19 มี.ค. 2019 เวลา 04:38 • กีฬา
ประวัติความเป็นมาของการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย​ (ตอนที่​ 4)
หลังจากที่เริ่มมีการจัดการแข่งขันฟุตบอล​แบบ​"กึ่งอาชีพ" ขึ้นแล้ว​ สมาคมฟุตบอลฯ ก็มีความต้องการที่จะพัฒนาระบบการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศจากให้เป็นกีฬาอาชีพอย่างเต็มรูปแบบ​ ดังนั้น​ ในปี​ พ.ศ.2539 สมาคมฟุตบอลฯ​ จึงได้ดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัวขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า “จอห์นนีวอล์กเกอร์ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก” โดยในการแข่งขันครั้งแรกนี้ มีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน คือ ทีมสโมสรจากการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก จากปีที่ผ่านมา จำนวน 18 ทีม ใช้ระบบการแข่งขัน เหย้า – เยือน แบบพบกันหมด จากนั้นนำทีมที่ได้อันดับ 1-4 มาแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ โดยทีมที่ได้รับตำแหน่งชนะเลิศในครั้งนั้น​ คือ​ ทีมสโมสรธนาคารกรุงเทพ​ (ปัจจุบันได้ยุบทีมไปแล้ว)​ ส่วนการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก นั้นทางสมาคมฟุตบอลฯ ก็ปรับเปลี่ยนระบบการแข่งขัน โดยให้เป็นการแข่งขัน ระหว่างทีมที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศจากการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์ลีก กับ ทีมที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศจากการแข่งขันฟุตบอล เอฟ.เอ.คัพ โดยในช่วงที่ฟุตบอล เอฟ.เอ.คัพ หยุดแข่งขัน ก็ให้เป็นการแข่งขันระหว่างทีมที่ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์ลีกแทน
โลโก้​ การแข่งขัน​จอห์นนี่​ วอล์กเกอร์​ ไทยแลนด์​ ซอกเกอร์ลีก​ Cr:https://www.goal.com.
ทีมสโมสรธนาคารกรุงเทพ​ แชมป์ไทยลีกทีมแรก​Cr:http://www.trueplookpanya.com.
ในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 บริษัท คาลเท็กซ์ (ประเทศไทย​ จำกัด) ได้ตกลงเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักแทน จึงได้เปลี่ยนชื่อการแข่งขันมาเป็น “คาลเท็กซ์ ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก” โดยระบบการแข่งขันยังคงเป็นแบบเดิม
ในปี พ.ศ.2544 สมาคมฯ ได้ร่วมกับ บริษัท สยามสปอร์ตซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ทำการปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยลดจำนวนทีมที่แข่งขันลงเหลือ 10 ทีม และเพิ่มเงินรางวัลให้มากขึ้น โดยมี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อการแข่งขันมาเป็น “จีเอสเอ็ม ไทยลีก”
ในช่วงปี พ.ศ.2545-2548 มีการเปลี่ยนชื่อการแข่งขัน มาเป็น “ไทยลีก” โดยใช้ระบบการแข่งขันแบบเดิม​ และใช้สนามกลางที่จัดไว้ให้เป็นสนามสำหรับการแข่งขัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และบางครั้งก็จะใช้สนามในต่างจังหวัดบ้าง เช่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้มีส่วนร่วมในการแข่งขัน
ในปี พ.ศ.2549 สมาคมฟุตบอลฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติในการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเป็นหลัก จึงทำการเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น “ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก” และเพิ่มจำนวนทีมที่แข่งขันเป็น 12 ทีม โดยอีก 2 ทีม ที่เพิ่มมานั้น คือ ทีมที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศจาก การแข่งขันฟุตบอล “ไทยแลนด์ โปรวิลเชียลลีก” ประจำปี พ.ศ.2548 ซึ่งในขณะนั้น คือ ทีมสโมสรฟุตบอลชลบุรี และสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี และทำการยกเลิกการใช้สนามแข่งขันกลาง โดยกำหนดให้ทุกทีมจะต้องมีสนามที่ใช้ในการแข่งขันเป็นของตัวเองเพื่อใช้เป็นสนามเหย้า เพื่อความเป็นสากล และกำหนดเงินรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศจำนวน 10 ล้านบาท และนอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังได้จัดการแข่งขันฟุตบอล “ดิวิชั่น 2” ขึ้น โดยใช้ระบบการแข่งขันเช่นเดียวกับ ฟุตบอล “ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก” และ “ดิวิชั่น 1” เพื่อความเป็นสากลมากขึ้น
นอกเหนือจากการแข่งขันไทยลีกแล้ว​ ​ยังมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพอีกหนึ่งรายการควบคู่กันมา คือ​ รายการ​ “ไทยแลนด์ โปรวิลเชียลลีก” ซึ่งที่มาของการแข่งขันรายการนี้ก็เนื่องมาจาก​ ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันในไทยลีกนั้น​ส่วนใหญ่จะเป็นทีมที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในต่างจังหวัด ไม่มีโอกาสได้เข้าชมการแข่งขัน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2542 การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้ทำการจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการนี้​ที่เป็นฟุตบอลอาชีพขึ้นมาอีกรายการ โดยทีมทีมเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกก็คือทีมสมาคมกีฬาจังหวัดที่มีความพร้อม​ จำนวน 12 ทีม ใช้ระบบการแข่งขัน เหย้า – เยือน แบบพบกันหมด และต่อมาในปี พ.ศ.2546 ก็เริ่มมีการใช้ระบบการแข่งขันเป็น 2 ดิวิชั่น และให้มีการเลื่อนชั้น และตกชั้น ระหว่างดิวิชั่น และมีการเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น “ไทยแลนด์ โปรวิลเชียล ฟุตบอลลีก (โปรลีก)” และในปี พ.ศ.2547 ก็แบ่งการแข่งขันเป็น“โปรลีกลีก 1” คือ ทีมจากแข่งขันครั้งก่อน และ “โปรลีก 2” คือ ทีมที่ตกชั้นจากการแข่งขันครั้งก่อน รวมกับทีมจากสมาคมกีฬา ที่คัดเลือกมาจาก 5 ภาค และทีมที่ชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ก็จะได้ขึ้นเลื่อนไปแข่งขันใน “โปรลีก 1” ต่อไป โดยการแข่งขัน “โปรลีก”นี้มีการจัดกันอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งมีการรวมตัวกับการแข่งขัน “ไทยลีก” ใน ปี พ.ศ. 2550
ทีมจังหวัดศรีสะเกษ​ แชมป์ไทยแลนด์​ โปรวินเชียลลีก​ ครั้งแรก​Cr:http://dujjjj.blogspot.com.
โฆษณา