23 มี.ค. 2019 เวลา 06:33 • การเมือง
ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ผมเจอเหตุการณ์ 3 อย่างที่ประทับใจ กังวลใจ และมีกำลังใจ
เหตุการณ์ที่หนี่ง หลังจบงาน THE STANDARD DEBATE เราจัดงานเลี้ยงเล็กๆ ที่ออฟฟิศเพื่อขอบคุณทีมงานทุกคนที่เหน็ดเหนื่อย มุ่งมั่นตั้งใจทำงานจนได้ออกมาตามเป้า แน่นอนว่ากับแกล้มชุดใหญ่ในวันนั้นไม่ใช่แค่เนื้อแดดเดียวร้อนๆ แต่คือประเด็นการเมืองที่กำลังเดือดดาล
1
มีน้องคนหนึ่งโพล่งถามคำถามต้องห้ามที่ผมไม่ได้ยินมานานแล้ว และก็ไม่คิดว่าจะได้ยินในวันนั้น “พี่จะเลือกใคร?” ผมสะดุ้งเล็กน้อย เพราะเราถูกฝังชิปมาตลอด 10 ปีหลังว่า อย่าคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะอาหาร คุยทีไรทะเลาะกันทุกที
แต่เหตุการณ์วันนั้นต่างออกไป
น้องคนหนึ่งยกมือขึ้นแล้วป่าวประกาศชัดเจนว่าเป็นแฟนพรรคอนาคตใหม่ แล้วชมเชยความเท่ของ #ฟ้ารักพ่อ ไม่หยุดปาก เมื่อมีคนเปิดประเด็น คนบนโต๊ะอีกคนก็ไม่รอช้า รีบบอกว่าตนนั้นเป็นแฟนประชาธิปัตย์มายาวนาน มั่นใจมากว่านโยบายครั้งนี้ดีที่สุด น้องผู้หญิงที่บ้านเกิดอยู่บุรีรัมย์จึงขอใช้สิทธิ์พูดบ้างว่า “หนูกาพรรคภูมิใจไทย” พี่ใหญ่อีกคนเดินผ่านโต๊ะมาพอดีก็ชนแก้วพวกเราหนึ่งทีแล้วบอกว่า “ผมเป็นแฟนทักษิณและพรรคเพื่อไทยครับ”
 
ไม่มีดราม่า ไม่มีการชี้หน้าด่ากัน ไม่มีการแบ่งพวก ไม่มีความขัดแย้ง มีแต่ความสนุกสนานที่ได้แลกเปลี่ยนความเชื่อ เห็นตรงก็จับมือ-ปรบมือ เห็นต่างก็ถกเถียงกันด้วยเหตุผล นโยบายของพรรคนั้นเป็นจริงได้ไหม วิสัยทัศน์ของแคนดิเดตคนนี้เจ๋งพอหรือเปล่า
 
ถือเป็นวงสนทนาที่มีคุณภาพ มีแต่รอยยิ้ม เคารพความหลากหลาย รักใครชอบใครก็เป็นสิทธิ์ของท่าน นี่คือสิ่งที่ผมไม่ได้เห็นมานานมาก และผมหวังว่าบรรยากาศบนโต๊ะวันนั้นจะเป็นบรรยากาศจริงของบ้านเมืองเราให้ได้สักวันหนึ่ง มันคือประชาธิปไตยในวงเหล้าอย่างแท้จริง
 
เหตุการณ์ที่สอง การเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมากที่สุดตั้งแต่เราเคยเลือกตั้งมา เราจึงได้เห็นการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นต่างๆ จากผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์และสำนักข่าวมากมาย เกิดเป็นสงครามที่ร้อนแรงไม่ต่างจากการดีเบตของนักการเมือง
 
ด้านบวกก็มีให้เห็น แต่ด้านลบดูเหมือนจะน่ากังวลใจไม่น้อย ข่าวปลอม ข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือน ยุยง ปลุกปั่น ปั้นกระแส ด่าทอหยาบคาย โจมตีฝ่ายตรงข้ามแบบไร้ราคา เหล่านี้กำลังเป็นภัยอันตรายที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ยิ่งเข้าสู่โค้งสุดท้าย ยิ่งน่ากลัว
 
ความจริงแล้วการสร้างข่าวปลอม (Fake News) และข่าวบิดเบือน (Disinformation) ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศทั่วโลกก็เคยเผชิญ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 หรือกรณี Brexit แต่สิ่งที่ประเทศไทย ‘ต้องจับตา’ เป็นพิเศษคือ ผู้ที่เผยแพร่ข่าวบิดเบือนในครั้งนี้กลับเป็น ‘สำนักข่าวกระแสหลัก’ เสียเอง
 
นอกจากจะห้ามไม่ให้ใครมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการกาบัตรเลือกตั้งของเราแล้ว ก็ต้องไม่ให้ใครมาลิดรอนสติของเราเป็นอันขาด
 
เหตุการณ์ที่สาม การเลือกตั้งล่วงหน้า 17 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์คนออกมาใช้สิทธิ์ถล่มทลาย ในแง่ตัวเลข คิดเป็นเกือบ 87% ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.6 ล้านคน
เราเห็นภาพคนต่อแถวยาวเหยียดเหมือนมาดูคอนเสิร์ตเคป๊อป เราเห็นภาพประชาชนอดทนรอการลงคะแนนท่ามกลางอากาศที่ร้อนไม่แพ้อุณหภูมิทางการเมือง และเราเห็นภาพคนวิ่งสุดชีวิตเข้าคูหาเพื่อให้ทันเส้นตาย
 
คนส่วนใหญ่ในวันนั้นคือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้เลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) อายุ 18-25 ปี พลังเงียบที่มีมากถึง 7.3 ล้านคน เทียบเป็น 14%
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิดแห่งยุคสมัย ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า เสียงของคนรุ่นใหม่คือเสียงสวรรค์ของยุคสมัย มันคือสัญญาณว่าคนรุ่นใหม่ต้องการจะบอกอะไรกับคนรุ่นเก่า มันคือวิสัยทัศน์ที่คนรุ่นใหม่ต้องการจะนำพาประเทศนี้ไปในอนาคต
 
ในมุมมองของคนรุ่นเก่าอย่างภิญโญ เขายืนกรานว่ามันถึงเวลาแล้วที่คนรุ่นใหม่จะได้แสดงพลังของพวกเขา ให้เขาเลือกทางของตัวเอง ให้เขาได้รับผิดชอบในสิ่งที่เขาต้องการ ให้เขาได้ล้มลุกคลุกคลานในแบบของพวกเขาเอง
 
หน้าที่ของคนรุ่นเก่าตอนนี้คือ “ต้องหัดหุบปากแล้วเปิดหูฟังบ้างว่าพวกเขากำลังจะบอกอะไร”
 
ไม่ใช่แค่คนรุ่นเก่า รุ่นกลาง หรือรุ่นใหม่ สำหรับผม การเลือกตั้งครั้งนี้คือการเดิมพันครั้งสำคัญ คือการตัดสินอนาคตประเทศชาติครั้งใหญ่ คืออีกจุดตัดจุดหักเหครั้งประวัติศาสตร์
 
เชื่อใคร รักใคร เกลียดใคร เบื่อใคร นี่คือโอกาสครั้งสำคัญ ได้โปรดออกมาป่าวประกาศให้คนทั้งประเทศรู้ว่าคุณอยากเห็นอนาคตของประเทศไทยเดินไปทางไหน
 
กาให้ถล่มทลาย กาให้สนั่นหวั่นไหว ขอพลังจงอยู่ในกากบาทของคุณ
โฆษณา