31 มี.ค. 2019 เวลา 05:26 • การศึกษา
ข่าวร้ายแห่งสีพันดอน พบโลมาอิรวดี โลมาน้ำจืดหายากตายจากการระเบิดวังปลา!!!
จากขนาดตัวเเล้ว คาดว่าน่าจะเป็นลูก
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2562 พบข่าวร้ายจากสีพันดอน ทางตอนใต้ของประเทศลาว มีรายงานจากชาวบ้านคนหนึ่งได้โพสต์ลงเฟซบุ๊คเกี่ยวกับการตายของโลมาอิรวดี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปาข่า เป็นปลาหายากชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 300 ตัวในแม่น้ำโขง เนื่องมาจากการชาวบ้านระเบิดวังปลา ซึ่งเป็นการประมงแบบล้างผลาญและไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง เรามาทำความรู้จักกับโลมาอิรวดีกันครับ....
โลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตร หรือ ปาข่า ที่ชาวลาวเรียกกัน พบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า เป็นโลมาขนาดกลางความยาวลำตัวประมาณ 175 เซนติเมตร พบได้ตามปากแม่น้ำ น้ำจืด น้ำกร่อย ทั่วโลกพบเพียงไม่กี่แห่ง ในประเทศไทยเคยพบที่แม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำบางประกง ทะเลสาบสงขลา แม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำโขง เป็นต้น ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
ที่ผ่านมามีรายงานการพบปาข่าอยู่เรื่อยๆ ตามรายงานของ WWF ประเทศลาว ซึ่งให้ความสำคัญกับสัตว์ชนิดนี้อย่างมาก โดยรายงานได้กล่าวว่า กรณีปาข่าน้อยตายว่า ปาข่า แม่น้ำโขง ในประเทศลาวยังเหลืออยู่ไม่กี่ตัว(ข้อมูลบางแห่งว่าเหลืออยู่ 3 ตัว บางสำนักข่าวว่ามี 5 ตัว) ในเขตคุ้มครองสงวนพันธุ์ปาข่า เมืองโขง แขวงจำปาสัก ด้วยเหตุปัจจัย การหาปลาแบบทำลายล้าง การล่วงล้ำเขตที่อาศัยของปาข่า ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอด และขยายพันธุ์ของปาข่าที่เหลืออยู่
ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายของประเทศลาวยังไม่มีความเข้มงวดมากนัก ทำให้โอกาสที่ปาข่าจะฟื้นตัวอาจจะน้อยลงกว่าพื้นที่อื่น
ส่วนประเทศกัมพูชา เป็นประเทศหนึ่งที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน และมีรายงานการพบโลมาอิรดีเช่นกัน ชะตากรรมของโลมาที่นี่ไม่ต่างจากประเทศลาวเท่าไหร่นัก เนื่องจากพื้นที่อาศัยของมันลดลงอยากมาก มีรายงานสถิติโลมาอิรวดีที่เคยสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2540 ว่ามีประมาณ 200 ตัว แต่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือประมาณ 80 ตัวในปี 2558 สาเหตุหลักเกิดจากการทำประมงและถิ่นที่อยู่อาศัยลดลง แต่โชคยังดีที่เจ้าหน้าที่รัฐของประเทศกัมพูชาสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โลมาอิรวดีเพิ่มขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายฝ่าย โดยทีมลาดตระเวนในแม่น้ำโขงซึ่งจะกำจัดอวนลอยออกจากลำน้ำขณะที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวแม่น้ำโขงร่วมมือในการแจ้งเจ้าหน้าที่ให้นำอวนลอยผิดกฎหมายออกจากพื้นที่ด้วย
ขนาดตัวเมื่อเทียบกับมนุษย์
ในประเทศไทย มีรายงานการพบไม่บ่อยนัก และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ทำให้โลมาอิรวดีถือเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งของประเทศไทย แม้จะมีถิ่นอาศัยอยู่ได้ในหลายประเทศก็ตาม
ปัญหาที่ผ่านมา นับตั้งแต่การระเบิดจากสงครามเวียดนามและการประมงเกินขนาดทำให้โลมาลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 2,000 ตัวจนเหลือหลักร้อยตัว โดยระเบิดดังกล่าวไม่เพียงส่งผลโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลทางอ้อมต่อโลมา เนื่องจากโลมาเป็นสัตว์ที่มีระบบการรับฟังที่อ่อนไหวอย่างมาก รวมถึงระบบโซนาร์ที่ซับซ้อน ซึ่งใช้สำหรับหาอาการ นำทาง และสื่อสาร อาการกระทบกระเทือนจากเสียงอาจส่งผลให้โลมาไม่สามารถกินอาหาร ผสมพันธุ์ หรือให้นมแก่ลูกๆ ได้
ป้ายการให้ความรู้ของประเทศลาว
และปัญหาที่พบในปัจจุบันที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ ปัญหามลภาวะทางเสียงก็ยังไม่น้อยลง เนื่องจากมีเรือที่พานักท่องเที่ยวจำนวนค่อนข้างมาก ในบริเวณที่โลมาเหล่านั้นหาอาหาร การใช้อวนลากเพื่อการพาณิชย์ ทำให้ประชากรปลาไม่เพียงพอสำหรับที่จะเป็นอาหารของโลมา และปัญหาการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำในหลายประเทศบริเวณแม่น้ำโขง โดยเขื่อนดังกล่าวจะตัดขาดเส้นทางอพยพของปลาที่อาจจะใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลต่อความหลากหลายของปลาบริเวณลุ่มน้ำโขงและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมา
จะเห็นได้ว่า อนาคตของปาข่า นั้นยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก หากยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหลายประเทศ เราควรมองถึงการอนุรักษ์ชนิดมากกว่าการคุ้มครองกฎหมายแต่ละประเทศ เพราะกฎหมายแต่ละประเทศคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน ปัญหาที่ใหญ่มากๆ ของแม่น้ำโขงคือมีเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ผุดขึ้นอย่างเมื่อเพื่อใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้บางฤดูกาลน้ำในแม่น้ำบางพื้นที่แห้งขอดอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากกับปัญหาปากท้อง และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ใช้ชีวิตร่วมกับแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน ในแต่ละปีปัญหานี้เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่ออายุเรามากขึ้น หากแม่น้ำโขงแห้งลงจนไม่อาจแก้ไขได้ เราอาจจะต้องสูญเสียวิถีชีวิตที่รุ่นปู่ย่าได้สืบถอดกันมาหลายชั่วอายุคน เหลือเพียงรูปถ่ายให้เราได้ชมไม่ต่างจากโลมาอิรวดีเป็นแน่....
Cr. เป็นเรื่อง เป็นลาว
มูลนิธิสืบฯ
Thai PBS
โฆษณา