28 มี.ค. 2019 เวลา 03:16 • ไลฟ์สไตล์
ราวกลางเดือนมีนาคม...
เราเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มฤดู...
ชัยภูมิร้อนอบอ้าว...ไม่มีใครอยากเผยตัวออกไปสู่โลกกลางแจ้งนั่นมากนัก
สายลมที่พัดผ่านมา...นำพาเพียงความอบอ้าวมาฝากแก่เราเท่านั้น
เช่นนั้น...ความเย็นเยียบจากอุณภูมิราวสิบองศาจึงไม่มีใครอุตรินึกถึงมัน
และนั่นจึงส่งให้เสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องนอนที่เราเตรียมมาในเที่ยวเดินทางครั้งนี้มีไม่มากนัก...
ใช่ประมาท...หากเราไม่ได้นึกถึงมัน
. . .
เพียงผ่านด่านปางม่วงเข้ามา...เราลดกระจกและเริ่มสัมผัสได้ถึงอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป
ต่อเมื่อผ่านศาลาพรมมาได้ไม่นานนักอุณหภูมิกลับเย็นลงอย่างเห็นได้ชัด...
ครั้นเข้าสู่พื้นที่ส่วนสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวเราเริ่มหวั่นใจกับเครื่องนอนที่เตรียมมา...
ด้วยความเย็นของสภาพอากาศที่แม้จะมาถึงราวเที่ยงวันหากนั่นก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากเมืองภายนอกอย่างสิ้นเชิง...
ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่เป็นผลที่ได้จากการรักษาผืนป่าแห่งนี้เอาไว้...
ผืนป่าที่หากเราย้อนกลับไปราวปี พ.ศ. 2508 – 2513 นั้นสภาพพื้นที่หาได้เป็นเช่นที่เราเห็นเหมือนในวันนี้...
. . .
เนื่องจากป่าภูเขียวได้ถูกจัดให้อยู่ในโครงการทำไม้ที่เรียกชื่อว่า โครงการไม้กระยาเลยภูเขียว หมวด 4...
และการทำไม้ทำให้ผู้ได้รับสัมปทานตัดถนนเข้าสู่ใจกลางป่าภูเขียวเพื่อชักลากไม้ และถนนสายนี้เองที่ทำให้มีผู้คนอพยพหลั่งไหลเข้ามาจับจองผืนป่าและเปลี่ยนมันเป็นพื้นที่ทำกินจนมีหมู่บ้านเกิดใหม่ขึ้นมาหลายแห่ง...
ป่าภูเขียวตกอยู่ในช่วงเวลาเลวร้าย...
คนอพยพใช้ไฟเผาผลาญพื้นที่ป่าเพื่อเอาเป็นที่ทำกิน แผ้วถางป่า ล่าสัตว์ ชุมชนมากกว่าสิบแห่งกระจายตัวอยู่ตามจุดสำคัญของป่า...
ด่านปางม่วงที่เราผ่านมานั้นคราหนึ่งก็เป็นชุมชนที่มีมากกว่าร้อยหลังคาเรือน ทุ่งกะมังมีสองกลุ่ม บ้านสี่สิบหลังคาเรือนตั้งอยู่ลึกสุดถือเป็นหมู่บ้านบุกเบิกพร้อมจะขยายชุมชนไปยังบึงแปน บ้านโหล่นและหล่มสักโน่นเลยทีเดียว...
เมื่อคนมากขึ้น สัตว์ป่าก็หนีหาย...
ทั้งจากการถูกยึดพื้นที่และการถูกไล่ล่าอย่างหนักหน่วง...ต่อเมื่อกระซู่ตัวที่สามถูกยิงที่ทุ่งกะมัง
ข่าวการล่ากระซู่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ป่าภูเขียวจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของคนภายนอก และโดยเฉพาะในกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ดูจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ด้วยในสมัยนั้น กระซู่ เป็นสัตว์หายากมากและคาดว่าสูญพันธุ์ไปจากบ้านเราแล้ว...
และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ดำเนินการจัดตั้งป่าภูเขียวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า...
แต่กว่าจะดำเนินการให้เรียบร้อยไม่ใช่เรื่องง่าย...
กระทั่งในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินผ่านป่าภูเขียวทางเฮลิคอปเตอร์ ทรงทอดพระเนตรเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ทรงมีพระราชดำริว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมแหล่งที่อยู่อาศัยอันถาวรของสัตว์ป่าทั้งหลาย...
นับจากนั้นเองผืนป่าภูเขียวจึงได้รับการปกป้องและค่อยๆคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์...
กระทั่งเราสามารถเรียกได้ว่าป่าภูเขียวไม่ต่างอะไรจากอัญมณีเม็ดงามบนแผ่นดินอิสานนั่นเลยทีเดียว...
. . .
นกหลายชนิดส่งเสียงร้องรอบตัว...
เนื้อทราย กวาง เก้ง หากินอยู่อย่างเสรี...
จากความสมบูรณ์เหล่านี้เองในคืนที่ยินเสียงช้างร้องอยู่รายรอบที่พักนั้น เราสัมผัสได้ถึงคืนหนาวที่อุณหภูมิลดต่ำลงกว่า 14 องศาเซียลเซียส...
คืนหนาวในฤดูร้อน...
ความอุดมสมบูรณ์ที่เราสัมผัสได้จริง...ที่นี่ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ
...
ขอขอบคุณข้อมูลป่าภูเขียวจาก หนังสือเพื่อนไพรในภูเขียว โดย ณรงค์ สุวรรณรงค์ และ วรรณชนก สุวรรณกร เป็นอย่างยิ่งครับ...
โฆษณา