25 มี.ค. 2019 เวลา 04:10 • ไลฟ์สไตล์
"ความสุขใจซื้อไม่ได้ด้วยเงิน?"
เศรษฐศาสตร์ความสุข (Economics of Happiness)
ความสุขใจซื้อไม่ได้ด้วยเงิน? งานวิจัยชี้ผู้มีรายได้มากกว่า 200,000 บาทต่อเดือน ไม่สามารถสร้างความสุขให้เพิ่มขึ้นได้
ภาพ : Sumter. com
ในช่วง 10 ปีมานี้ มีนักวิชาการหลายท่านทั้งในและต่างประเทศเผ้ามองเรื่องความสุขในมุมมองเศรษฐศาสตร์ หรือ เศรษฐศาสตร์ความสุข (Economics of Happiness) ว่าเป็นสาขาหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน จะว่าไปแล้วพูดกันแบบเราๆท่านๆคนเดินดินธรรมดาก็อาจจะอดคิดไม่ได้ว่า แล้วไม่มีเงินจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าหิวแล้วไม่มีเงินค่าอาหาร ท้องไม่อิ่มจะมีความสุขได้หรือ? เป็นข้อคิดเห็นที่น่าสนใจทีเดียว ก็ในความเป็นจริง ความเป็นอยู่ความสะดวกสบายในชีวิตหรือแม้แต่เข้าสังคม ล้วนอาศัยเงินเป็นปัจจัยสำคัญทั้งนั้น วันนี้ท่านผู้อ่านลองมาหาคำตอบดูค่ะว่า “เงินไม่สามารถซื้อความสุขได้” จะเป็นสมมุติฐานที่มีความเป็นไปได้หรือ ซึ่งมีผลวิจัยชี้ว่า รายได้เฉลี่ยมากกว่าสองล้านต่อปี ไม่สามารถเพิ่มความสุขให้กับบุคคลได้
ในช่วงปี 2010 มีงานวิจัยหนึ่งโด่งดังมาก เผยแพร่ในเวปป์ไซท์ของ PsychologyToday เป็นรายงานการศึกษาของ Daniel Kahneman และคณะ ได้ทำการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่าง รายได้ (Income) ของบุคคลกับอารมณ์ความพึงพอใจของบุคคล โดยอธิบายในสองแง่มุม คือ หนึ่ง อารมณ์เป็นสุขที่เกิดขึ้นตามประสบการณ์ที่พบในชีวิตประจำวัน (Emotional well-being) และแง่มุมที่สองคือ ความสุขที่ได้จากการประเมินความพึงพอใจในวิถีชีวิต (Life evaluation) ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยได้วิเคราะห์คำตอบจำนวนกว่า 450,000 คำตอบ จากข้อมูลของ Gallup Organization (ที่ได้ทำการศึกษาถึงพฤติกรรมและธรรมชาติของมนุษย์ โดยการสำรวจพนักงานจำนวน 1.98 ล้านคน จากองค์การทั้งหมด 36 แห่งที่อยู่ใน 21 อุตสาหกรรมของ 28 ประเทศ เพื่อค้นหาองค์ประกอบที่ส่งผลต่อความผูกพันของพนักงาน โดยดูจากผลผลิต ปริมาณการผลิต ยอดขาย อัตราการลาออก อัตราการเกิดอุบัติเหตุ กำไรต่อหน่วยการผลิต เป็นต้น) ที่ได้สำรวจประชากรชาวอเมริกันกว่า 1000 ราย ผลการศึกษาสรุปว่า รายได้ที่สูงขึ้นสามารถนำมาซื้อความพึงพอใจในชีวิตได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถซื้อความสุขได้ ในขณะที่รายได้น้อยลงได้สร้างความพึงพอใจในชีวิตได้น้อยและสร้างความสุขทางอารมณ์ได้ต่ำเช่นกัน กล่าวคือ รายได้ที่สูงขึ้นหรือมีมากขึ้น ไม่สามารถทำให้มีอารมณ์ความสุขเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้นั่นเอง
นั่นแปลว่า เวลาเรามีเงินมากขึ้น เงินส่งผลให้เรามีความสุขจากการมองชีวิตตนเองแล้วพึงพอใจในการกินอยู่มากกว่าจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ในขณะเดียวกัน ข้อมูลรายละเอียดจากผลวิจัยออกมาว่า เงินน้อยก็ส่งผลต่อความสุขเช่นกัน เพราะเงินน้อยสามารถทำให้คนเป็นทุกข์ไม่ต่างจากการหย่าร้าง หรือเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะการมีรายได้น้อยส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ภาษีสังคม เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าความสุขจะแปรผันตามรายได้ที่มากขึ้น แต่จากข้อมูลทางสถิติที่ออกมาคือ เมื่อรายได้เฉลี่ยมากกว่า 75,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,500,000 บาท หรือราวๆ สองแสนบาทต่อเดือน) ต่อปี ความสุขของบุคคลจะไม่ขึ้นกับเงินอีกต่อไป
นั่นคือ เงินที่มากขึ้นไม่สามารถซื้อความสุขให้มากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดย ยอร์ดี คัวต์บาค เป็นงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่ติดอันดับท็อป 10 ในปี 2010 ของเวปป์ไซท์ PsycholoToday บอกว่า นอกจากเงินจะไม่สามารถซื้อความสุขได้เสมอไป เงินยังลดความสามารถในการสัมผัสรสชาติความสุขเล็กๆน้อยๆที่มีรอบตัวด้วย
คำอธิบายมากจากงานวิจัยในสองส่วนนี้
1. กลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมวิจัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเบลเยี่ยมตอบแบบสอบถามที่ต้องกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับเงินเก็บของตัวเอง และให้แต่ละคนประเมินความสุขว่าชีวิตมีความสุขมากน้อยแค่ไหน (Subjective Happiness Scale) และประเมินความสามารถในการดื่มด่ำกับความรู้สึกหรือความรู้สึกด้านบวกที่ผ่านเข้ามาในชีวิต (Savoring Positive Emotion Scale)
ขณะตอบแบบสอบถามเหล่านั้น กลุ่มตัวอย่างถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่ให้มองดูรูปภาพเงินจำนวนมากเป็นฟ่อนๆชัดเจนไปพร้อมกับกรอกข้อมูล และกลุ่มสองให้มองดูรูปภาพเงินขณะกรอกข้อมูลเหมือนกัน แต่เป็นรูปภาพเงินที่ถูกทำให้เบลอไม่ชัด
ผลวิจัยสรุปว่า ยิ่งมีเงินเก็บมากเท่าไหร่ ยิ่งลดความสามารถในการดื่มด่ำกับความรู้สึกดีๆในชีวิต นั่นคือ กลุ่มที่กรอกข้อมูลขณะดูรูปภาพเงินชัดๆ มีความสามารถในการดื่มด่ำความรู้สึกดีๆน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นรูปภาพเงินเบลอๆ
2. นำคนอายุ 15-60 ปี มาประเมินทัศนคติที่มีต่อช็อคโกแลต หลังจากนั้นแบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็นสองกลุ่มเปรียบเทียบกัน ให้กลุ่มหนึ่งนั่งกินช๊อคโกแลตภายใต้เงื่อนไขคล้ายๆกับงานวิจัยข้างต้นที่กล่าวมาคือ
- กลุ่มแรกกินช๊อคโกแลตไป ดูรูปเงินก้อนโตไปด้วย
- ส่วนอีกกลุ่ม กินช๊อคโกแลตไป และดูรูปทั่วๆไปที่ไม่ใช่เงิน
โดยทีมวิจัยจะแอบสังเกตแล้วประเมินความสุขของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองระหว่างกินช๊อคโกแลต
ผลการวิจับพบว่า กลุ่มที่ดูรูปเงินใช้เวลาในการกินช๊อคโกแลตน้อยกว่าและมีความสุขสำราญในการกินน้อยกว่า
งานวิจัยดังกล่าวถูกนำมาอธิบายกับชีวิตจริงว่า เงินทำให้เราดื่มดั่บความสุขน้อยลง เช่น ถ้าเรารวยขึ้น กินอาหารมิชลินไกด์ทุกมื้อ เสาร์อาทิตย์ไปพักร้อนโต้คลื่นทะเลสลับกับช้อปปี้งในย่านหรู มันจะทำให้เราลดระดับความสุขจากความอร่อยอาหารข้างทาง ราคาไม่แพงหรือก็ไม่ เพราะอาหารข้างทางเจ้าอร่อยที่เราชอบก็สามารถสร้างความพึงพอใจจากการอิ่มท้องในมื้อหิวหรืออยากได้เเช่นกัน
งานวิจัยในเชิงเศรษฐศาสตร์กับความสุขสองชิ้นนี้ น่าจะพอเป็นหลักฐานที่มาช่วยเสริมงานวิจัยที่ผ่านๆมาว่า ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงภายนอกหรือภายในอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเราจะพอใจ พอเพียงกับการมีเงินน้อย เราจะมีความสุขในส่วนของการประเมินความพอใจในชีวิตว่า พอใจ (Life evaluation) แต่อารมณ์ภายในไม่ได้สุขสบายใจนัก (Emotional well-being) เพราะท้องยังไม่อิ่ม ยังกังวลกับหุ้นขึ้นหุ้นตก เงินจะหายหรือจะมีมาเพิ่มหรือไม่ เป็นต้น
จึงมีข้อสรุปจากการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขว่า เงินไม่ได้ซื้อความสุข เงินเพียงแค่ซื้อสิ่งอำนวยความสุขมาให้เรา
และถ้าเราใช้ความสุขจากเงินไม่เป็น หรือพึ่งพาความสุขจากเงินบ่อยๆมากขึ้นเรื่อยๆ ความสุขที่เคยได้ง่ายจากสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวก็จะค่อยๆหายไป
น่าคิดว่า นักธุรกิจเงินล้านล้มละลายเหลือรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำหลายคนมีความทุกข์จนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในขณะที่คนมีรายได้เท่ากันกับนักธุรกิจล้มละลาย กลับสามารถมีชีวิตสู้ต่อไปและมีความสุข รวมไปถึงสามารถดื่มด่ำกับความสุขตามสภาพความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกันได้
นี่อาจจะเป็นเพราะ ศักยภาพในการดื่มด่ำความสุขของอดีตนักธุรกิจเงินล้านดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการใช้เงินเพื่อแลกความสุขมานาน จนไม่สามารถปรับตัวมามีความสุขแบบเรียบง่าย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือดื่มด่ำกับความสุขเล็กๆน้อยๆรอบตัวได้
ภาพ : ศานติเทวะ
กล่าวโดยสรุป
จากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ความสุขที่กล่าวมาข้างต้นนี้ พอจะสรุปได้ว่า เงินไม่สามารถซื้อความสุขได้จริง แม้ว่าเงินสามารถซื้อความพึงพอใจในชีวิตได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นความสุขของคนเราไม่ได้เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มได้อีกต่อไป จากงานวิจัยที่กล่าวมา เมื่อรายได้เฉลี่ยมากกว่า 200,000 บาทต่อเดือน ไม่สามารถสร้างความสุขของบุคคลให้เพิ่มขึ้นได้ แต่ขณะเดียวกันการมีรายได้น้อยก็ไม่สามารถสร้างความสุขได้ทั้งหมด เนื่องจากคนเรานั้น เงินสามารถซื้อความพึงพอใจในชีวิต เช่น ความสุขสบายอิ่มท้องในแต่ละวัน อาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ความพึงพอในในชีวิตมีลดลงหากรายได้ต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงที่ว่า ความสุขจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคนเราสามารถ “พออยู่พอกิน” และค้นพบจุดที่สามารถ “พอใจ” ในชีวิตที่เป็นอยู่ได้
2. ข้อมูลจากหนังสือ “ความสุขที่ท่านเรียกไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้” สำนักพิมพ์ โฟร์เลตเตอร์เวิรด์. 2554. หน้า 22-31.
โฆษณา