19 มี.ค. 2019 เวลา 10:02 • การศึกษา
อ่อนภาษา .. มาลองฟังดู
ไม่ใช่แค่เรื่องภาษา แต่มันคือ "จิตวิทยา"
ได้รับเชิญ จาก สมาคมครูภาษาจีนแห่งประเทศไทยฯ ให้ไปแบ่งปันประสบการณ์เรื่องเรียนภาษา กับ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านภาษาจีน ... ผมนี่ตกใจมาก เพราะ เราไม่ใช่ นักการศึกษา ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ ภาษาจีนระดับแค่สั่งบะหมี่เกี๊ยวเป็ดได้แค่นั้น
ผู้เชิญบอกว่า ต้องการได้ประสบการณ์จาก "คนนอก" เลยขอแบ่งปันประสบการณ์เรื่อง การเรียนภาษา แบบ "มวยวัด" ของผมที่ พูดในเวที สรุปรวมมา เผื่อใครที่เจอปัญหา บุตรหลาน เกลียดการเรียนภาษาต่างประเทศ (ที่เกลียดยังไงก็ต้องเรียนปฏิเสธไม่ได้)
เล่าเรื่องหน่อย (ปูพื้น)
ก. คนโพสเหมือนเด็กไทยทั่วไปครับที่เรียนภาษาในหลักสูตร ป. ต้นถึง ม. ปลาย 12 ปี แต่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ อ่านภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง เรื่องเขียนไม่ต้องพูดถึง เกลียดการเรียนภาษาอังกฤษมาก** ระดับมหาวิทยาลัยคว้า C ทั้งสามตัว... ได้โอกาสไปเรียน ตปท. ความรู้อย่างเดียวเอาไม่อยู่ สอบตก
ข. เริ่มต้นเรียนภาษาใหม่ เพราะวางแผนปีนประเทศเรียน กลายเป็นการเรียนภาษาอิตาเลียนจากเทปคาสเซ็ท กลายมาเป็น จุดเริ่มต้นชีวิตใหม่การเรียนภาษาของ ของผู้โพสต์ ทั้งภาษาอิตาเลียนการกลับไปเรียนภาษาอังกฤษและการเรียนภาษาอื่นๆ
1. "การเรียนการสอนภาษาไม่ใช่แค่เรื่อง ภาษาศาสตร์ แต่เป็นเรื่อง "จิตวิทยา" ควบคู่ไปด้วย"
ผมมองว่าเรื่องภาษาก็เหมือนทุกวิชาครับ นอกจากตัวเนื้อหาการสอน การใช้จิตวิทยาให้เด็ก รักและชื่นชอบในสิ่งที่สอน ด้วยเทคนิคต่างๆ มันสำคัญมาก
2. "ครูที่ดีจะสอนวิชา ส่วนครูที่ยิ่งใหญ่จะสร้างแรงบันดาลใจ" (Good Teachers inform, Great teachers INSPIRE) เป็นคำที่ผมได้ยินจาก อดีตอธิการ โรงเรียนผม ...
ฟังแล้วมันจริงครับ เพราะหากว่า เด็กไม่รู้สึกว่า เรียนแล้วมีคุณค่าอะไรต่อชีวิตเขาเรียนกี่คาบ ก็คือความน่าเบื่อ แต่หากว่า เรา "สร้างแรงบันดาลใจ" ให้เขารู้ว่า เรียนแล้วจะทำให้เขาพิเศษอย่างไร แม้ว่า นอกห้องเรียนที่ท่านสอน เขาก็จะไปเรียนด้วยตัวอีกหลายๆชั่วโมง มันไม่ดีกว่าหรือ
3. ไวยากรณ์ (Grammar) ก่อน หรือ การใช้ภาษามาก่อน ... การเรียนภาษาบ้านเรา เน้นหนักเรื่องหลักภาษา ไวยากรณ๋ แต่ เด็กบ้านเรากลับพูดไม่ได้ ใช้ภาษาไม่ได้ เจอ ต่างชาติแล้ววิ่งหนี ...
ตอนที่ผมเรียนภาษาจากเทป ผมได้รู้ว่า เรียนแบบ "มวยวัด" เรียนแบบท่องๆไป (เหมือนเด็กเรียน) สื่อสารพอได้ เหมือนเรามี "เพชรดิบ" ไว้ในมือ จากนั้นเมื่อเรามีความมั่นใจ และรักในภาษาที่เราใช้การได้ เราจะ อยากได้ ไวยกรณ์ มา "เจียระไน" ภาษาของเราให้แม่นยำยิ่งขึ้น
4. ผมคิดเสมอว่า "ก่อนจะเจียระไนเพชร (ด้วย ไวยกรณ์) เราต้องมี "เพชร" ในมือก่อน (หมายถึงใช้ได้ก่อน) แต่หากคิดจะ เจียระไนเพชร (ด้ยการเรียนไวยกรณ์เยอะๆ) โดยที่ยังไม่มีเพชรในมือเลย (เพราะว่า ยังใช้ภาษาไม่ได้ ยังเกลียดและกลัวภาษาต่างประเทศ) ที่สุด ก็ไม่รู้จะเจียระไนอะไร
แต่เชื่อไหมว่าถ้าเรามี "แพสชั่น" ในภาษาต่างประเทศ สิ่งที่เราเรียนมาในวัยเด็ก ไวยากรณ์ และศัพท์ต่างๆ จะกลับมาอีกครั้งจนมีความสมบูรณ์ เพราะเรามีความรัก ที่จะ เจียระไนแล้ว (ฝากกราบครูภาษาอังกฤษที่ รร. ทุกคนด้วยนะครับ
1
5. "เนื้อหาต้องโดน สร้างความสนใจร่วม ให้กับเด็กที่เรียน" Not just communicate but 'EXCITE' them"
การสอนต้อง หาความสนใจของผู้เรียนว่าชอบอะไร จำได้ว่า ตอนเรียนภาษาอังกฤษที่จุฬา แบบทดสอบคือเรื่อง "การเปรียบเทียบ กบ และ คางคก" (Frogs VS Toads) (น่าสนใจมากกกกกก)
ถ้าป็นผมสอนนักเรียน มัธยมชาย ผมคงสอนเรื่อง เปรียบเทียบ CR7 กับ M10 ถ้าสอนภาษาอังกฤษ นิสิต รัฐศาสตร์ คงเปรียบเทียบ เช่น "สมดุลเสรีภาพกับการควบคุมโลกSocial media ในโลกตะวันตกกับ ประเทศไทย" อะไรแบบนี้ ให้เกิดความสนใจกับคนเรียนมากกว่า เอากบมาเทียบกับ ลูกอ๊อด
หรือหากว่า เรียนภาษาจีน คงอยากรู้คำคมจากหนังจีน เช่น ดาบมังกรหยก2019 ที่กำลังโด่งดัง เพื่อให้นักเรียน ถูกดึงดูดด้วยเนื้อหา มากกว่า เอาเนื้อหาที่ ไม่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตผู้เรียนมาเรียนด้วย
6. "ชี้ทางให้เห็นว่า เรียนแล้ว "ได้อะไร" แบบเป็นรูปธรรม" Career Path เรียนแล้วได้อะไรเป็นเรื่องเป็นราว ... ถามใจเราสมัยเด็ก เราเรียนอะไรจะถามตัวเองตลอดว่า เรียนแล้วได้อะไร เช่น เรียน ตรีโกณ แล้วใช้อะไร เรียนเลขยกกำลังแล้วได้อะไร เรียนแกรมม่าร์แต่พูดไม่ได้แล้ว จะยังไงต่อ
7. แต่หากว่าผู้สอนทำให้ เด็กที่เรียน จินตนาการได้ว่า "การพูดภาษาต่างประเทศไทย จะหมายถึงโอกาสอะไรในชีวิต ที่เพิ่มขึ้น" ยิ่งกับประเทศไทยที่ ขาดแคลนคนเก่งภาษาต่างๆ อีกเยอะมากกกกกกกกกก (เป็นยาขมที่ไม่มีใครจะดื่ม ทั้งๆที่ ดื่มแล้วชีวิตคงจะมีโอกาสอีกมหาศาล) หรือแม้แต่การ หยิบยกตัวอย่างของ ผู้ที่มีโอกาสจากการที่ เป็นเลิศในวิชานั้นๆ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจมหาศาล ดียิ่งกว่า การพูดลอยๆ เพราะเด็กไม่เห็นภาพ
1
ขออนุญาตนำคำพูดของ ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันดีซี ท่านทูตวีรชัยที่พูดเกี่ยวกับเรื่องของภาษาว่า "เป็นอาวุธอันสำคัญ" เอาไว้ด้วย ณที่นี้ครับ พร้อมกันนี้ขอแสดงความเสียใจกับ ข้าราชการ ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติไว้ ณ. ที่นี้ด้วยครับ
8. จิตวิทยาในห้องเรียนของเด็กที่มีความสามารถหลายระดับ ... แน่นอนว่า เด็กบางคน สอนแบบไหน เครียดอย่างไร ไม่รู้เรื่องอย่างไร เด็กก็สามารถเก็ต และพัฒนาได้รวดเร็ว แต่เด็กบางคน (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่) ต้องการการสอนที่เป็นมิตร ผสมกับความสนุกสนาน และเรื่องราวต่างๆที่ เชื่อมโยงความสนใจ จินตนาการ และแปรเป็นแรงบันดาลใจเขาได้
หลายๆครั้ง ครูสอนภาษาจะเอ็นดู เด็กเก่งเป็นเลิศ แล้วที่สุดก็ละทิ้งเด็กที่เรียนอ่อน จนที่สุด พวกเขาก็มีทัศนคติ ลบต่อ การเรียนภาษานั้นๆไปด้วย
ปล. ขอบคุณทางสมาคมที่เชิญนะครับ ซาบซึ้งในความใจกว้างที่ ยอมให้ผู้ไร้คุณวุฒิไปพูดให้ฟัง หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ
Sent from my Samsung Galaxy smartphone.
........
โฆษณา