21 มี.ค. 2019 เวลา 06:31 • การศึกษา
21 มีนาคม "วันป่าไม้โลก" (World Forestry Day) กับปัญหาการบุกรุกป่าจากปาล์มน้ำมันที่ยังรอการแก้ไขอย่างจริงจัง !!!
เนื่องในวันนี้เป็นวันป่าไม้โลก ผมจะขอยกตัวอย่างบทเรียนจากปาล์มน้ำมันที่มีส่วนในการทำลายป่าเขตร้อนมากที่สุด....เพื่อย้ำเตือน และให้เราตระหนักจากการกระทำของมนุษย์ครับ
ปาล์มน้ำมัน (Elaeis guineensis) ซึ่งมีผลสีแดงทะลายยักษ์อยู่ใต้โคนใบระเกะระกะ คือพืชผลสำคัญเก่าแก่ชนิดหนึ่ง หลายพันปีมาแล้วที่มนุษย์ต้มและทุบผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันปรุงอาหาร เผาเปลือกหุ้มเนื้อในเมล็ดเพื่อให้พลังงานความร้อน และนำใบไปจักสานทำ เป็นพืชพื้นเมืองของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ในช่วงที่มีการล่าวาฬอย่างหนักทั่วโลกในศตวรรษที่ 18 เพื่อนำไขมันวาฬมาทำน้ำมัน ทำเนย หรือแม่กระทั่งสบู่ จึงทำให้จำนวนวาฬลดลงอย่างมาก
ต่อมามีพืชชนิดหนึ่งก็คือ ปาล์มน้ำมันนี้เองที่มนุษย์สามารถคิดค้นและสกัดน้ำมันจากผลปาล์มมาใช้ประโยชน์แทนไขมันวาฬ ทำให้การล่าวาฬค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา จึงถือได้ว่าปาล์มน้ำมันก็มีส่วนช่วยการลดลงของประชากรวาฬด้วยเช่นกัน….แต่ปัจจุบันใครจะไปคาดคิดว่าพืชชนิดหนึ่งที่มนุษย์ใช้ประโยชน์มากมายกลับ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ในการทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศคิดเป็น 5% ทั่วโลก เราลองมาดูกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น....
ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การใช้น้ำมันปาล์มพุ่งสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์สารพัดและเนื้อสัมผัสแบบครีมของน้ำมัน อีกส่วนหนึ่งมาจากการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันซึ่งใช้พื้นที่แค่ครึ่งหนึ่งของพืชผลอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง เพื่อผลิตน้ำมันปริมาณเท่ากัน
ปัจจุบัน น้ำมันปาล์ม คือน้ำมันพืชที่ใช้กันมากที่สุดในโลก หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของการบริโภคน้ำมันพืชทั่วโลก โดยเป็นน้ำมันปรุงอาหารหลักในหลายประเทศ น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสินค้าสารพัด ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงน้ำมันไบโอดีเซลที่เชื่อกันว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม……
จากความต้องการของมนุษย์ในการบริโภคปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงมากถึง 65.5 ล้านตัน ทำให้พื้นที่ป่าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นได้ชัดเลยคือประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย (ประเทศไทยก็ด้วย แต่ถ้าเทียบกับทั้งสองประเทศนี้กลับดูเล็กน้อยไปเลย) นับตั้งแต่ปี 1973 ป่าดิบชื้น 41,000 ตารางกิโลเมตรในบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียถือครองร่วมกัน ถูกแผ้วถางเพื่อทำไม้ เผา และไถปราบเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน คิดเป็นหนึ่งในห้าของการตัดไม้ทำลายป่าบนเกาะบอร์เนียวตั้งแต่ปี 1973 และร้อยละ 47 ตั้งแต่ปี 2000
การทำลายป่าแบบถอนรากถอนโคน (clear cutting) นอกจากทำลายต้นไม้จนหมดสิ้นแล้ว ยังส่งผลทั้งระบบนิเวศที่ถูกทำลาย มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาป่า มลพิษทางน้ำหลังจากเกิดดินถล่ม (Land slide) และการล่าสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะลิงอุรังอุตัง (orangutan) ประมาณการณ์ว่าลิงอุรังอุตังเกาะบอร์เนียวซึ่งอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งล้มตายไปเกือบ 150,000 ตัวระหว่างปี 1999 ถึง 2015 น้ำมันปาล์มก็เป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งยังเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
ผลกระทบจากปาล์มน้ำมัน ทำให้ลูกลิงอุรังอุตังกำพร้ามากมาย
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางการเกษตรทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและการลงทุนในธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันก็เฟื่องฟูขึ้น เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชที่ต้านทานจุลชีพก่อโรคทั่วไป และการใช้ด้วงงวงปาล์มน้ำมันถ่ายเรณู เป็นต้น
เมื่อความต้องการมากขึ้นจนส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม องค์กรอิศระทั่วโลกจึงเริ่มให้ความสนใจและร่วมมือกันรณรงค์และเรียร้องกดดันให้บริษัทน้ำมันปาล์มเห็นถึงผลเสียจากการทำปาล์มน้ำมัน อย่าง กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และหลายประเทศในยุโรป คือหนึ่งในผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ประกาศจะใช้มาตรการ “zero palm oil” เลิกใช้น้ำมันปาล์มภายในปี 2020-2021 และได้จำกัดการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มในการผลิต “เชื้อเพลิงชีวภาพ” นั้นอาจทำให้ทั้งประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียสูญเสียเงินจากการส่งออกมูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลล่าสหรัฐ ต้องจับดูต่อไปครับว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศจะมีมาตรการอย่างไรในเรื่องนี้ หลังจากโดนโจมตีอย่างหนักและจับตามองจากกลุ่มอนุรักษ์
รัฐบาลแต่ละประเทศยังเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ จากรายงานจากกลุ่ม Greenpeace รายงานว่าในเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเดียวแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 145 สนาม ในทุก ๆ 1 ชั่วโมง นั่นหมายความว่ากฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศนี้จริงจังมากแค่ไหน? ถึงอย่างไรก็ตามเรายังได้เห็นการตื่นตัวของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องไกลตัวจากประเทศไทย แต่ประเทศเราก็ส่งออกอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์มไปทั่วโลก…
เราอาจจะหยุดหรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มไม่ได้ในเร็วๆนี้ แต่การรับรู้ถึง ผลกระทบและช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีส่วนช่วยบริโภคผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นส่วนผสมแทนน้ำมันปาล์มในอนาคต (น้ำมันเรพซีด) อาจช่วยสิ่งแวดล้อมและช่วยชีวิตลิงอุรังอุตังได้ครับ
Cr. NG Thai
Greenpeace
โฆษณา