แถลงการณ์ ร่วมขับไล่ตำแหน่งผู้ว่าฯ เชียงใหม่
.
ความไร้น้ำยาของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อการจัดการมลพิษฝุ่นที่ได้ดำเนินมามากกว่าหนึ่งเดือนในเชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดภาคเหนือ ในด้านหนึ่งอาจสะท้อนปัญหาความสามารถส่วนบุคคลของผู้ว่าฯ แต่ละคน บางส่วนอาจมีความสามารถอยู่มาก บางคนอาจมีอยู่บ้าง และบางคนก็อาจไม่มีอยู่เลย ขึ้นอยู่กับโชคชะตาของผู้คนในแต่ละแห่ง
.
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการปกครองในท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐราชการรวมศูนย์ของไทย หน่วยงานในระดับท้องถิ่นต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก การเติบโต การตกอับ ความก้าวหน้า ของแต่ละคนล้วนขึ้นอยู่กับรัฐบาลและรัฐมนตรีเป็นสำคัญ ความเห็น ความรู้สึก และแม้กระทั่งสวัสดิภาพของประชาชนในท้องถิ่นก็มีค่าเบาบางเสียยิ่งกว่าฝุ่นเสียอีก
.
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่จะไม่มีการประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะมันอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งหมายถึงรายได้ของรัฐโดยรวม ทำให้ไม่มีการประกาศเกิดขึ้นเพราะเกรงกระทบต่อภาพรวมที่รัฐบาลรับผิดชอบ แม้ว่าปริมาณฝุ่นจะอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อชีวิตของคนในพื้นที่ก็ตาม
.
ต่อให้มีคนตายเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งของตนเองแต่อย่างใด ตราบเท่าที่รัฐบาล (โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้ คสช.) ยังพึงพอใจอยู่ก็เป็นการเพียงพอแล้ว
.
ปัญหาของการจัดการฝุ่นจึงไม่ใช่แค่ความไร้น้ำยาส่วนตัวของผู้ว่าฯ แต่ละคน แต่เป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง การเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ออกจากพื้นที่ที่มีปัญหาไปก็ไม่มีหลักประกันว่าคนที่จะมาทดแทนจะทำหน้าที่ตอบสนองต่อชีวิตของคนในพื้นที่แต่อย่างใด รวมทั้งอาจเป็นการผลักเอาผู้ว่าฯ ที่ไร้น้ำยาไปให้กับผู้คนในจังหวัดอื่นรับกรรมต่อไป
.
สิ่งที่ควรทำก็คือ ควรต้องร่วมกันขับไล่ตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐราชการรวมศูนย์ โดยการเปลี่ยนให้เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ เอง ซึ่งอาจช่วยให้ศีรษะของผู้คนในท้องถิ่นได้ถูกมองเห็นเพิ่มมากขึ้น
.
ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
30 มีนาคม 2562