Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Soccer life
•
ติดตาม
18 มี.ค. 2019 เวลา 06:35 • กีฬา
ประวัติความเป็นมาของการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย (ตอนที่ 2)
ด้วยเหตุที่การแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรของประเทศไทยในยุคแรกๆ นั้น สมาคมฟุตบอลฯจะเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบกับการจัดการแข่งขันในแต่ละรายการมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง สมาคมฯจึงมักจะประสบปัญหาด้านเงินทุนในการจัดการแข่งขันมาโดยตลอด ทางสมาคมฯ จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการเริ่มขอร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อให้ทำการสนับสนุนเงินทุนในการจัดการแข่งขันรายการอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากรายการที่สมาคมฯ เป็นผู้จัดอยู่เดิม โดยในปี พ.ศ.2527 สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท สยามสปอร์ตพับลิชชิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์กีฬา จัดการแข่งขันฟุตบอลรายการ “ไทยซอคเกอร์ลีก” ขึ้น โดยใช้ระบบการแข่งขันเช่นเดียวกับการแข่งขันฟุตบอลลีกของประเทศอังกฤษ ที่มีการแข่งขันในระบบ เหย้า – เยือน แบบพบกันหมด จากนั้นนำทีมที่ได้คะแนนอันดับ 1-4 มาแข่งกันอีกครั้งเพื่อหาทีมชนะเลิศ
“ไทยซอคเกอร์ลีก” ครั้งแรกนั้นมีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 20 ทีม โดยเป็นสโมสรจากทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ซึ่งผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีม จังหวัดชัยภูมิ เป็นทีมที่ได้รับตำแหน่งชนะเลิศในปีนั้น โดยต่อมาได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นอีกครั้ง ใน ปี พ.ศ.2528 แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการจัดการแข่งขันอีก เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุน และปัญหางบประมาณที่ต้องใช้ในการดำเนินการที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันยังจังหวัดต่างๆ
นอกเหนือจากรายการ “ไทยซอคเกอร์ลีก” แล้ว ในขณะนั้นสมาคมฯ ยังได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลที่สำคัญขึ้นอีก 2 รายการ คือ ในปี พ.ศ.2527 สมาคมฯ ได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จัดการแข่งขันฟุตบอลรายการ “ไทยแลนด์คัพ” ขึ้น โดยให้แต่ละจังหวัด ทำการแข่งขันกันในภาคของตนทั้ง 5 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และหาทีมที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ในแต่ละภาค มาทำการแข่งขันรอบสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการแข่งขันรายการนี้ประสบความสำเร็จมากพอสมควร เนื่องจาก ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องใช้ชื่อจังหวัดเท่านั้น จึงเกิดกระแสท้องถิ่นนิยมขึ้นอย่างกว้างขวง และมีผลต่อการพัฒนา กีฬาฟุตบอลในประเทศไทยในช่วงนั้นเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้นักฟุตบอลจากทั่วประเทศได้มีโอกาสแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ โดยที่นัดชิงชนะเลิศของแต่ละภาค ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ก็จะทำการ ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2530 บริษัท ยามาฮ่า จำกัด ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขัน และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น “ยามาฮ่าไทยแลนด์คัพ” และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 บริษัท อดิดาส (ประเทศไทย) ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น “อดิดาส ไทยแลนด์คัพ” ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีการจัดการแข่งขันนี้
ภาพการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์คัพครั้งที่ 5 และภาพทีมจังหวัดนครสวรรค์ทีมที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศในครั้งนั้น Cr:นิตยสารฟุตบอลสยาม ฉบับที่ 334 http://www.thailandsusu.com.
นอกเหนือจากรายการไทยแลนด์คัพแล้ว ในปี พ.ศ.2530 สมาคมฯ ได้ร่วมกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และภาคเอกชนอื่นๆ จัดการแข่งขันฟุตบอลอีกรายการขึ้น คือรายการ “โตโยต้าคัพ” ซึ่งเป็นการให้ทีมฟุตบอลประจำจังหวัดที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการไทยแลนด์คัพ ได้มีโอกาสแข่งขันกับสโมสรชั้นนำอื่นๆของประเทศไทย โดยมีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งแรกจำนวน 12 ทีม ประกอบด้วย สโมสรชั้นนำจากการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก 6 ทีม และทีมที่ชนะเลิศของแต่ละภาคในการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์คัพ 5 ภาค รวมกับทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันรอบสุดท้าย ด้วยรวมเป็น 6 ทีม และในปี พ.ศ.2532 ได้เริ่มอนุญาตให้มีผู้เล่นชาวต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขันได้ไม่เกินทีมละ 2 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศให้มีความเป็นสากลมากขึ้น แต่เนื่องจากสมาคมฯ มีภารกิจในการจัดการแข่งขันหลายรายการ การแข่งขันรายการนี้จึงได้หยุดจัดการแข่งขันไปในปี พ.ศ. 2538 และต่อมาในปี พ.ศ. พ.ศ. 2553 จึงได้กลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง โดยมีบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สนับสนุนหลักเช่นเดิม และเรียกชื่อการแข่งขันว่า “โตโยต้า ลีก คัพ” โดยใช้รูปแบบการแข่งขันเป็นระบบแพ้คัดออก (Knock-out) แบบสองนัดเหย้าเยือน โดยกำหนดสัดส่วนของสโมสรฟุตบอลที่เข้าแข่งขัน ตามระดับชั้นของลีกที่ลงแข่งขันในฤดูกาลนั้น ซึ่งจากนั้นก็มีการจัดการแข่งขันรายการนี้มาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน
จากฟุตบอลโตโยต้าคัพในอดีต มาถึง ฟุตบอลโตโยต้าลีกคัพ ในปัจจุบัน Cr:Facebook Toyota league cup
บันทึก
1
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย