10 เม.ย. 2019 เวลา 10:14 • ศิลปะ & ออกแบบ
ฮวงจุ้ยกับงานสถาปัตยกรรม ยกที่ 1
ฮวงจุ้ย หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า เฟิงสุ่ย หรือ เฟิ่งฉุย แล้วแต่สำเนียงออกเสียง คือการดำรงค์อยู่โดยอาศัยหลักของธรรมชาติเป็นสำคัญ เป็นศาสตร์ของชาวจีน ที่สั่งสมมามากว่า 3,000 ปี มีประโยชน์ในด้านการดำเนินชีวิตของชาวจีน เรื่องการจัดการต่างๆเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยให้อยู่สบายกายสบายใจ ไม่เจ็บป่วยง่าย ถ้าตามหลักของพระพุทธศาสนาจะเรียกว่า “ปฏิรูปเทสวาโส จ” คือการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เพื่อให้สุขกาย สบายใจ เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
ฮวง-จุ้ย คือคำว่า ลมและน้ำ คือการถ่ายเท “ชี่” รับชี่ที่ดีเข้ามา ปิดกั้นและถ่ายเทชี่ที่ไม่ดี ชี่มีความหมายรวมๆ คือ ลม คือพลังงานไหลเวียน พลังชีวิต พลังจักรวาล บ้างก็ว่าเป็น ร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ แล้วแต่ว่าอยู่บริบทไหน แต่ในที่นี้เพื่อให้เข้ากับสถาปัตยกรรม จะเน้นความหมายแค่ลมและการถ่ายเทอากาศให้ไหลเวียน หลักการคล้ายๆกัน ฮวงจุ้ยเน้นปิดโน่นกั้นนี่ สร้างมายาคติให้เจ้าของบ้านเห็นข้อดีข้อเสีย สร้างทัศนะของการเจริญรุ่งเรืองเชิงสัญลักษณ์ ผ่านทำเลที่ตั้งที่มีอยู่ ถ้าทำเลไม่ดีก็สร้างมายาให้มีขึ้นได้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่สถาปัตยกรรมจะเน้นที่ภูมิศาสตร์เป็นหลักอ้างอิงทิศทางลม ดวงอาทิตย์ (ละเอียดถึงพระอาทิตย์จะอ้อมเหนืออ้อมใต้ในช่วงเวลาใดทิศทางลมก็จะเปลี่ยน) เพราะมีความสำคัญในการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติ เพียงแค่เราเปิดช่องแสง ช่องระบายลมให้สัมพันธ์กัน แต่ฮวงจุ้ยมาเหนือกว่านั้น อ้างอิงไปถึงเลขมงคล อักษรมงคลด้วย อย่างความสูงของประตู มาตราฐานสถาปัตย์เริ่มที่ 2.00 เมตร มักจะไม่เกิน 2.40 เมตร ตามหน้าไม้ แต่เลขมงคลโดดไปที่ 2.70 เมตร ตำราว่าถ้าตัวเลขนั้นนี้แล้วจะอยู่ดีมีสุขบุตรธิดาอุปถัมภ์ ก็จะถูกใจอากงอาม่ายิ่งนัก ซึ่งเราก็จะขัดไม่ได้ ระยะต่างๆที่สมควรเป็นก็วิบัติ งานออกแบบกับโครงสร้างไม่สัมพันธ์กัน ก็แพง พอแพงก็จำกัดงบ ยุ่งยากไปหมด
ทีนี้เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมมากน้อยแค่ไหน ตอบเลยว่าเกี่ยว ยิ่งถ้าเจ้าของบ้านเชื่อเรื่องโชคลางจะยิ่งโครตเกี่ยวเลย เพราะมันจะพัวพันกันตั้งแต่เริ่มคุยเริ่มออกแบบยันสร้างจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะว่าไปศาสตร์ไม่ห่างไกลกันเท่าไหร่ ล้วนมีจุดประสงค์ให้คนอยู่อาศัยอย่างมีความสุขไร้กังวล ซึ่งภูมิปัญญาสถาปัตย์ตอบทุกโจทย์ได้อยู่แล้ว แต่มันไม่เพียงพอ เพราะการมีซินแสในมือมันได้ทั้งความอุ่นใจ หน้าตา หรือแม้แต่ชี้นำการใช้ชีวิต อย่างนี้แล้วความลำบากก็เกิดกับการทำงานด้านสถาปัตยกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซินแสเก่งและดีก็อำนวยความสะดวกในการทำงาน ซินแสไม่เก่งก็จะขัดแย้งกับสถาปนิก ซินแสเหม็นขี้หน้างานก็จะยากลำเค็ญ ล้มงานเลยก็มี
เคยมีประสบการณ์ไม่ประทับใจครั้งหนึ่ง ทำบ้าน 7-800 ตารางเมตร เจ้าของเชื่อซินแสมาก ซินแสท่านแรกมาจากจีนหากินในไทยมานานคุยข่มทุกอย่างให้เราต้องเชื่อต้องยอมรับ คุยไปคุยมาอ้างคดีความฟ้องร้องหมิ่นประมาทสถาปนิกกับวิศวกร สุดท้ายจบเพราะเถียงกันไปมาแล้วเรียกค่าเสียเวลาแพง คนที่สองเป็นพระอาจารย์จากชลบุรี พระอาจารย์พยายามเข้าใจการทำงานร่วมกันแนะนำแบบกลางๆ ไปตามทางที่เราสามารถทำงานได้ ก็จบแบบได้ระดับนึง คนสุดท้ายนี่พีคพอคอมเมนท์ไปว่าคำแนะนำจะมีปัญหาอะไร ก็เอาวันเดือนปีเกิดไปดูว่าถูกโฉลกกับเจ้าของบ้านมั้ย เจ้าของขอชะลอโครงการแบบงงๆ ไม่มีกำหนดเพราะฤกษ์ทำต่อไม่มี ซึ่งตอนนี้ก็ยังงงอยู่เพราะไม่ติดต่อมาอีกเลย
สุดท้ายก็ต้องทำความเข้าใจกับฮวงจุ้ยระดับที่เอาไว้โต้แย้งได้ เพราะถึงจะรู้ทัน ก็ขึ้นอยู่ที่ใครนำไปใช้ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่ดิ้นได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันถูกเอามาใช้แก้ปัญหาเสียส่วนใหญ่ (ไม่เป็นปัญหาก็ยังมีเรื่องให้แก้ปัญหาได้) ต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ให้มากๆด้วยนะ เพราะถึงจะซินแสจากจีน หลักการก็เอาไว้ใช้กับจีน จะใช้กับประเทศไทยได้ไม่กี่เรื่อง เก็บเป็นภูมิปัญญาก็ดี อาจจะแฝงความลี้ลับก็เป็นได้ แต่ก็อย่าละทิ้งภูมิปัญญาสถาปัตย์ก็แล้วกัน จบนะ.
โฆษณา