10 เม.ย. 2019 เวลา 01:09 • ธุรกิจ
ประวัติ Google ตอนที่ 6 : The Google Economy
1
ในราว ๆ ปี 2002 ในที่สุด Google ก็ได้เริ่มพิสูจน์ตัวเองในฐานะธุรกิจที่สามารถทำเงินได้จริง ๆ จัง ๆ เสียที เหล่านักลงทุนเริ่มได้มองเห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของ Google ที่กำลังจะมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อโลกอินเทอร์เน็ต
ประวัติ Google ตอนที่ 6 : The Google Economy
โปรแกรมค้นหาของ Google ถูกนำไปติดตั้งเป็นโปรแกรมค้นหาหลักของเว๊บไซต์ชื่อดังมากมาย ซึ่งหนึ่งในเว๊บไซต์ที่มีอิทธิพลสูงต่อชาวอเมริกันในขณะนั้น ก็คือ AOL หรือ American Online ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานกว่า 34 ล้านคน
ซึ่งความใหญ่โตของ AOL นี่เองที่มันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของก้าวใหม่ของ Google มันได้ช่วยให้การเข้าถึง Google นั้นขยายตัวอย่างมหาศาลมากกว่า partner รายอื่นๆ ก่อนหน้าที่ Google เคยสร้างพันธมิตรไว้
และความคิดในการนำ Google เข้าไปเป็นโปรแกรมค้นหาหลักของ AOL สืบเนื่องมาจากตัว สตีฟ เคส ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง AOL เองที่ประทับใจในการใช้งาน Google เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่ บริน และ เพจ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและได้ผลที่น่าเชื่อถือนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ไปเตะตาเข้ากับผู้ร่วมก่อตั้ง AOL อย่าง สตีฟ เคส
AOL ที่เป็นเว๊บไซต์ยักษ์ใหญ่ในขณะนั้น
ต้องเรียกได้ว่าเป็น Deal ที่ Win-Win ทั้งคู่ทั้งฝั่ง AOL เองที่ได้โปรแกรมค้นหาระดับคุณภาพมาเป็นโปรแกรมค้นหาหลักในเว๊บไซต์ของตัวเอง ส่วน Google นั้นแน่นอนว่าจะทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้อีกในปริมาณมหาศาล
ซึ่งทำให้ Google สามารถที่จะทำโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาบนเว๊บไซต์ AOL มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากการทำโฆษณา
แม้สองผู้ก่อตั้งอย่างบริน และ เพจ ต้องการจะให้ Google เติบโตอย่างรวดเร็ว และพร้อมจะจ่ายเงินเต็มที่เพื่อให้ได้ร่วมธุรกิจกับ AOL ก็ตาม แต่ เอริก ชมิดต์ นั้น ค่อนข้างเป็นคนที่รอบคอบกว่า เพราะตอนนั้นสถานการณ์ทางด้านการเงินของ Google มีเงินสดอยู่เพียงแค่ 9 ล้านเหรียญในบัญชีเท่านั้น การทุ่มเงินจำนวนมากอาจจะทำให้ Google เดือดร้อนในภายหลังได้ แต่ สุดท้าย บริน และ เพจก็พร้อมที่จะเสี่ยง และผลก็คือสองผู้ก่อตั้งคิดถูกอย่างยิ่งกับ Deal ของ AOL ครั้งนี้
ซึ่งไม่เพียงแค่ AOL เท่านั้น Google ยังเดินหน้าทำสัญญาให้บริการค้นข้อมูลแก่ EarthLink รวมถึง อีก Deal ที่สำคัญกับ ask jeeves ที่เป็นโปรแกรมค้นหาคู่แข่ง ในการจัดหาโฆษณาที่เป็นข้อความให้ รวมถึง Ask Jeeves ยังคงเสนอผลการค้นหาของตนบนฐานของเทคโนโลยีที่ตนเป็นเจ้าของ ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนกับคู่แข่งที่สำคัญนี่เอง มันคือสัญญาณบอกว่า Google กำลังโตขึ้นอีกระดับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
google ดึงคู่แข่งอย่าง Ask Jeeves มาเป็นพันธมิตร
ถึงตอนนี้ โปรแกรมค้นหาของ Google นั้นทำตลาดแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงในทุก ๆ วัน มันมีคำหรือ วลีนับล้านคำ ที่ผู้คนกำลังค้นหา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าและบริการแทบจะทั้งสิ้น ตัวอย่างชื่อสินค้าประจำวันเช่น “Pet food” อาจจะมีราคาประมํูลที่ถูก กว่า คำอย่าง “Investment Advice” ซึ่งเป็นกลไกของตลาดในเรื่องราคาที่ผู้ลงโฆษณายินดีที่จะจ่ายเพื่อให้โฆษณาของตนได้ปรากฏเมื่อมีคนค้นหาคำ ๆ นั้นบน Google
มันทำให้ Google ได้เงินทุกครั้งที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์คลิกบนโฆษณา ที่มันแสดงขึ้นบนผลการค้นหา และมันถูกทำงานแบบอัตโนมัติ โดยระบบการประมูลออนไลน์ ซึ่งมันทำให้ Google มั่นใจได้ว่า จะได้รับราคาที่ดีที่สุดอยู่เสมอ และสร้างกระแสเงินสดปริมาณมหาศาลให้ Google มากขึ้นเรื่อย ๆ
มันได้ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ทั้งระบบทำงานแบบอัตโนมัติ หรือ การเกิดขึ้นของเหล่านักการตลาดมืออาชีพ ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการทำการตลาดผ่าน Google หรือ เหล่านักสร้าง Content ให้ติดอันดับการค้นหาใน Google ในผลการค้นหาแรก ๆ
บริษัททั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดเล็กนั้น ได้เข้ามาร่วมการประมูลคำหลัก ๆ เหล่านี้ และทำการส่งเงินมาให้ Google ทุก ๆ วันกว่าหลายล้านเหรียญ การที่สามารถเข้าไปใช้งานด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาสื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี หรือ วิทยุ ทำให้ เหล่าธุรกิจขนาดย่อมสามารถที่จะร่วมในการแข่งประมูลคำเหล่านี้ได้
ระบบประมูลคำค้นหา เป็นเครื่องจักรผลิตเงินให้ Google ตลอด 24 ชม.
แต่อย่างไรก็ดีนั้น การประมูลราคาที่สูงสุด ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้โฆษณาขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดของผลการค้นหา Google นั้นจะพิจารณา เรื่องความน่าสนใจของโฆษณาเป็นอีกปัจจัยด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ราคาประมูลที่สูงที่สุดเท่านั้น มันทำให้เหล่านักโฆษณาต้องมีการปรับปรุงโฆษณาให้ดึงดูดผู้ใช้งานให้มาคลิกให้มากที่สุด
การได้ทั้ง Yahoo , AOL , EarthLink และ Ask Jeeves มาเป็นหุ้นส่วนนั้น ทำให้อิทธิพลของ Google ต่อโลกอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งผลจากการกลายเป็นโปรแกรมหลักในเครือข่ายการค้นหาเหล่านี้ สุดท้ายก็ทำให้ผู้คนรู้จัก Google มากยิ่งขึ้น กลายเป็นเครือข่ายผลิตเงินให้ Google ในที่สุด
และมันส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ Google เติบโตขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ ในปี 2002 นั้น Google สร้างรายได้ 440 ล้านเหรียญ และสามารถทำกำไรได้ถึงกว่า 100 ล้านเหรียญ ซึ่งกำไรทั้งหมดมันมาจากการที่ผู้ใช้คลิกข้อความโฆษณาที่วางอยู่ทางขวาในหน้ารายงานผลการค้นหาบน Google.com
มันทำให้ บริน เพจ และ เอริก ชมิดต์ สามารถจะผลักดันให้ Google เติบโตได้อย่างเต็มที่ พวกเขาแทบจะปิดปากเงียบสนิท เกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินเพื่อไม่ให้คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Microsoft และ Yahoo รู้ว่าการค้นข้อมูลออนไลน์และธุรกิจการโฆษณาของตนนั้นทำกำไรได้มหาศาลขนาดไหน ซึ่งกว่าที่เหล่ายักษ์ใหญ่เหล่านี้จะรู้เท่าทัน Google ก็ได้พัฒนาบริการของตนเองจน ยากที่คู่แข่งจะตามทันเสียแล้ว
MSN ของยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ยังไม่รู้ว่าจะถูกแย่งชิงเค้กจากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์โดย Google
การเป็นผู้ริเริ่มทำเป็นคนแรก และการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทอเมริกาของ Google มันได้ย้ายเงินโฆษณาที่เดิมต้องจ่ายให้สื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร มายังอินเทอร์เน็ตแทน และตอนนี้ บริษัทซึ่งตั้งเป้าหมายแรกเพียงแค่ต้องการเป็นผู้สนองการค้นข้อมูลเพียงอย่างเดียวอย่าง Google ได้ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต ผ่านการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตได้สำเร็จแล้ว
แล้วเหล่ายักษ์ใหญ่ จะรู้ตัวเมื่อไหร่ ว่าพวกเขากำลังถูกแย่งชิงเค้กเม็ดเงินโฆษณาทางออนไลน์จำนวนมหาศาลที่ Google ดึงมาได้สำเร็จ และจะตอบโต้กับ การเติบโตที่รวดเร็วของ Google ได้อย่างไร Google จะทะยานไปทางไหนต่อ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม
อ่านตอนที่ 7 : Global Goooogling
Credit แหล่งข้อมูลบทความ
หนังสือ The Google Story by David A.Vise , Mark Malseed
หนังสือ เรื่องราวของกูเกิล
ผู้เขียน Dvid A.Vise , Mark Malseed
ผู้แปล วิภาดา กิตติโกวิท
หนังสือ คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง Google
ผู้เขียน Eric Schmidt (เอริก ชมิดท์),Jonatha Rosenberg (โจนาธาน โรเซนเบิร์ก),Alan Eagle (อแลน อีเกิล)
ผู้แปล ณงลักษณ์ จารุวัฒน์,นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี,อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา