าอาจารย์เกษตรจะสั่งงานให้เราปลูกต้นไม้ง่ายๆ ส่งก่อนสอบปลายภาค
 
ไม่ต้องเล่าต่อก็น่าจะรู้ว่า 
ในจังหวะนั้นจะต้องมีเพื่อนคนนึงรับจ้างปลูกต้นไม้ง่ายๆ นั้นแทนผม 
โดยคิดค่าจ้างถูกๆ เพื่อแลกกับการมีต้นไม้ไว้ส่ง
 
ผมเพิ่งมารู้ตอนโต 
เพื่อนคนนั้นก็ไม่ได้ปลูกเองเช่นกัน 
เขาไปซื้อมาในราคาที่ถูกมากๆ 
และเอามาให้เราทั้งกระถาง 
พร้อมบวกค่าดำเนินการนิดหน่อย
เราต่างคิดว่านี่คือเรื่องตลกขบขันในวัยเด็ก
แต่ความจริงแล้ว 
เพื่อนของผมคนนั้นคือคนที่สามารถค้นหาปัญหาของเพื่อนร่วมห้องพบ
ซึ่งเป็นการมองที่ “ขาด” มาก
และสิ่งนี้ทำให้เขาสามารถสร้างรายได้ได้จริงๆ 
 
ไม่แน่ใจว่าทักษะการมองเห็นปัญหาที่เขามีอยู่นี้รึเปล่า 
ที่ส่งผลให้เขากลายเป็นเจ้าของธุรกิจส่งออกในปัจจุบัน 
และหนึ่งในรายการสินค้าที่เขาส่งออก ก็มีสินค้าเกษตรด้วย
1
.
2.วิชานำเสนอคุณค่า
 
คนส่วนใหญ่กลัวการขาย
เพราะภาพที่ติดมากับการขายคือการถูกปฏิเสธ
 
อันที่จริงเราต่างขายกันอยู่ในทุกมิติ
และมันเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน
 
ความพยายามที่เราใช้ในการสื่อสารกับตัวเองเพื่อให้เราลุกขึ้นไปทำงานทั้งๆ ที่ไม่อยากจะลุก
สิ่งนี้ก็คือการขาย
 
สุนัขเดินตาม ทำหน้าตาน่าสงสาร หวังให้เราโยนลูกชิ้นในมือให้
ก็เป็นการขาย
(หลายคน นอกจากจะถูกน้องหมาปิดการขายได้แล้ว ยังดูดน้ำจิ้มเผ็ดๆ ออกจากลูกชิ้นก่อนจะโยนให้อีก ... ในทางธุรกิจ พฤติกรรมพลีกายให้น้องหมาเช่นนี้ เราไม่ใช่แค่ Buyer แต่เราได้กลายเป็น Fan Club ระดับติ่งของน้องหมาไปแล้ว)
 
เช่นกัน ...
ความพยายามโน้มน้าวให้ใครบางคนสนใจสินค้าและบริการของเราก็เป็นอะไรที่ไม่ต่างกัน
 
ในขณะที่เราขาย ลูกค้าก็ขายพร้อมๆ 
กันเขาขายเหตุผลที่ว่า ทำไมเขาจึงยังไม่ซื้อสินค้าของเราในตอนนี้
ในทางธุรกิจเรียกสิ่งนั้นว่า “ข้อโต้แย้ง”
 
สมัครงานก็คือการขาย
แต่งตัวไปทำงานก็คือการขาย
ยิ้มให้เพื่อนร่วมงานก็คือการขาย
ชวนเพื่อนร่วมงานไปกินข้าวเที่ยงร้านที่เราอยากกินก็คือการขาย
ทุกสิ่งทุกอย่างทุกมิติ คือ การขาย
 
เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเราไม่เคยขาย
แต่อะไรล่ะ? ทำให้เรารู้สึกว่า การขายกับเรามันไม่ควรที่จะมาเกี่ยวข้องกัน 
 
ระบบการศึกษาไม่เคยสอนให้เราทำธุรกิจ
พวกเขาสอนให้เราหาอาชีพทำ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องขาย
พวกเขาปลูกฝังให้เราเห็นว่า การขายคือสิ่งที่ไร้เกียรติ
 
เขาบอกเราว่า แม่ค้าต้องปากตลาด
คนขายส้มตำคือคนชั้นล่าง
 
แล้วกี่ครั้งกี่หนกันในชีวิตนี้ 
ที่เราเห็นพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นมีรถขับ มีบ้านอยู่ มีทรัพย์สิน
ในขณะที่เราใส่สูท ผูกไท แต่ไม่มีอะไรเลย นอกจากเงินเดือนชนเดือน และอีโก้
.
3.วิชาค้นหาลูกค้า
 
ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นลูกค้าของเราได้
สินค้าและบริการของเราจะแก้ปัญหาให้ได้แค่กับคนบางคนเท่านั้น
สิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอเวลาที่ผมจัดคลาสสอนผู้ประกอบการ
ผู้เรียนส่วนใหญ่ล้วนมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน
คือ "ผู้หญิง อายุ 24-35 รายได้ 25,000-35,000 ต่อเดือน”
ย่ำแย่ไปกว่านั้น สำหรับบางคน 
“ผู้หญิงทุกคน” คือกลุ่มเป้าหมาย
 
หากเราเริ่มธุรกิจด้วยการไม่รู้ว่าลูกค้าที่แท้จริงของเราคือใคร
สิ่งนี้เทียบได้กับการกลัดกระดุมข้ามเม็ด
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือความผิดพลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ลูกค้าคนละแบบ ต้องใช้การสื่อสารคนละอย่าง
เรื่องราวคนละเรื่อง คุณประโยชน์คนละแบบ ราคาคนละช่วงชั้น หรือแม้แต่ภาษาคนละระดับ
 
หากกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจใดคือคนทุกคน
นั่นแปลว่า ธุรกิจนั้นไม่มีกลุ่มเป้าหมายเลย
1
โจทย์เล็กๆ นี้ทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ล้มตายมาแล้วนับไม่ถ้วน
ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับสายการบิน air france สมัยที่มีเครื่องบินคองคอร์ด
 
นอกจากเรื่องของอุบัติเหตุใหญ่เมื่อปี ค.ศ.2000 ที่ปารีสแล้ว 
เรื่องต้นทุนการบริหารจัดการที่ไม่สัมพันธ์กับจำนวนลูกค้าก็เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เครื่องบินรุ่น
นี้ควรที่จะอยู่ในพิพิธภัณฑ์มากกว่าบนฟ้า
 
คองคอร์ดถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้เป็น “เครื่องบินพาณิชย์ที่เร็วที่สุดในโลก” เป็นหลัก 
เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องรอง
1
ผู้ผลิตอาจลืมความหมายของการเป็นเครื่องบินพาณิชย์ไปว่า มันจำเป็นต้องมีผู้โดยสาร
ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วในการบินแต่ละครั้ง
ทำให้ค่าโดยสารชั้นประหยัดเริ่มต้นที่ราคาเทียบเท่ากับชั้น first class ของเครื่องบินโดยสารปกติ
 
สิ่งนี้เองที่เป็นจุดหักเห
 
เพราะแม้จะมีบริการและอาหารที่หรูหราขนาดไหน
แต่จุดเด่นที่เรื่องบินไวไม่ได้สนองความต้องการเท่าที่คิด
ซ้ำร้าย กลับทำให้ลูกค้ารู้สึกไปอีกทาง
 
ผู้โดยสารรู้สึกคุ้มค่ามากกว่าที่จะจ่ายเงินในจำนวนเท่ากัน 
แต่ได้รับบริการระหว่างการเดินทางที่ยาวนานกว่า
 
จากจำนวน 128 ที่นั่ง 
ในบางเที่ยวบินเหลือผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งลำ
แม้ในวันเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ก็มีผู้โดยสารไม่ถึง 100 คน 
 
บินไว ไม่ได้ตอบโจทย์
คองคอร์ดขาดทุน
 
หากผู้ผลิต ให้เวลากับการค้นหาลูกค้าที่แท้จริงของพวกเขาสักนิด 
บางทีคองคอร์ดอาจมีขนาดเล็กลงกว่านี้ และมันหมายถึงการใช้ต้นทุนในการบินแต่ละครั้ง น้อยลงเช่นกัน
 
(อีกไม่นานจะมีเครื่องบินเร็วเหนือเสียงแต่ขนาดเล็กลงกว่าคองคอร์ดมาก (ไม่เกิน 45 ที่นั่ง) ที่สร้างโดยสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันออกมาให้บริการ 
แว่วๆ ว่าจะสายการบินเวอร์จิ้น แอตแลนติก ของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน จะเอาออกมาให้บริการเป็นเจ้าแรก)
 
หันกลับมามองธุรกิจเล็กๆ
 
ไม่สงสัยกันบ้างหรือว่า เหตุใด
ธุรกิจที่ดูจะไม่น่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราเท่าไหร่อย่าง ขายปืน ขายถ่านไม้ หรือแม้แต่ขายอาหารปลา ถึงยังอยู่ได้(และกำไรงามด้วย)
 
เหตุผลเดียวเท่านั้น 
เพราะพวกเขารู้ว่า ใครคือลูกค้า
.
4.วิชาทำให้คนตัดสินใจ
 
ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าวิชานำเสนอคุณค่า(ในข้อ 2) คือวิชาเปิดการขาย
และวิชาทำให้คนตัดสินใจ คือวิชาปิดการขาย
 
บ่อยครั้งที่เราสามารถสังเกตได้ว่าลูกค้ามีความต้องการ
แต่ก็บ่อยครั้งเช่นกันที่เราไม่สามารถทำให้พวกเขาได้รับในสิ่งที่เขาต้องการได้สักที
 
หน้าที่หนึ่งของผู้ประกอบการคือการทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่ดีกว่า
และตัวเลือกที่ดีกว่านั้นก็คือ เรา
 
"ราคา" มาจากภาษาบาลีว่า "ราคะ" แปลว่าความอยากได้
ผมค้นพบความจริงที่ว่า 
ในการทำธุรกิจ ใครที่พูดหรือถามถึงเรื่อง "ราคา" ก่อนแปลว่าคนคนนั้นกำลังอยากได้
 
หากลูกค้าพูดคำนี้ แปลว่ามีเพียงสิ่งเดียวที่ยังหยุดเขาไว้ไม่ให้ตัดสินใจ นั่นคือราคา
แต่เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของธุรกิจพูดคำนี้ นั่นแปลว่าเราอยากได้เงินเขาเต็มทนแล้วเช่นกัน
 
ทันทีที่ลูกค้าถามราคาแล้วเราตอบราคา 
มันเปรียบเสมือนกับการบอกลูกค้าว่าเขาเหลืออยู่แค่ 2 ทางเลือก
แล้วคือ “ซื้อ” ไม่ก็ “เอาไว้ก่อน”
 
ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จรู้ดีว่า 
ทันทีที่ลูกค้าถามราคา เราควรพาเขาให้ไปไกลกว่าสิ่งที่เขากำลังติดอยู่
 
ในขณะที่เขากำลังกังวลเรื่องขนาดของกำแพง 
เราควรชี้ให้เขาเห็นว่าใต้กำแพงมีประตูอย่างน้อย 2 บาน
 
“สะดวกชำระเป็นเงินสด หรือบัตรเครดิตคะ” คือ คำพูดติดปากทีมขายของผม
 
กระนั้นก็ตาม
แม้ว่าลูกค้าจะยังไม่ตัดสินใจในทันที
ผู้ประกอบการที่เก่งมักรู้จักการตั้งคำถาม “ทำไม”
 
การตั้งคำถามแบบนี้ จะทำให้ผู้ขายสามารถค้นหาปัญหาที่แท้จริงของลูกค้าได้ในที่สุด
 
ถึงเมื่อนั้นค่อยตรวจสอบอีกครั้งว่า เราพอจะช่วยเหลืออะไรลูกค้าได้บ้าง
หากช่วยไม่ได้ ก็ถึงคราวที่จะต้องไปใช้เวลากับลูกค้าคนถัดไป
 
ทำไมจึงควรสอนสิ่งนี้ในโรงเรียน?
นั่นเพราะ “เวลา” เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และเราไม่ควรเสียมันไปโดยเปล่าประโยชน์
 
เงิน อาจทำให้คนจนและคนรวยมีช่องว่าง
แต่ถ้าวัดความมั่งคั่งกันที่จำนวนเวลา ทุกชีวิตนั้นเท่าเทียม
 
แม้เยาวชนของเราจะไม่ได้อยากเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการทั้งประเทศ
แต่พวกเขาควรจะได้เรียนรู้วิธีที่จะทำให้พวกเขาได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
พวกเขาไม่ควรเสียเวลากับคนที่ไม่ใช่
แต่ควรอดทนและมีศิลปะในการเจรจากับคนที่ใช่ให้มากกว่า
เพื่อให้ชีวิตของพวกเขาก้าวไปข้างหน้าให้ได้มากที่สุด
.
5.วิชาจริงใจในสินค้าและบริการ
 
อันที่จริง มันเริ่มมาจากการจริงใจกับตัวเอง
ผู้คนจำนวนมากในสังคมอยากมีชีวิตที่ดี
แต่กลับไม่กล้าแม้แต่จะจริงใจกับความรู้สึกของตัวเอง
พวกเขาก้มหน้าก้มตาทำงานเก็บเงิน หวังลมๆ แล้งๆ ถึงอนาคตที่น่าจะดีขึ้น
โดยหารู้ไม่ว่า การไม่จริงใจกับตัวเอง จะทำให้พวกเขายังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ในเป้าหมายของคนอื่นต่อไปจนกระทั่งทำงานไม่ไหวในวันหนึ่ง
 
ความจริงใจ คือเรื่องพื้นฐาน
ไม่จำเป็นต้องสร้าง เพราะมันมีอยู่แล้ว
 
การขายที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ก็คือขายเรื่องพื้นฐานของสินค้าและบริการ
การบอกไปตรงๆ ว่าคุณช่วยอะไรลูกค้าได้ และช่วยอะไรลูกค้าไม่ได้ เป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ยินมากที่สุด
 
ในทางธุรกิจ เราเรียก การรับปากว่าช่วยได้แต่ความสามารถของเราไม่ถึงพอที่จะช่วยได้ ว่า Over Claim 
สิ่งนี้สะท้อนความไม่จริงใจของผู้ประกอบการ
และแน่นอน มันก่อให้เกิดการบ่อนทำลายระยะยาว
 
ชีวิตนอกธุรกิจก็เช่นกัน
เด็กรุ่นนี้มีความอินดี้สูง
และเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าความสามารถที่พวกเขามี
หากพวกเขาไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้
นี่อาจเป็นสาเหตุแห่งหายนะ
สถิติบอกเราชัดเจนว่า เด็กรุ่นใหม่พร้อมจะลาออกทันทีที่เขาอยาก
บริษัทอาจเดือดร้อนบ้างแต่คนที่จะเดือดร้อนกว่าในระยะยาวคือตัวเด็กเอง
 
การเข้าใจพื้นฐาน คือชิ้นส่วนสำคัญที่สุดในการพัฒนา
1
.
6.วิชาเอาชนะความกลัวในการคุยกับคนแปลกหน้าของคุณ
 
เงินและโอกาสมีอยู่ทุกที่
ตราบใดที่ “ที่” เหล่านั้นมี “ผู้คน”
 
เท่าที่ศึกษาชีวประวัติคนสำเร็จในสาขาต่างๆ มา
ผมไม่เคยเห็นใครได้รับโอกาสใหม่ๆ หรือเห็นหนทางใหม่ๆ จากคนรู้จักคุ้นเคยที่รายล้อมพวกเขามาตั้งแต่เกิดเลยก่อนประสบความสำเร็จ พวกเขาล้วนผ่านจุดที่ต้องเจอกับ “คนแปลกหน้า” มาแล้วทั้งนั้น
 
วอเร็น บัฟเฟต์ , มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก , เจ้าสัวธนินทร์ , เจ้าสัวเจริญ ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนเป็น introvert ไม่ชอบเจอคน
แต่บนถนนความมั่งคั่ง พวกเขาเอาตัวเองออกมาจากนิสัยเดิมๆ
 
อันที่จริงคนเราไม่ได้กลัวคนแปลกหน้า
แต่เรากลัวผลลัพธ์จากการต้องพบเจอกับคนแปลกหน้ามากกว่า
 
เราไม่ได้กลัวการขาย
แต่เรากลัวการถูกปฏิเสธ ที่เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดตามมาจากการขาย
(และเรามักจะกลัวไปก่อนที่จะเริ่มขาย)
 
ทุกคนต่างกลัวการถูกปฏิเสธ
แต่ข่าวดีคือ เราจะได้รับการเรียนรู้ใหม่ๆ ทุกครั้งที่ถูกปฏิเสธ
และสิ่งนี้แหละที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้นทุกวัน
 
สุภาษิตจีนบอกไว้ว่า “หนทางหมื่นลี้เริ่มที่ก้าวแรก”
และก้าวแรกนี่แหละที่หยุดคนไว้ได้มากที่สุด  
 
กี่ครั้งแล้วที่เราเผชิญหน้ากับความกลัว
แต่เมื่อผ่านไปได้ กลับบอกตัวเองว่า “แค่นี้เองน่ะเหรอ”
 
ทุกอุปสรรคก็เป็นแบบนี้แหล่ะ
ความกลัวเป็นแค่ชิ้นส่วนหนึ่งของการก้าวข้ามอุปสรรค
ไม่ใช่องค์ประกอบหลักทั้งหมด
.
7.วิชาวิจัยและพัฒนาจากความผิดพลาด
 
แทนที่จะถามตัวเองว่า “ทำไมลูกค้าถึงปฏิเสธฉัน” 
ลองตั้งคำถามใหม่ว่า “ทำไมลูกค้าถึงปฏิเสธวิธีของฉัน” 
หากคุณเจอลูกค้าที่ใช่แต่ยังถูกปฏิเสธอยู่ส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นปัญหาของ “วิธีการ”
 
การหมั่นตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้”
ตามมาด้วย “และเราจะทำอะไรบ้างเพื่อให้มันดีขึ้น”
วิธีนี้จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
 
มนุษยชาติต้องผิดพลาดมากมายกว่าที่พี่น้องตระกูลไรท์จะส่งเครื่องบินขึ้นฟ้าได้สำเร็จ
กระนั้นก็ยังมีหายนะเกิดขึ้นมากมายกว่าที่การบินจะกลายเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
 
และแม้สถิติจะบอกอย่างนั้น
ใครกัน จะสามารถรับประกันได้ว่า
ในจำนวนวันละ 102,400 กว่าเที่ยวบินของเครื่องบินโดยสารทั้งโลก 
จะไม่มีความผิดพลาดทางการบินเกิดขึ้นอีกเลย?
.
บทสรุป
 
หากการสอนให้เด็กแบบที่สอนอยู่ในระบบมันเวิร์คจริงๆ 
ป่านนี้ประเทศเราคงไม่ใช่แบบนี้
 
คนไทยมี DNA ของความฉลาดในการเอาชีวิตรอดมาตั้งแต่สมัยโบราณอยู่แล้ว
 
ผมเชื่อว่าหากวิชาทั้ง 7 นี้ถูกเพิ่มเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา 
เด็กไทยจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมของโลกในระยะยาวแน่นอน
.
#ผู้กองเบนซ์
ปล.ผมเขียนด้วยอคติต่อระบบการศึกษาล้วนๆ
โฆษณา